วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

นักสู้เพื่อคนจนตลอดกาล

นักสู้เพื่อคนจนตลอดกาล
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

กลุ่ม เพื่อนสุราษฏร์

            วันที่ 12 มีนาคม 2550 สังคมไทยได้สูญเสียบุคลากรคนสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตย และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไปอีกคน บทบาทของเขาในฐานะนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของขบวนการภาคประชาชน หลายครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง หรือการชุมนุมเรียกร้องของคนจนเมือง หรือเครือข่ายของคนสลัม สุวิทย์ วัดหนู มักเป็นกลไกสำคัญของการเชื่อมร้อยประสานพลังเพื่อต่อรองกับรัฐ

            ตลอดระยะเวลากว่าค่อนชีวิต คุณสุวิทย์ทุ่มเทแรงกายแรงใจเข้าสู่การงานอันหลากหลาย โดยมีแกนหลักทางความคิด คือ ความเชื่อที่ว่า สังคมที่ดีงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการให้ความเป็นธรรมแก่กันอย่างเสมอหน้า แม้ว่าในแต่ละช่วงชีวิต วิธีการในการต่อสู้ ของเขาจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและเหตุปัจจัยรอบข้างมากน้อยเพียงใดก็ตาม ในช่วงวัยหนุ่ม เขาเป็นแกนนำนักศึกษาจากทิศบูรพาที่เหมารถเข้าร่วม เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มหาโหด ที่ชนชั้นปกครองไทยเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างป่าเถื่อน คุณสุวิทย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ย้ายเวทีการต่อสู้ ไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา หลังจากนั้น จังหวะของชีวิตนำพาเขาออกจากป่าเพื่อเผชิญการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยของคนชั้นล่างในเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนอย่างเข้มข้นจวบจนวินาทีสุดท้าย ของชีวิต

            คุณสุวิทย์เกิดวันที่ 20 ธันวาคม 2594 ที่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆริมทะเลภาคตะวันออก เป็นบุตรคนที่ 2 ของตระกูลวัดหนู จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน บิดาชื่อนายสรวง มารดาชื่อนางกิ่ง บิดามีอาชีพเป็นชาวไร่ มีไร่มันสำปะหลังของตนเองจำนวนหนึ่ง แต่การที่มีลูกหลายคน ทำให้มีฐานะยากลำบากพอสมควร และทำให้ชีวิตในวัยเด็กของคุณสุวิทย์ ต้องต่อสู้ดิ้นรนพอสมควร สภาพชีวิตดังกล่าว ทำให้เขาเป็นคนที่อดทนและมีรากเหง้าหลักยึดอยู่ที่วิถีชีวิตอันเรียบง่าย คุณสุวิทย์เริ่มเรียนประถมที่โรงเรียนบ้านบางเสร่จนจบชั้นประถมปีที่ 7 และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนชลราษฎรอำรุงหรือโรงเรียนชลชาย กระทั่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ใน พ.ศ.2514 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสนหรือ มหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน ในสาขาเอกฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และจบการศึกษาใน พ.ศ. 2518 ช่วงเวลา ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้นี่เองที่หล่อหลอมวัยหนุ่มของเขาให้มุ่งมั่นในแนว ทางการทำงานเพื่อส่วนรวม ในระยะปี 1 และปี 2 คุณสุวิทย์ยังเป็นคนที่มุ่งมั่นในการเรียน จนได้รับความยอมรับและได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสโมสรนิสิต ในปี 2516  ขณะที่ศึกษาอยู่ปีที่ 3 ในขณะนั้น ได้เกิดกระแสการต่อสู้เพื่อคัดค้านระบบกดขี่น้องใหม่ ซึ่งคุณสุวิทย์ได้เริ่มเข้าร่วมมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ก็คือ กระแสใหญ่ใน พ.ศ.2516 ก็คือการต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่กรณีทุ่งใหญ่ จนถึงกรณีชุมนุมคัดค้านการถอนชื่อนักศึกษารามคำแหง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2516 ซึ่งคุณสุวิทย์ได้เดินทางมาร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และต่อมาเมื่อเกิดกรณีเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 คุณสุวิทย์ก็เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวนักศึกษาประชาชนในเขตภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ และร่วมกับนักศึกษาอื่น เหมารถเข้ามาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

