สร้างนวัตกรรมใหม่แทนสุวิทย์ วัดหนู โดย จำนง จิตรนิรัตน์
(ว่าด้วยความ ทรงจำและการระลึกถึง)
จำนง จิตรนิรัตน์ - 27 เมษายน 2550 อุบลราชธานี
ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง การสร้างความมั่นคงของชีวิตตัวเอง คือ ภารกิจหลัก มีน้อยคนที่ทุ่มเทช่วงเวลาของชีวิตเพื่อคนอื่น เพื่อเป็นสาธารณะ การทุ่มเทนี้คือ อุดมการณ์เพื่อสังคม และยังมีน้อยคนลงไปอีกที่การทุ่มเทเพื่อสังคมนั้นมีความยินยอมถึงขั้นแลก ชีวิต คิดค้นสิ่งใหม่ สร้างนวัตกรรมให่ทางสังคม ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อมนุษยชาติ เพื่อตรวจสอบชีวิตตัวเราเอง ศึกษาได้จากชีวิตของ สุวิทย์ วัดหนู
การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ในสังคมไทยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงคือ ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 - พฤษภาคม 2535 และกันยายน 2549
ทุกขบวนการเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งสิ้น มีคนจำนวนมากเรือนแสนที่เข้าร่วมอยู่ในขบวนการ เฉพาะ 14 ตุลาคม 2516 เฉพาะ พฤษภาคม 2535 หรือเฉพาะกันยายน 2549
แต่สุวิทย์ วัดหนู อยู่ร่วมทุกขบวนการในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ในทุกช่วงสถานการณ์สำคัญ กับเพื่อนพ้องน้องพี่อีกจำนวนนับได้ที่เป็นแบบเดียวกัน ความต่อเนื่องทางอุดมการณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไร?
คำตอบ ก็คือเนื่องจากปี 2516-2550 ประเทสไทยเรายังถูกครอบงำจากเผด็จการ จากเผด็จการทหารถึงเผด็จการทุน นักต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ จากการต่อสู้ในเมืองในวิถีสันติวิธี พวกเขาเหล่านี้ได้นำขยายสู่การรับรู้ของประชาชนยากจน เราจึงพบว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมทั่วประเทศ จากชาวนาชาวไร่
สุวิทย์ วัดหนู นำโอกาสการวิเคราะห์รับรู้ข้อมูลลงสู่ชาวบ้านมาบปะชันที่ถูกไล่ที่เพื่อ สร้างอ่างเก็บน้ำ จ.ชลบุรี บ้านเกิด ขณะเพื่อนพ้องกระจัดกระจายสู่พื้นที่อื่นๆ กลุ่มหนึ่งขึ้นไปทางภาคเหนือร่วมกับชาวไร่ แก้ปัญหาราคาจากพ่อค้าคนกลาง บางส่วนไปทำงานร่วมกับชาวนาภาคกลาง
บางส่วนลงใต้ เช่น โกมล คีมทอง และหลัง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งนิสิตนักศึกษา ทั้งผู้นำชาวนาชาวไร่ต่างถูกสังหาร ตามล่า พวกเขาที่เหลือรอดต่างหลบภัยเข้าเขตป่าเขา หยุดการต่อสู้ด้วยสันติวิธี จับปืนประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
สุวิทย์ วัดหนูลงใต้...ชุมพร - สุราษฎร์ธานี....