            หลังจากนั้น ก็ร่วมหาทุนจากประชาชนภาคตะวันออก สนับสนุนการทำงานของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ต่อมาคุณสุวิทย์ก็ได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มบางแสนเสรีขึ้น เพื่อเคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนในภาคตะวันออก ตามแนวทางเดียวกับที่คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งสหพันธ์นักศึกษาเสรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2517 คุณสุวิทย์เริ่มตื่นตัวและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาชน อย่างจัง โดยเริ่มจากการร่วมจัดตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและการเมือง ร่วมจัดตั้งศูนย์กลางนักเรียน นิสิตนักศึกษาภาคตะวันออก  และร่วมการต่อสู้กับประชาชนภาคตะวันออก ขับไล่ฐานทัพอเมริกาที่สัตหีบ จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ก็คือ การเข้าร่วมต่อสู้กับประชาชาวหมู่บ้านมาบประชัน อ.พัทยา จ.ชลบุรี ในการคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ปี 2518 เนื่องจากการทุ่มเททำงานเพื่อส่วนรวม ดังนั้น คุณสุวิทย์จึงจำเป็นต้องเรียนต่อปีที่ 5 อีก 1 ภาคการศึกษา ในระหว่างนั้นได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาการจัดตั้งพรรคสานทอง ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าของ มศว.บางแสน

            พรรคสานทองได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษา ให้เข้าบริหารองค์การนิสิตและได้เสียงข้างมากในสภานิสิต นอกจากนี้ยังได้เข้าควบคุมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในมหาวิทยาลัย และเข้าดูแลงานแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย ในระหว่างนี้คุณสุวิทย์ก็เข้าร่วมต่อสู้กับ ประชาชนชาวหมู่บ้านทุ่งโปง อ.นาเกลือ จ.ชลบุรี ในการคัดค้านการเข้ามายึดครองที่ดินหมู่บ้านของกองทัพเรือ และร่วมต่อสู้กับชาวบ้านที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ในเรื่องที่ดินทำกิน หลังจบการศึกษาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2518 ด้วยวุฒิปริญญาตรี เขาทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ในช่วงเวลาราว 1 ปี

            ในระหว่างนี้ ก้ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มอาชีวะเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรนักเรียนอาชีวะฝ่ายก้าวหน้า นอกจากนี้ก็ยังร่วมการเคลื่อนไหวกับฝ่ายประชาชนเรื่อยมา โดยเฉพาะประชาชนในภาคตะวันออก จนเมื่อเกิดเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาประชาชนและรัฐประหารฟื้นเผด็จการ ในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คุณสุวิทย์ก็เดินทางสู่เขตป่าเขา เพื่อจับปืนร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เขตงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายเชิด ด้วยความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ที่มีความดีงาม  และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนในสังคม เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบรรดานักศึกษาที่ได้เข้าร่วมในกองร้อยที่ 1 ของทหารปลดแอกเขตสุราษฎร์ธานี  ต่อมาราว พ.ศ.2522 เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปขยายเขตงานของพรรคที่ชุมพร โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายโอ และอยู่ที่ชุมพรจนถึงระยะเวลาสุดท้ายของสงครามกลางเมืองครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะผิดหวังกับการต่อสู้ที่สิ้นสุดลง แต่ประสบการณ์พิเศษครั้งนั้นยังอยู่ในความทรงจำของเขาตลอดมา และทำให้เขายังคงเลือกเส้นทางที่จะเป็นนักต่อสู้ เพื่อประชาชนต่อมา คณสุวิทย์ใช้เวลาต่อสู้ในแนวทางจับปืนสู้ด้วยอาวุธเป็นเวลาประมาณ 8 ปี จึงได้ออกจากป่ามาในช่วงประมาณ พ.ศ.2527 โดยที่ไม่ได้มอบตัวกับทางการ
   