นอกจาก งานด้านการทหารเขาได้ทำหน้าที่สร้างงานมวลชนในพื้นที่ใหม่หลายแห่ง เป็นความสัมพันธ์กับมวลชนที่ลึกกว่า เป็นงานในหน้าที่แม้ภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2523 เป็นต้นมา นักต่อสู้ส่วนใหญ่กลับคืนภูมิลำเนาเดิม แต่สุวิทย์ ยังอยู่กับมวลชนที่นั่นอีกนาน จนถึงปี 2528
ชาวบ้านเหล่านั้นปลูกกาแฟ ข้าว ยางพารา ถูกรังเกียจ หยามเหยียด เมื่อสงครามปฏิบัติพ่ายแพ้ และถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ และนั่นคือ งานมวลชนรอบใหม่ของสุวิทย์ในพื้นที่เดิม เราพบว่ากลุ่มชาวบ้านเหล่านั้นค่อยๆ ก่อรูปเป็นขบวนการชาวบ้าน เพื่อต่อสู้เรียกร้องตามสถานะความไม่เป็นธรรมของเขาเองในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
ผมเคยไปเยี่ยม "เขตงาน" เก่าของ สุวิทย์ วัดหนู หลายครั้ง ในหลายพื้นที่ หลายอำเภอ พบคนมากหน้าหลายตา หลายระดับที่เคยคบหาเป็น "มวลชน" ซึ่งกันและกัน เห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่ผูกพันเสมือนลูกหลานเพื่อนแท้ ส่งข่าว ช่วยเหลือ ฝากสะตอ มังคุด ทุเรียน ฝากลูกเรียนต่อ หรือช่วยเหลือเงินทองยามฉุกเฉิน เด็กหนุ่มสาวบางคนที่จดจำบทบาททหารป่าที่ปกป้องครอบครัวของเขาให้พ้นกับ อำนาจรัฐ วันนี้เติบโตและแต่งงาน เขาเข้ามากราบสุวิทย์ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง
เมื่อฉุกเฉินจากเหตุการณ์บ้านเมือง เช่น หลังการปราบที่ราชดำเนินคืน 17-18 พ.ค.ปี 2535 เรากลุ่มหนึ่งต้องหาที่หลบซ่อนชั่วคราว สุวิทย์คิดอยู่ทุกลมหายใจว่าต้องไปถึงชุมพรแล้วเขาจะรอด นี้คือความมั่นใจในมวลชนในพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย (ในงานศพสุวิทย์ ที่บางเสร่ คนเหล่านั้นมากันครบครันพร้อมหน้า) หลายคนในนั้นเป็นสหายร่วมรบ เขาเคยพาผมไปทัวร์ย้อนรอย... "โรงพักนี้เราใช้เวลานิดหน่อยก็ยึดได้" ... "เราข้ามป่าตรงนี้" .. ปีนเขาตรงนั้น... ตีฝ่าตรงนี้ เราเสียสละไป 3 แลกกับ 11 .. หลายเหตุการณ์ รวมทั้งเกี่ยวกับขบวนรถไฟขบวนหนึ่ง ...ที่มีทั้งงานการทหารและงานโฆษณา
กาลต่อมา สุวิทย์ลาจากพื้นที่ขณะดำรงความเป็นเพื่อนพี่น้องไว้อย่างแน่นแฟ้น ลาจากมาเพื่อเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบใหม่และเริ่มต้นการต่อสู้ครั้งใหม่ในเมือง ยุคบุฟเฟ่คาบิเนต -รสช. ในบทบาทของนักพัฒนาชุมชนในสลัม ทำงานร่วมกับคนจนเมือง จากนักรบนักการทหาร (ป่า) มาเป็น organizer อยู่ตามชุมชนกองขยะ ผู้ติดเชื้อ ผู้เสพยา ในป่าคอนกรีต เขามีเป้าหมายอะไร?
เมื่อเราติดตามเส้นทางอุดมการณ์ของสุวิทย์พบว่า ยุทธศาสตร์เป้าหมายของเขาต่องานครั้งใหม่ ในเมือง คือ "การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" สู้ทุกรูปแบบ ทุกสถานการณ์ตามเงื่อนไขความเป็นจริง
เขาไม่เห็นด้วยกับการฟื้นพรรคเขียวพรรคแดงขึ้นมาใหม่ เขาโต้เถียงกับ "ลุง" หลายท่าน ที่คิดรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์ และต้องการจัดตั้งเขาอีกรอบ เขาพูดเสมอว่า "ลุง" เหล่านั้นมีคุณูปการสูงส่ง การเคารพความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและลุง ยังคงอยู่แต่ไม่ใช่ฐานะจัดตั้ง
วันนี้ลูกหลานต้องคิดการใหม่ เขาจึงมุ่งหน้าทำงานจัดระบบชุมชน รวมกลุ่ม ทำงานความคิด ต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน เชื่อมโยงให้คนจนได้เห็นหมู่พวกช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขณะเดียวกันกับรวมตัวกันตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ หน่วยงานดูแลที่ดิน หน่วยงานที่ดูแลระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น เพื่อให้ชาวบ้านที่เขาทำงานได้ใช้สิทธิ์ฯ ในที่ดินหรือได้รับสวัสดิการจากรัฐเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม เป็นกระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ขบวนพัฒนามียุทธศาสตร์สำคัญ คือ ให้การศึกษาถึงสิทธิประชาชน และอำนาจรัฐไปด้วย
จากปี 2528 กระทั่งถึงปี 2534 ถึง พ.ศ.2535 (รสช.) และอีกครั้งในช่วงปี 2541-2549 (ยุคทักษิณ) กลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มประชาชนจำนวนมาก แม้กระทั่งคนชั้นกลางในเมืองก็ได้ร่วมกันล้มเผด็จการทหาร (ปี 2535) ทุน (ปี 2549-2550) อีกครั้ง และสุวิทย์ หมู่มิตรในกระบวนการพัฒนาพร้อมองค์กรชุมชน ที่เป็นผลิตผลการทำงานจัดระบบชุมชน ก็ได้เข้าร่วมล้มเผด็จการอีกครั้ง นับเป็นสถานการณ์ทางการเมืองสำคัญครั้งที่ 5 (ทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าเขา)
ในปี 2535 สุวิทย์ เป็นคนหนึ่งที่ประเมินว่าไม่เกิดการนองเลือด เขาจึงไปดูงานต่างประเทศ กลับมาเกิดเหตุการณ์แล้วและเขาได้เข้าร่วมทันทีในพื้นที่แนวหน้า
ใช่แล้ว "พื้นที่แนวหน้าคือพื้นที่ที่สุวิทย์ ยืนอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเขา ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ"
พื้นที่แนวหน้าสำหรับสุวิทย์ ยังไม่ได้ปิดฉากลงตามเผด็จการทหาร รสช. ช่วงปี 2547-2548 เมื่อขบวนการเมืองภาคประชาชนประเมินถึงอำนาจทุนในระบบรัฐสภา การคิดค้นต่อสู้ในรูปแบบใหม่ คือ การก่อตั้งพรรคการเมืองประชาชนสู้ ก่อนจะเข้าร่วมล้มเผด็จการทุน ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2549-2550 และเขามีข้อสรุปว่า
เผด็จการมาแล้วมาอีก เราล้มไปแล้วมาใหม่ไม่จบสิ้น องค์กรประชาชนเกิดแล้งก็ล้มไปตามประเด็นปัญหา ต้องทำงานใหม่จัดระบบชุมชนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
ขณะที่ในทางการเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดทรัพยากร กุมระบบทุกอย่าง ไม่ทหารก็ทุนหรือสถานบันอื่นใช้ประโยชน์ครอบงำอยู่ตลอดเวลา
พลังประชาชนจะยกระดับไปมากกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นได้หรือไม่ ได้อย่างไร? เป็นอะไร?
เขาจึงมีการนัดหมายกับเพื่อนพ้องในหลายแห่ง รวมทั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขยายความคิดนี้ เขามีร่างของพรรคเพื่อนำเสนอพูดคุย เขาขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อใช้เป็นค่าเดินทาง ค่าก่อตั้ง "พรรค" ที่เขาคิด ที่อุบลราชธานีมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า 5-10 วันก่อนเสียชีวิต ถ้าได้มีการพูดคุยปรึกษากันจริง เราอาจได้ถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้
พรรคมีงานพื้นที่ทำงานจัดตั้งกลุ่ม ทำงานความคิดชาวบ้าน ประกาศเลยว่าไม่ใช่ NGOs แต่เป็นพรรค
พรรคเสนอโครงสร้าง สัดส่วน ส.ส./ส.ว. ใหม่ตามกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย จีน มลายู ชนเผ่าที่สูง ทะเล กุย เป็นต้น เวียดนามก็มีแบบนี้ทำไมไทยเป็นไม่ได้
พรรคสนับสนุนให้แต่ละชุมชนหมู่บ้านดูแลจัดสรรทรัพยากรตามแผน กติกาของชุมชน ซึ่งถือเสมอเหมือนรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัย มีปัจจัย 4 มีที่ทำกินพอควร ไม่มีใครมีที่ดินมาเกินไป จะมีการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ทั้งในเมืองและชนบท
ยกย่อง เชิดชู วัฒนธรรมของทุกชนเผ่า ให้ดำรงอยู่ได้ ปราศจากการแทรกแซงรุกล้ำทางวัฒนธรรม ประกาศเขตชุมชน เขตที่อยู่อาศัยถาวร เขตที่ทำกิน ร่วมกับชุมชน เขตเหล่านี้ถือว่าได้รับการคุ้มครองพิเศษ เพราะถือเป็นรากฐานของสังคมไทย
พรรคจพยกเลิก อพท. แต่สนับสนุนให้มีการจัดการท่องเที่ยวของท้องถิ่น โดยองค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการโดยมี อบต. อำเภอ จังหวัด เป็นผู้สนับสนุนและได้รับงบประมาณจากรัฐโดยตรงทุกปี
สนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่มุ่งเน้นหลักสูตร คุณธรรม-สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-ศิลปะ โดยใช้งบประมาณของรัฐเต็มที่และอยู่ในการดูแลของระบบชุมชนและให้มีอย่างน้อย จังหวัดละ 2 แห่ง
พรรคส่งคนลงสมัครตำแหน่งทางการเมือง และทำงานการเมืองต่อเนื่องในฐานะผู้ตรวจสอบรัฐ ให้การศึกษาประชาชน พรรคไม่ใช่ระบบหัวคะแนน แต่พรรคจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรประชาชนที่เห็นด้วยในนโยบาย
และพรรคไม่รีบร้อนเติบโต จะไม่กว้านซื้อ ส.ส.เก่าเน่าเหม็นที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ กินโกงชาติ ข้าราชการที่ทำตามนักการเมืองทุกชนิด มาเป็นสมาชิกพรรค (สมาชิกพรรค-คนที่จะลงสมัครมาจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์) เราจะค่อยๆ สะสมพลังประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ทำกิจกรรมพัฒนาสังคมในพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รวมผู้รักความเป็นธรรมทุกมิติ ทุกประเภทไว้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวันข้างหน้า หรือตรวจสอบอำนาจรัฐแบบกัดไม่ปล่อยในวันนี้ โดยความร่วมมือของมวลประชาชนกับพรรค ...เป็นต้น
แต่วันนี้ สุวิทย์ ได้จากไปเสียแล้ว
ผมเชื่อว่าจะมีคนทำงานการเมืองทางเลือก ในทิศทางแบบนี้แน่นอนในวันข้างหน้า
"คนคิด อาจไม่ได้ทำ แต่คนจะทำได้คิดต่อ" จากจุดของคนทำงานชุมชนเมือง พวกเราไม่เคยคิดเรื่องพรรคการเมืองกันมาก่อน พวกเราทำงานมาหลายสิบปี ขบวนประชาชนนี้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นหลายด้าน สุวิทย์ มาร่วมและคิดค้นเชื่อมโยง ยกขึ้นสู่รูปแบบที่เป็น "องค์รวม" ไม่ใช่เป็นประเด็น
เมือง ชนบท ผู้บริโภค เอดส์ หรือ เด็ก สตรี ไม่ใช่ NGOs ไม่ใช่ กป.อพช. และไม่ใช่พรรค ปชป. ทรท. ชท. ภายใต้กระบวนการทำงานร่วมคิดค้นท่ามกลางปฏิบัติ ทำพร้อมพูด
การยกระดับงานขึ้นสู่องค์รวม จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ของการเมืองภาคประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้
ใครที่คิดแบบอื่นก็ให้ว่ามา...แบบไหน?
ใครจะต่อยอดจากสุวิทย์ วัหนูก็ให้ลงมือ
สุวิทย์...คุณทำเต็มที่แล้วและทิ้งโจทย์ใหม่ -ใหญ่ไว้ให้นักอุดมการณ์เพื่อสังคมทำการบ้านต่อ
ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เรา-ท่านที่ยังอยู่ คงได้ตรวจสอบวิถีชีวิตตัวเองบ้างว่าวันนี้ จะสร้างนวัตกรรมใหม่ต่อสังคมอย่างไร?
ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น