            เขากลับมาปรับตัวและใจเข้าสู่วิถีชีวิตคนเมืองอยู่พักใหญ่ เริ่มแรกเขาทำงานหลายอย่างจากความช่วยเหลือของเพื่อนพ้องน้องพี่ ทั้งงานหนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร รวมไปถึงการทำสวนที่ชุมพร และต่อมาใน พ.ศ. 2529 ก็ได้เป็นผู้ช่วย ส.ส. ของคุณจตุรนต์ คชสีห์ หรือสหายเสริม ซึ่งชนะเลือกตั้งที่จังหวัดชุมพร หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส.อยู่ระยะหนึ่ง เขาก็กลับเข้ากรุงเทพฯ ตามคำเชิญชวนของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ให้ทำงานร่วมกับมูลนิธิดวงประทีปเมื่อประมาณ พ.ศ.2530 และนั่นคือก้าวแรกของการได้กลับมาร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเติมเต็มอุดมคติเพื่อส่วนรวมของเขาอีกครั้ง คุณสุวิทย์เริ่มเข้าสู่สายงานชุมชนเมืองด้วยโครงการเขตปลอดยาเสพติดในชุมชน คลองเตย และมีโอกาสเห็นภาพการทำงานร่วมกับชาวชุมชนของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) เขาจึงโยกตัวเองเข้าสู่การทำงานในองค์กรแห่งนี้ตลอดมา ในระหว่างที่ทำงานที่มูลนิธิดวงประทีปนี้เอง คุณสุวิทย์ได้พบกับ คุณสุวรรณี สีดาเหลือง สตรีชาวขอนแก่น ซึ่งทำงานอยู่กับมูลนิธิดวงประทีปเช่นกัน ต่อมาทั้งสองก้ได้สมรสกัน เมื่อ พ.ศ.2532 และได้ใช้ชีวิตร่วมกันเรื่อยมา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของคุณสุวิทย์ในวัย 54 ปี อาจกล่าวได้ว่า คุณสุวิทย์เป็นหนึ่งในนักพัฒนายุคแรกๆ ที่เกาะติดประเด็นของคนจนเมืองมาโดยตลอด และร่วมต่อสู้ในฐานะ พี่เลี้ยงของชาวชุมชนเพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคม ประชาธิปไตยและสิทธิที่พึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตลอดจนสิทธิในที่อยู่อาศัยที่ประชาชนในรัฐพึงได้รับ

            อีกด้านหนึ่ง คุณสุวิทย์ยังเป็นนักพัฒนาที่เกาะติดกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในรัฐสภา ที่ต่อสู้ตามแนวทางสังคมนิยม  เมื่อ พ.ศ. 2531 ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการกลางของพรรค และยังคงอยู่จนกระทั่งพรรคยุบตัวลงเมื่อ พ.ศ.2535  ด้วยการเกาะติดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะเห็นภาพเขาอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ของชาวสลัม ในการคัดค้านการไล่รื้อชุมชนแออัด รวมไปถึงการเคลื่อนไหวผลักดันให้แก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง เช่น การผลักดันพระราชบัญญัติชุมชนแออัด ภาคประชาชน นอกจากนี้ คุณสุวิทย์ยังได้เข้าร่วมการต่อสู้ของชาวนาด้วยการสนับสนุนการต่อสู้ของ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) ในสมัยแรก และเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เช่น กรณีการต่อสู้ครั้งพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535 คุณสุวิทย์ก็เข้าร่วมอย่างเต็มที่ และเป็นหนึ่งในโฆษกประจำเวทีในการต่อสู้ดังกล่าว ในบทบาทของนักพัฒนา เขายังมีส่วนร่วมในการก่อรูปของขบวนชาวบ้านดังเช่นการจัดตั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค และร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของสมัชชาคนจนในฐานะที่ปรึกษา นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในกรรมการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มาตั้งแต่ยุคพฤษภาประชาธรรม และเป็นเลขาธิการ ครป. ในช่วง พ.ศ.2543-2545  ในขณะที่ยังเป็นเลขาธิการ มพศ. มาเป็นระยะเวลาหลายปีต่อมา

            คุณสุวิทย์ยังเคยเป็นเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา อันเป็นองค์กรเครือข่ายของเพื่อนพ้องคนเดือนตุลาคม ใน พ.ศ.2546 จนล่าสุดในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 คุณสุวิทย์ก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรับหน้าที่โฆษกบนเวที เมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549  และยังคงอยู่ในคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อมา จนหลังจากเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เขาก็มีภารกิจร่วมกับ ครป. และสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (สปป.) ในการรวบรวมความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนานจากความเห็นของ องค์กรประชาชนในเครือข่ายทั่วประเทศ

            ในขณะเดียวกัน คุณสุวิทย์ ยังเป็นหัวหอกหลักในการรวบรวมความเห็นของคนจนเมือง ทั้งคนสลัม คนไร้บ้าน ฯลฯ เพื่อขมวดเป็นข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจนเมือง นอกจากนี้ ก็คือภารกิจในความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน ที่เป็นตัวแทนของคนยากคนจนขึ้นมาใหม่ แต่ภารกิจเหล่านี้ คนที่เหลือยู่ก็จะยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไป คุณสุวิทย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2550 ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จึงเป็นที่อาลัยรักอย่างยิ่งของมิตรสหายในภาคประชาชน

            คือ สุวิทย์ วัดหนู ผู้มีศักดิ์
            คือ ผู้รักปวงชน คนส่วนใหญ่
            ด้วยเชิดชูรู้ค่าประชาธิปไตย
            ไม่ยอมก้ม หัวให้ เผด็จการ
            บนเวที มีวาทะ ที่จะแจ้ง
            นอกเวที ล้วนสำแดง ความอาจหาญ
            ไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า กล้าประจาน
            รัฐบาล ที่เหมือนโจร ปล้นเมืองกิน
            เพียงบัดเดียว เหลียวกาย สุวิทย์หาย
            แต่ความตาย ไม่อาจพราก ไปจากถิ่น
            ยังตำนาน นักสู้ กู้แผ่นดิน
            ให้ยลยิน ก้องอยู่ คู่เมืองไทย

        ด้วยรักและอาลัย



ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เพลงท.ษ.จ.ร.-ไก่ แมลงสาบ




เพลงท.ษ.จ.ร.-ไก่ แมลงสาบ จากอัลบั้ม กลองยาวไม่ขายชาติ 1

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บันทึกการแสดงสดเพลง กลองยาวลูกชาวนา โดย ไก่ แมลงสาบ , วสันต์ สิทธิเขตต์ และ สีแพร เมฆาลัย




บันทึกการแสดงสดเพลง กลองยาวลูกชาวนา โดย ไก่ แมลงสาบ , วสันต์ สิทธิเขตต์ และ สีแพร เมฆาลัย บนเวทีพันธมิตร ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อ มิ.ย.2551

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เพลงพลิกฟื้นวิถีไทย - อัลบั้ม วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน

วิถีชีวิตของคนนั้นเริ่มเปลี่ยนไป
วิถีชีวิตไทยๆ คนไทยโบร่ำโบราณ
ต่างต้องแสวงหา เก็บทอดสืบไว้ลูกหลาน
อนิจจาต่อมาไม่นาน ลูกหลานก็ลืมสิ้นไป

พลิกฟื้นวิถีชีวิตของไทยเดิมๆ
เรามาช่วยแต่งเติม เสริมต่อกันให้ต่อไป
วัฒนธรรมประเพณีมีอยู่มากมาย
ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย คงไว้ชั่วนาตาปี"

เพลงพลิกฟื้นวิถีไทย อัลบั้ม วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน งานเพลงเพื่อเผยแพร่




นี่คือ อัลบั้มชุดพิเศษ เขียนถึงแนวคิด เรื่องราวของวิทยุชุมชน ทั้งอัลบั้ม โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต ได้จัดทำอัลบั้มชุดนี้ เพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้แด่ชาววิทยุชุมชน และผู้ฟังทั่วไป ซึ่งในอัลบั้มพิเศษ วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน ประกอบด้วย 10 บทเพลง ดังนี้
1. แหล่วิทยุ
2. เพื่อชุมชน
3. พลังชุมชน พลังแผ่นดิน
4. รำวงวิทยุ
5. รวมพลังใจ
6. สิ่งแวดล้อม
7. เขาว่าวิทยุเถื่อน
8. วิทยุสัมพันธ์
9. พลิกฟื้นวิถีไทย
10. วันของเธอ

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เพลง สามรัก โดย ไก่ แมลงสาบ 28 มิ.ย.2551



ไก่ แมลงสาบ - สามรัก
28 มิ.ย.51 สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน