วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

11 วิดีโอบันทึกการแสดงสด มหกรรมดนตรี รวมพลคนอาสา ธารรักธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน เมื่อ 27 มี.ค.2548 (Fair concert gather people volunteer spirit Than Than Love. Thailand to the Andaman )

             หลายคนยังจดจำภาพเหตุการณ์พิบัติภัย "สึนามิ" เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เราได้เห็นกระแสธารน้ำใจที่มากมายมหาศาล หลั่งไหลเข้าสู่ผู้ประสบเคราะห์กรรม เกิดกลุ่มอาสาสมัครมากมาย เดินทางเข้าสู่พื้นที่  กลุ่ม องค์กรต่างๆได้รวมตัวเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในหลายรูปแบบ เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต ต่างรวมใจเพื่อการช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้เช่นกัน  โดยได้ผลิตผลงานเพลงชุดพิเศษ "รวมพลคนอาสา ธารรัก ธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน" 4 อัลบั้ม กว่า 50 บทเพลง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหตุการณ์สึนามิ และยังได้รวมตัว รวมใจกันจัดมหกรรมดนตรี "รวมพลคนอาสา ธารรักธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน" ขึ้นเมื่อ 27 มี.ค.2548 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


           




            นี่คือ วิดีโอบันทึกการแสดงสดมหกรรมดนตรีในครั้งนั้น ซึ่งหาชมยากพอสมควร แต่สามารถชมได้อย่างเต็มอิ่ม ในเวบแห่งนี้


           

           

            เหตุการณ์พิบัติภัย "สึนามิ" เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้กระตุ้นกระแสธารน้ำใจขนาดมหึมาของประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลก ให้หลั่งไหลมาโอบอุ้มผู้ประสบเคราะห์กรรมอย่างล้นหลาม อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


            ในช่วงแรก ขณะที่องค์กรภาครัฐในพื้นที่กำลังอยู่ใยสภาวะช็อคจากเหตุการณ์และ ตึงเครียดอยู่กับการรอรับคำสั่งการของหน่วยเหนือนั้น ปรากฏว่า มีคลื่นอาสาสมัครและกลุ่ม-องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ได้รวมตัว เชื่อมโยงการดำเนินงานและก่อตัวเป็นเครือข่าย เพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชนและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแข็งขันเคียงคู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


            ในขณะเดียวกัน กระแสบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง  โดยมีหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน องค์กรการกุศล และบริษัทห้างร้านต่างๆ ลุกขึ้นมาเป็นตัวกลาง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า องค์กรเหล่านั้นมักจะขาดความเข้าใจในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง และไม่ทราบความต้องการการช่วยเหลือที่หลากหลายของผู้ประสบภัย จึงกำหนดการช่วยเหลือแบบสำเร็จรูปไปจากส่วนกลาง ขาดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ ผูกติดกับกลไกระบบราชการและมุ่งช่วยเหลือเป็นรายบุคคลแบบประชาสงเคราะห์มากกว่าที่จะสร้าง กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกลไกอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคมดังกล่าว

                      

           


            เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต ได้เล็งเห็นช่องว่างและตระหนักในปัญหานี้จึงได้เริ่มรวมตัวกันจัดงานมหกรรมดนตรี รวมพลคนอาสา ธารรักธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน ขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2548 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อระดมทุนไปสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคม โดยจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา สำหรับกลไกการดำเนินงานต่อไปในระยะยาว


           

           


            ธารรัก ธารน้ำใจ

หนึ่งที่ได้        คือ เสียงเพลง เสียงกวีที่ให้เป็นกำลังใจแด่พี่น้องผู้ประสบภัย
                และ อาสาสมัครที่ลงพื้นที่โดยมิได้นัดหมาย

อีกหนึ่งที่ได้    คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวของศิลปะ ศิลปินทั่วประเทศ
                ซึ่งในโอกาสต่อไปทุกท่านเหล่านี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของ การสร้างสรร
                ต่อสู้ สู่ความงดงามของสังคม ร่วมกับพี่น้องเครือข่าย กลุ่มองค์กรต่างๆที่ทำงาน
                เพื่อประชาชน และ ประเทศชาติ

และอีกหนึ่งที่ได้ คือ การได้ทำหน้าที่ของตน โดยสมบูรณ์

            กุศลใดที่ท่านทำ ขอให้กุศลนั้นจงบังเกิดแก่ดวงจิตของท่านนั้นเทอญฯ
                        ธารรัก ธารน้ำใจ
                            วัลลภ พลเสน
                        (เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต)
                            ๘ มีนาคม ๒๕๔๘
           

                      

          


         รายชื่อศิลปินร่วมใจช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ คอนเสิร์ตรวมพลคนอาสา ธารรักธารน้ำใจสู่ไทยอันดามัน
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๗ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์, นพ.วิชัย โชควิวัฒน, ไพวรินทร์ ขาวงาม, สุรชัย จันทิมาธร, มงคล อุทก, จาตุรนต์ ฉายแสง, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, เศก ศักดิ์สิทธิ์, นุภาพ สวันตรัจฉ์, วีระศักดิ์ ขุขันธิน, กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์, ประทีป ขจัดพาล, วง แฮมเมอร์, วงคีตาญชลี,  มาลีฮวนน่า, วงซูซู, วิสา คัญทัพ, นิด,ตี้ กรรมาชน, วงอมตะ, วงอี๊ด ฟุตบาธ, วงโฮป แฟมิลี่, วสันต์ สิทธิเขตต์, ชูเกียรติ ฉาไธสง, ยงยุทธ ด้ามขวาน, จ่าหรอย เฮนรี่, อู๋ เสรีชน, ต่อ เสบียง, วงแมลงสาบ, ไพจิตร อักษรณรงค์, วง ไท-ลา-กูน, วงสะพาน, วงชนบท, ต่อศักดิ์ จันทร์กลัด, ต๋อย ลาดเป้ง, วงแม่น้ำ, สมพงศ์ ทวี, สีแพร เมฆาลัย, วงปุถุชน, วงลาฆูจุก, วงบูรพา, นายขนมชั้น, วง ตี๋ ภูธร, วงประโคนชัย, วง เลอมาน, ไตรศุลี มโนเพ็ชร, นิด ลายสือ, ป๋อง ณ ปะเหลียน, เฮี้ยว ณ ปานนั้น, วง อัสลีมาลา, เบื้อก โคราช, แดง คนดง, เด๊ะ สิทธิชัย, ติ๊ก ชุมแพ, เมธา เมธี, วงชาวดง, หน่อง โคราช, ภูบรรทัด, วงคนงาน-ภราดร, วงอัสดง, ชวลา ชัยมีแรง,  แพงคำ, ศิลป์ ไทวาตาชิ, อำนาจ ชัยเจริญ, ตี๋ ต้นหลัก, วง ลาฆูจุก , เพื่อนเขาใหญ่, วง folk co, ไฝ ทานตะวัน, หมอก เมืองหนาว, สันเพชร กีตาร์โปร่ง, ปู บ้านบุญเรือง, สุเวศน์ ภู่ระหงษ์, การแสดงเด็กชาวเขา, อุบล สาศิลา, กลุ่มสลึง, น้องนาย ศิลปินน้อย, วง โฮม (นักศึกษา) , วงเย็นสุข(Indy Style) วง โดโรธี (Funk) , วง MAGANTA (ART ROCK) , รำมโนราห์ แบบโบราณ โดย โสวภา ขาวสง, วง คนผ่านทาง, ละครเวทีจากกลุ่มนักศึกษาและเด็กในพื้นที่ภาคใต้, พี่น้องบ้านน้ำเค็ม 3ท่าน ,

พิธีกร : จักรกฤษ ศิลปชัย, ภิญโญ รุ่งสมัย, อารยา อนันต์ประกฤติ, ไก่ แมลงสาบ, สุนัย มันตานุรักษ์, พระอาทิตย์, ต๋อย ลาดเป้ง,

กำกับเวที : อู๋ การเวก,
ประสานเวที : ซัน, สุนัย มันตานุรักษ์, ต๋อย ลาดเป้ง, จุ๋ม รัชตะ




วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

4 วิดีโอสัมภาษณ์พูดคุยในรายการวิทยุหลังกลับจากเวทีคัดค้านโรงงานถลุงเหล็ก โดยไก่ แมลงสาบ สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ เมื่อ 17 ส.ค.2553

            การพูดคุยผ่านสื่อ ทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงความคิด มุมมอง ประสบการณ์ของผู้พูดได้เป็นอย่างดี ยิ่งเป็นสื่อที่อิสระ ไม่มีกรอบมาควบคุม ปิดกั้น ทำให้สื่อสารได้อย่างเต็มที่ นี่คือ การจัดรายการคลื่นวิทยุชุมชน  FM 98.15 MHz สถานีวิทยุชุมชนบ้านห้วยขวาง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2553 กับ 2 ศิลปินคู่หูคู่ซี้ดนตรีที่อิสระ ไก่ แมลงสาบ และสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ผู้ที่ยึดถือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีชีวิตแบบไทยแท้ มานั่งพูดคุยหลายเรื่องราวอย่างเต็มอิ่ม แบบไม่มีโฆษณามาคั่นระหว่างการพูดคุย



            นี่คือ บันทึก สาระ ความรู้ ภูมิปัญญาจากชุมชนท้องถิ่น ที่ชาวบ้านห้วยขวางและพื้นที่ใกล้เคียงได้รับฟังเนื้อหาที่มีคุณค่าแบบนี้เป็นประจำ





            วิดีโอช่วงแรก เริ่มจากการรายงานเรื่องที่ไปขับกล่อม ขับไล่โรงงานถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม จันทบุรี ทำงานศิลปะศิลปินให้ลุกขึ้นสู้ และการได้เขียนบทเพลงประวัติศาสตร์ บอกเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เรื่องของมลภาวะ สิ่งแวดล้อม ขอหยิบบางช่วงของคำพูดจากวิดีโอนี้มา

            สุเวศน์ " ผมจะพูดเสมอว่า แม้คนที่เป็นข้าราชการนี่ เวลาเข้าทำงาน 8 โมงถึง 8 โมงครึ่ง ถ้าท่านเข้าช้าไปวันละ 10 นาที โกงวันละ 10 นาที มันเป็นกรรมนะ"


* * *

            ไก่ " เรื่องของการป้องกันแก้ไขนี่ ประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการที่จะดูแลบ้านตัวเอง..."
            สุเวศน์ "..เจ้าของพื้นที่ ..เอาง่ายๆ คนเรามันมีอยู่ 2 ประเภท พวกที่ 1 เป็นคนที่มีปัญญา เค้าจะแปลงสินทรัพย์ให้เป็นบุญ แต่อีกกลุ่มหนึ่ง เค้าจะพยายามแสวงหาทรัพย์สินโดยสร้างกรรม....."
            ไก่ "... แปลงวันถุดิบ พื้นที่ไร่นาให้เป็นทุน..."
            สุเวศน์ "..และก็ไม่คำนึงว่า ใครจะเดือดร้อน ที่บ้านผม พยายามจะหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกับสัตว์ ประเภทมด และอื่นๆ เราก็ดูพื้นที่ข้างๆ เค้าฉีดยากันหมด ใส่ยากันเข้มข้นมาก ยาฆ่าแมลง ย่าฆ่าหญ้า และสารพัดยา พวกนี้จะแย่ อันตรายทั้งหมด แล้วผมมีเนื้อที่เหลืออยู่ซัก 5 เศษๆ พยายามหาที่ให้มดอยู่ เพราะเค้ามีสิทธิ์อยู่บนโลกผืนนี้นะ..."


* * *

            ไก่  " ผมจำได้ว่า สมัยพ่อแม่ ทำนา 10-20 ไร่ จะให้ 1-2 ไร่ ให้วัว ควายย่ำ ได้กินข้าว หญ้า เพราะถือว่า เค้าได้ทำร่วมกับพวกเรา ทั้งคราดทั้งไถ  ทั้งลากเกวียนเพื่อเอาข้าวมาไว้ในยุ้งฉาง ส่วนต่างๆเหล่านี้สภาวะสมดุล เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมด ที่จะสร้างรังให้เค้าอยู่ ความสมดุลเหล่านี้อย่าไปทำลายเค้านะครับ เป็นวัฏจักร.."

            นอกจากนั้น มีคำเตือนเรื่องการตัดกิเลส, ข้อคิดเรื่องของนิวเคลียร์ ก่อนที่จะเกิดการสร้างโรงงาน







            -  ในวิดีโอช่วงนี้ พูดถึงเรื่องการเดินทางไปแสดงดนตรีที่พิษณุโลก ตารางคิวงานที่ผ่านมา
            - ร้องเพลงสุขภาวะดีวิถีคนจันท์ (บางส่วน) ที่แต่งในงานที่พึ่งผ่านมา
            - ประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง ในการไปเล่นดนตรีที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ
            - ประสบการณ์การตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของลุงสุเวศน์
            - การทำวงแบบจรยุทธ์ กำลังเสริมเพื่อต่อต้านคัดค้าน พวกนายทุนที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยสร้างโรงงานต่างๆ
            - งานที่ปกป้อง เพื่อแผ่นดินให้สภาวะของโลกสดใสต่อไปป
            - เสนอแนวคิด ไปถึงการทำการศึกษาวิจัยการตั้งโรงงาน ถ้าแบ่งงบส่วนหนึ่งมาให้ภาคประชาชนได้ศึกษามั่งจะมีประโยชน์อย่างไร
            - พูดถึงกระทรวงวัฒนธรรม งบประมาณกับการทำโครงการเพื่อสร้างผลงาน มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
            - จิตสำนึกในการทำงานมีมาก แต่กำลังเงินที่จะส่งต่อให้เกิดงานเพลง ที่สมบูรณ์มีไม่พอ
            - สถานีวิทยุชุมชน กับการเป็นเครื่องมือของบริษัทธุรกิจบางประเภท
            - สะท้อนปัญหากาาค้าขายสารเคมีกับผลกระทบในชุมชน
            - พูดถึงเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่มีสื่อนิดเดียว แต่บริษัทเอกชนมีคลื่นความถี่วิทยุ ครอบคลุมไปทั่ว กว้างไกลกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
            - พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชาวบ้านของไทย
            - เศรษฐกิจดี แต่ทำลายวิถีชุมชน อย่างไรบ้าง
            - ขายวัวส่งควายเรียน
            - การศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ข้อคิดที่น่ารับฟังของผู้เป็นลูก ที่ควรปฏิบัติต่อพ่อแม่








            - ข้อคิดคำสอนที่ในหลวงสอน คิดแบบวิถีชุมชน
            - ข้อคิดเรื่องการพึ่งตัวเอง
            - ใบมะยม มะขาม ต้นส้ม  ใบชะมวง ใบตำลึง ใบมะระ ที่บ้านลุงสุเวศน์ เอามาตำน้ำพริกกินได้หมด
            - แนวคิด...มะนาวแพง กินมะขามสิ ไก่ไข่ แพง ก็กินอย่างอื่นสิ การรู้จักเลี่ยง และวิธีคิดที่น่าสนใจ
            - วิถีคนโบราณ กินอาหารตามฤดูกาล เช่นหน้าหนาวเป็นไข้หัวลมกินแกงส้มสัตวา, ดอกแคร์ก็กินได้ เค้าต้องการให้เรากินของที่มีในขณะนั้น
            - เรื่องราวสะกิดใจคน ความเมตตา กรุณา ปราณี กรณีรถเกิดอุบัติเหตุ รถขวางถนนอยู่ รถติดอยู่... สังคมขาดการเยียวยา ต้องอบรมบ่มนิสัย จับฟังสื่อที่มีเนื้อหาสาระดีๆ
            - ฝากให้คนในครอบครัวฟังธรรมะ อธิบายให้บุตรหลานฟังด้วย เพื่อความสุขในครอบครัว
            - บทกวีสำหรับ คนทำงานที่คดในข้อ งอในกระดูก ซึ่งลุงสุเวศน์เขียนไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

 




          
          ทิ้งท้ายด้วยการไปเยี่ยมคุณแม่ของ คุณไก่ แมลงสาบ จากบริเวณสวนในบ้านพัก ซึ่งมีคุณสุเวศน์ ภู่ระหงษ์, คุณสำรวม บางบัวทอง, คุณไก่ แมลงสาบ ร่วมวงสนทนากันอยู่

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

7 วิดีโอบันทึกการแสดงสด ไก่ แมลงสาบ -สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ขับกล่อมมวลชน ขับไล่โรงงาน บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี 16 ส.ค.2553

            การเคลื่อนไหวต่อสู้ของภาคประชาชนในการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก เพราะไม่อยากให้พื้นที่ที่เคยอยู่อย่างสงบสุข อากาศดี คุณภาพชีวิตที่ดี ต้องถูกทำลายไปจากการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากการปราศรัย และการทำกิจกรรมต่างๆแล้ว การแสดงดนตรีบนเวที ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า ให้ข้อมูล และทำให้มวลชนได้ผ่อนคลายในระหว่างการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เด้วย



            เวทีคัดค้าน เริ่มกิจกรรมต่างๆตามกำหนดการ คือ 15.00 น. แต่พี่น้องมวลชน เดินทางมาที่ อบต.หนองชิ่มตั้งแต่บ่ายโมง นักดนตรีซึ่งเป็นการรวมตัวกันในแบบหน่วยจรยุทธ์ คือ เดินทางมาจากที่ต่างๆ แล้วมาเล่นดนตรีร่วมกัน แม้แต่เครื่องเสียง ก็มาจากจังหวัดระยอง การเคลื่อนไหวในแบบหน่วยจรยุทธ์ เพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน หากประเด็นการชุมนุมมีความตรึงเครียด หรือถูกสกัดกั้น ขัดขวางจากผู้เสียผลประโยชน์ เช่น การไปสกัด ขัดขวางการเข้ามาร่วมขึ้นเวทีของนักดนตรี , เครื่องเสียง อุปกรณ์ต่างๆ แต่เมื่อนักดนตรี มาในแบบหน่วยจรยุทธ์ ผู้เสียผลประโยชน์ ไม่รู้จะไปสกัดหรือขัดขวางได้อย่างไร เพราะนักดนตรี อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะต่างคนต่างมารวมตัวกันตามนัดหมาย



            ดนตรีที่มาเล่นขับกล่อมมวลชน และขับไล่โรงงาน มาจากหลายจังหวัด ไก่ แมลงสาบมาจากพัทยา, คุณสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ จากจันทบุรี  มือกลองมาจาก กทม. มือเบส มาจากตราด เครื่องเสียงมาจากระยอง มือถ่ายวิดีโอแล้วนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เนต มาจากกาฬสินธุ์ มาจากหลายจังหวัด มารวมตัวกันในเวทีนี้โดยเฉพาะจริงๆ



            บทเพลงที่ขับร้องบนเวทีคัดค้านโรงงานถลุงเหล็ก หลายบทเพลงแต่งเพื่อขับร้องในเวทีแห่งนี้ สำหรับการเคลื่อนไหวในกรณีนี้เท่านั้น หาฟังไม่ได้ในเวทีอื่น ในระหว่างที่แกนนำ นักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านในท้องถิ่น กำลังปราศรัยบนเวทีอยู่นั้น นักดนตรีอย่าง ไก่ แมลงสาบ และ สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ จะทำการเก็บรายละเอียด และเขียนเนื้อเพลงออกมา ซักซ้อมเนื้อร้อง ทำนองเท่าที่เวลาจะอำนวยให้ แล้วก็ขึ้นเวทีขับร้องเพลงที่พึ่งแต่งเสร็จหมาดๆ เมื่อไม่กี่นาที ร้องให้ฟังกันสดๆ เล่นดนตรีสดๆบนเวที ซึ่งอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์เฉพาะตัวของนักดนตรีแต่ละคน ที่จับจังหวะ และทำนองเพลงจนรู้ทางกันเป็นอย่างดี รวมทั้งการรับส่ง มุขระหว่างนักดนตรีกับผู้ชมหน้าเวที กลายเป็นความสนุกสนานในการชุมนุมครั้งนี้


            บทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ และร้องในเวทีนี้ เป็นบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ในวันนั้น ศิลปินได้ทำการเก็บรายละเอียดต่างๆ ขับขานออกมาเป็นบทเพลงเฉพาะกิจ  นี่คือ บันทึกการแสดงสดจากเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตาหกรรทถลุงเหล็ก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2553 กับหลากหลายบทเพลงที่สามารถฟังได้จากเวทีแห่งนี้เท่านั้น






           วิดีโอช่วงแรก เริ่มต้นที่ช่วงแรกของการแสดงดนตรี ช่วง 15.45 น. เริ่มจากดนตรีเปิดวง ก่อนที่ลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์จะขับเสภา บูชาครูก่อนเริ่มทำการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นการโชว์ลีลาการขับเสภา เป็นการนำเสนองานศิลปะวัฒนธรรมของไทย ซึ่งหาฟังได้ยากในปัจจุบัน ก่อนที่จะขับร้องเพลง  "พลังชุมชน...พลังของแผ่นดิน....." บรรยากาศที่หน้าเวที มีสัญลักษณ์บางอย่างคล้ายกับการชุมนุมของชาวพันธมิตร ขนาดย่อมๆเหมือนกัน


            จบจากบทเพลงแรกแล้ว ลุงสุเวศน์ ก็อ่านบทกวีที่พึ่งประพันธ์ขึ้นมาภายในเวลาไม่นาน
            " หนองชิ่มที่เขียวขจีของฉัน
            กำลังถูกบั่นให้บัดสี
            ใยจะสิ้นแล้วหรือจันทบุรี
            เมืองที่เขียวขจีตลอดมา
            เรามีทุกอย่างทางธรรมชาติ
            มีภูเขามีชายหาด มีป่า
            มีทะเลให้ชาวประมงได้จับปลา
            มีสวนผลไม้มีนา ให้ปลูกข้าว..."


            นี่คือส่วนหนึ่งของบทกวีของลุงสุเวศน์ ที่อ่านประกอบการบรรเลงดนตรีแบบสดๆ และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  ฟังฉบับเต็มได้จากคลิปวิดีโอช่วงแรกได้เลย






            มาถึงวิดีโอช่วงที่ 2 กับบทเพลงในแบบสามช่า " ไม่เอาโรงงานถลุงเหล็ก คนจันท์ไล่เช็ก ไล่เช็คบิลไปเลย ไม่เอาโรงงานผีบ้า คนจันท์ใจกล้าคุยกับผู้ว่าไปเลย............." ลองเข้าไปฟังเพลงนี้แบบเต็มๆกันดู ก่อนที่จะถึงช่วงเปิดเวทีอย่างเป็นทางการ โดยท่านนายก อบต.หนองชิ่ม "ธนกร ชาวแกลง" ขึ้นเวทีกล่าวเปิดงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ยังหนุ่ม แต่ใจสู้





            วิดีโอช่วงที่ 3 กับการเปิดสปอร์ตที่พึ่งบันทึกมาจากห้องอัดของคุณธนกร ศรีวรนันท์ สปอร์ตแนะนำเปิดตัวศิลปิน แล้วมีการอ่านบทกวี "หยุดกรณีศึกษา อย่าดื้อ..."  แล้วตามด้วยบทเพลงที่ร้องว่า " หนองชิ่มบ้านฉันไม่ต้องการโรงงานถลุงเหล็ก จะใหญ่จะเล็ก แม้แต่เด็กเค้าก็ไม่ต้องการ รวมพลคนสู้คนกู้ที่อาจหาญ ใครจะรุกจะรานต้องผ่านพวกกูไปก่อน...." ดนตรีในแบบโจ๊ะๆ สนุกสนานกับบทเพลงที่พึ่งเขียนเสร็จไม่นาน ก็นำมาร้องบนเวที  หลังจากนั้น เป็นบรรยากาศการพูดคุย แซวกับคนดูหน้าเวที แล้วตามด้วยคติเตือนใจ "มนุษย์เอ๋ยจะโลภไปทำไมเล่า  สิ่งที่ประเทืองชีวิตเราสำคัญยิ่ง" ก่อนที่จะสนุกกับเพลง "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาซิเป็นของจริง จำไว้ทั้งชายและหญิง ของจริงๆไม่มีมายา"






            วิดีโอช่วงที่ 4 สนุกสนานกันมากขึ้น กับเพลงในสไตล์รำวงที่ร้องว่า "รำวงขับไล่โรงงาน ฝรั่งข้างบ้านยังมาร่วมรำวง หนองชิ่มออกมาร่วมโค้ง กันฝุ่นโขมงไล่โรงงานออกไป...."   บรรยากาศในช่วงนี้ คึกคักมากขึ้น เมื่อไก่ แมลงสาบ และสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ โชว์ศิลปะการด้นบทกวีสดๆบนเวที ขับกล่อมเป็นบทเพลงในจังหวะรำวง  มีการด้นเพลง แนะนำนักดนตรี มือกลองชื่อหลุยส์ มาจากกทม. มือเบส เต่ย มาจากตราด มือซอ หว่อง ซอหวาน กำพล-เครื่องเสียงมาจากระยอง สาวมือกล้อง ตามใครมาก็ไม่รู้มาจากพัทยา มือถ่ายวิดีโอมาจากกาฬสินธุ์


        หลังจากด้นสดจนได้ที่ ก็ต่อกันด้วยเพลง "ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก่อนมลพิษจะถล่มเมืองจันท์" ซึ่งเป็นบทเพลงที่ ลุงสุเวศน์ และ ไก่ แมลงสาบ ร่วมกันแต่งเพลงในช่วงเช้า แต่เมื่อมาเล่นบนเวที ก็พากันเล่นในจังหวะรำวงสนุกสนาน เอาใจผู้ชมหน้าเวที  (คลิกฟังเพลง ตัดไฟแต่ต้นลม ที่แต่งและร้องในช่วงเช้า 16 สค 2553 ที่ http://thaibansinlapin.blogspot.com/2010/08/16-2553.html )  ในระหว่างบรรเลงเพลงนี้ ที่หน้าเวที มีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ระหว่าง แกนนำ ผู้นำท้องถิ่น ครอบครัวลุงน้อย ใจตั้ง และชาวบ้าน





            วิดีโอช่วงที่ 5 บรรยากาศสนุกสนานมากขึ้น เมื่อชาวบ้าน ผู้ชมหน้าเวที ต่างออกมาร่วมรำวงกันอย่างสนุกสนาน มีการแจกเสื้อยืดที่สกรีนข้อความรณรงค์ต่อต้านโรงงานถลุงเหล็กให้ชาวบ้านกัน หลายคน ใส่เสื้อที่ได้รับทันที บนเวทีขับร้องเพลง "ม้าก้านกล้วย ... นอย จะทิงนองนอย... วัฒนธรรมไทย ยิ่งใหญ่นัก....."  ให้ชาวบ้านออกมารำฟ้อนกันคึกคัก สนุกสนาน





            วิดีโอช่วงที่ 6 บรรยากาศสนุกสนานต่อเนื่อง กับเพลง พิภพมัจจุราช และ "เก็บขยะออกไป เก็บโรงงานถลุงเหล็กออกไป....." นักร้อง นักดนตรี โยกขยับสร้างบรรยากาศคึกคักเหมือนช่วงกลางวัน แม้จะเป็นเวลา 20.30 น.แล้วก็ตาม






            วิดีโอช่วงที่ 7 ช่วงสุดท้าย เกือบ 3 ทุ่มแล้ว นักดนตรีเล่นเพลงสุดท้าย คืนชีวิตให้แผ่นดิน หว่อง ซอหวาน วางซอ ออกมาเป่าแคนที่หน้าเวที จบเพลงแล้ว....กล่าวสวัสดี จะเลิกทำการแสดงอยู่แล้ว แต่ผู้ชมหน้าเวที ยังไม่หายมัน ขออีกเพลง ขอเพลงมันๆ เลยขึ้นเพลง "....มันเทศกับมันมือเสือ จิ้มใส่เกลือเคี้ยวเล่นมันๆ กินแล้วต้องนั่งแคะฟัน จะกินกันให้มันต้องกินมันมือเสือ....." หลังจากจบเพลงพิเศษแล้ว ก็กล่าวสวัสดี พบกันใหม่โอกาสหน้า

"เพลงพระภูมิพล" ผลงานเพลงเทิดพระเกียรติที่ได้รับรางวัลโดยไม่ตั้งใจ งานศิลปะที่ทำด้วยใจ ของสุเวศน์ ภู่ระหงษ์

            "พระภูมิพลล้นเกล้าเผ่าไทย เกริกก้องเกรียงไกร อยู่ในใจไทยทุกคน
            พระทรงเมตตา กรุณาเปี่ยมล้น น้ำพระทัยองค์ภูมิพล ท่วมท้นพวกเราเผ่าไทย"




            เสียงเพลงที่แว่วมานี้ ทำให้คุณครูท่านหนึ่งต้องหยุดฟังแล้วเดินมาถามนายบอนว่า นี่เป็นเพลงชื่ออะไร ใครเป็นคนร้อง ร้องได้ชัดถ้อยชัดคำมาก ผู้ขับร้อง มีความตั้งใจและพิถีพิถันในการทำงานเพลงนี้อย่างมาก ในปัจจุบัน จะหาฟังเพลงแบบนี้ได้ยาก นอกจากเพลงเก่า ศิลปินรุ่นเก่าเท่านั้น

   
            นายบอนถึงกับอึ้ง เพราะพึ่งจะเปิดแผ่นซีดีเพลงนี้เป็นครั้งแรก หลังจากได้แผ่นนี้จากศิลปินเจ้าของผลงานเพลงที่มอบให้เองกับมือ งานเพลงชุด "พระภูมิพล" ศิลปิน สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ และ วัลลภ พลเสน "คู่หูคู่ซี้ดนตรีที่อิสระ" ผลงานเพลงที่ลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์บอกว่า ได้รับโล่ศิลปินดีเด่นจังหวัด จันทบุรี สาขาการขับร้องและประพันธ์เพลง จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ จากผลงานเพลงชุดเทิดพระเกียรติชุดนี้ ซึ่งทำออกมาด้วยใจ ไม่ได้หวังชื่อเสียงใดๆ ทำเพลงออกมาแล้ว ก็นำมาเปิดเผยแพร่ในพื้นที่ เมื่อมีคนได้ยินผลงานเพลงชุดนี้ ก็ขออนุญาตนำผลงานไปส่งให้คณะกรรมการพิจารณา จนได้รับโล่ดีเด่น  โดยที่ลุงสุเวศน์ ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน



            ผลงานดีเด่น มีคุณค่า สักวันต้องมีคนได้สัมผัสถึงคุณค่าของผลงานชิ้นนั้น


           suwet musician




            16 ส.ค.2553 ลุงสุเวศน์ เดินทางไปทำการแสดงดนตรี ที่เวทีคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม ท่านหยิบแผ่นซีดีแพ็กใหญ่ ใส่ถุงก็อบแก๊บ เพื่อเอาไปแจกให้คนที่สนใจ เพื่อจะได้เอาไปเผยแพร่ เปิดในวิทยุชุมชน หรือในสื่ออื่นต่อไป แจกฟรีกันเลย ซึ่งผู้ที่สนใจอยากได้เพลงในอัลบั้มนี้ ก็สามารถที่จะดาวน์โหลดไฟล์ mp3 ทั้ง 10 บทเพลงได้จากที่นี่เลย


            * ดาวโหลด 10 เพลง mp3 อัลบั้มชุด พระภูมิพล - สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ + วัลลภ พลเสน
            * ดาวน์โหลด เฉพาะเพลง พระภูมิพล.mp3


            ด้วยความที่เป็นศิลปินอิสระ ทำงานเพลงออกมาเอง ลงทุนทำเพลงเข้าห้องบันทึกเสียง ร้องเองทำเอง โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถผลิตผลงานเพลงชุดนี้ ออกมาเผยแพร่ได้ฟรี


            หลังจากที่คุณครูท่านนั้น ฟังเพลงพระภูมิพล จบ และได้ยินเพลงที่ 2 ก็เอ่ยปากขอสำเนาเพลง ไปฟัง เอา flash drive มา save เอาไฟล์ไป mp3 ไปฟัง เพราะชอบเพลงที่พิถีพิถันตั้งใจร้องแบบนี้ แต่ละคำที่ใช้ในเพลง เป็นคำไทย สอดแทรกเนื้อหาสาระในบทเพลง โดยไม่คำนึงถึงการตลาด  ถ้าดูชื่อเพลง ชื่อศิลปิน ดูแล้วธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจ แต่เมื่อได้ยินเพลงแล้ว ถึงรู้ว่าเป็นงานเพลงดี มีคุณค่าจากศิลปินชิ้นครู เป็นแบบนี้เอง



            "ต้องเป็นคนที่รู้คุณค่างานศิลปะ ถึงจะเข้าใจ เห็นความสำคัญของงานเพลงนี้"


            ผลงานชุด พระภูมิพล ที่ถูกผลิตออกมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีคนที่รู้จักงานเพลงนี้ในจำนวนจำกัด ไม่ว่าจะนานเท่าไร คุณค่าของงานก็ยังคงอยู่ รอเวลาให้ผู้ที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าได้มาค้นพบ


            "คนที่แต่งเพลงเทิดพระเกียรติในหลวง บุคคลที่คนไทยรักและเคารพเทิดทูนทั้งประเทศ ต้องแต่งออกมาให้ดีจริงๆ เพราะคนไทยทุกคน รู้จักและรักในหลวง ซึ่งเพลงนี้แต่งและร้องออกมาได้ดีจริงๆ"

            ฟังเพลงพระภูมิพล พร้อมเนื้อเพลงแบบเต็มๆกันเลย

           






                เพลงพระภูมิพล  - สุเวศน์ ภู่ระหงษ์


                    พระภูมิพลล้นเกล้าเผ่าไทย เกริกก้องเกรียงไกร อยู่ในใจไทยทุกคน พระทรงเมตตา
            กรุณาเปี่ยมล้น น้ำพระทัยองค์ภูมิพล ท่วมท้นพวกเราเผ่าไทย
           
                    เหมือนเป็นพลังหนุนสร้างชุมชน ให้บันดาลดล เหล่าชุมชนทุกคนชื่นใจ
            ยามใดเดือดร้อน พระองค์ทรงช่วยแก้ไข ประทานทฤษฎีใหม่ ให้ผองไทยเราร่มเย็น

                    ทรงพระปรีชา องค์พระมหากษัตริย์ไทย แน่วแน่แก้ไขเพื่อไทยพ้นจากยุคเข็ญ
            เศรษฐกิจพอเพียงช่วยหล่อเลี้ยง เมื่อยามจำเป็น สัจธรรมนำให้เห็น นับเป็นบุญของชุมชน

                    พระบารมีคุ้มเกล้าชาวไทย ให้โลกปลอดภัย จากฝันร้ายให้หายกังวล
            ทั้งเหนือจรดใต้ ก็ทรงห่วงใยปวงชน พระบารมีองค์ภูมิพล ปกป้องทุกชนชาติไทย



                ...หลังจากคุณครูท่านนั้น save ไฟล์ Mp3 งานเพลงชุดนี้ไปแล้ว ช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน ท่ามก็ถือกระดาษแผ่นหนึ่งมาให้ เหมือนเป็นดังสิ่งตอบแทนสำหรับการได้รับผลงานเพลงชุด พระภูมิพล เป็นกระดาษที่มีข้อความพระราชดำรัสของในหลวง ซึ่งขออัญเชิญมาไว้ ดังนี้...



                " การสร้างานศิลปะทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดเจนจัดในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว  ศิลปินจำเป็นต้องมีความจริงใจ และบริสุทธื์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่ควรค่าแก่การยอมรับนับถือ เพราะความจริงใจที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์มั่นคงนั้น เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สามารถนำเอาคุณลักษณะพิเศษภายในตัวออกมาแสดงให้ปรากฏได้โดยเด่นชัด เมื่อบรรดาศิลปินสร้างสรรค์งานของตนด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ผลงานทั้งหมดก็จะประกอบกันเป็น นิมิตหมายอันงดงาม"


                พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                 เนื่องในพิธิเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑
                เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๕



               
               

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บันทึกการเดินทางไปสัมผัสชีวิต ผลงาน ความคิด ของสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ที่จันทบุรี 15-17 ส.ค.2553

          ชีพจรลงเท้าอีกครั้ง เมื่อต้องไปสมทบกับคุณไก่ แมลงสาบ เพื่อไปร่วมเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็กที่จันทบุรี ตอนบ่ายวันที่ 16 ส.ค.2553  จึงออกเดินทางช่วงเย็นวันที่ 15 ส.ค. จากโคราชมีรถมาที่จันทบุรีโดยตรง เป็นรถของบริษัทวิศวกรเสนา ช่วงเย็นมีเที่ยว 18.00 น., 21.00 น., 01.00 น., 03.00 น., 05.00 น. ระยะเวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง ใช้เส้นทางโคราช-ปักธงชัย-วังน้ำเขียว-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-วังน้ำเย็น - โป่งน้ำร้อน - จันทบุรี ระยะทาง 330 กม. เลยซื้อตั๋วไปเที่ยว 01.00 น. เพื่อไปถึงจันทบุรีตอนเช้า ค่ารถ 266 บาท เป็นรถ ป.1 รถออกตามเวลา ถึงสระแก้วตอนตี 3 และถึง บขส.จันทบุรีตอน 6.45 น.


            นั่งพักอยู่ครู่ใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปหาคุณไก่ แมลงสาบ ดูเวลาแล้วคาดว่า น่าจะตื่นแล้ว โทรไปสักพัก คุณไก่ก็บอกว่าเดี๋ยวออกไปรับ อึดใจใหญ่ก็ขับเก๋สีแดงของคุณซันซึ่งตอนนี้ติดแก๊สแล้ว มาจอดตรงทางเข้า บขส. แล้วขับเข้าไปในตัวเมือง คุณไก่บอกว่า มาอยู่ที่จันทบุรี ขึ้นเวทีรับงานที่นี่ 3 วันแล้ว เมื่อคืนพึ่งเล่นในงานมหกรรมสุขภาวะดีวิถีคนจันท์ เลยได้อยู่จันทบุรียาวจาก 11-16 ส.ค. ขึ้นเล่นดนตรีกับลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ บ้านของคุณลุงอยู่ที่นี่  เดี๋ยวไปบ้านลุงสุเวศน์กันเลย



            นายบอนรู้จักลุงสุเวศน์ครั้งแรก เห็นจากทีวีช่องอีสาน ในรายการบ้านศิลปิน   ที่มาร้องเพลงในรายการกับไก่ แมลงสาบ แล้วเคยเห็นบนเวทีพันธมิตรหนึ่งครั้ง และได้ฟังผลงานเพลงชุดเกษตรโยธินชุด 1 และ 2 ของศิลปินคู่หูคู่ซี้ดนตรีที่อิสระ สุเวศน์+  ไก่  คุณไก่ เล่าเรื่องลุงสุเวศน์ให้ฟังอยู่บ้าง ว่าลุงสุเวศน์สนใจพระเครื่อง เคยเอาพระไปให้เข้ากรอบ  ทำงานเพลงร่วมกันยังไงบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรก ที่จะได้เจอตัวจริงของ "สุเวศน์ ภู่ระหงษ์"






            คุณไก่ ขับรถไปตามถนน ผ่านย่านตัวเมืองเก่าจันทบุรี ขับออกนอกเขตเทศบาล มาถึงถนนสุขุมวิท แยกแสลง ( แสลง อ.เมืองจันทบุรี จันทบุรี  ) ขับไปเรื่อยๆ เข้าหมู่บ้าน มาถึงบ้านหลังหนึ่ง ต้นไม้ร่มครึ้ม เห็นไกลๆแว๊บแรก ใช่เลย ลุงสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ถือกีตาร์นั่งอยู่ที่โต๊ะในบริเวณบ้าน เดินลงจากรถเข้าไปสวัสดี ลุงสุเวศน์ต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดี บอกให้ทำตัวตามสบาย คุณไก่ เอาตะกร้าผลไม้มาวางใกล้ๆ บอก หยิบกินได้เลย เอาเปลือกทิ้งลงตะกร้านี่แหละ


            รอบๆตัวบ้าน ปลูกต้นไม้เยอะ กินได้หลายอย่าง ตัวบ้าน ลุงสุเวศน์ก็ลงมือต่อเติม ทำเองหลายอย่าง เพื่อความพอใจจะทำให้ตรงกับที่ต้องการจริงๆ บนผนังตรงที่ลุงสุเวศน์นั่งอยู่ มีแผ่นที่เขียนบทกวีด้วยลายมือแผ่นใหญ่ มีเนื้อเพลง มีกีตาร์วางอยู่ ลุงสุเวศน์บอกว่า  กำลังซ้อมเล่นกีตาร์  พอคุณไก่บอกว่า นายบอนยังไม่ได้กินข้าวเช้า ลุงสุเวศน์ก็เลยชวนทานข้าวด้วยกันเลย ขนน้ำพริกหลายถ้วย ครบรส ผัก ปลา เนื้อ สารพัด นั่งกินข้าวกัน 3 คนตอนนั้นเลย


            ทานข้าวเสร็จ 2 ศิลปินคู่หูคู่ซี้ ก็ช่วยกันแต่งเพลงที่จะนำไปร้องในช่วงบ่าย ที่ อ.แหลมสิงห์ จันทบุรี แต่งกันสดๆในตอนนั้น มีเอกสาร- ข้อมูลวางข้างๆ ลุงสุเวศน์ได้เขียนบทกวี ลงในเอกสารจดหมายข่าวแล้วหลายฉบับ มีผลงานเผยแพร่ทางอินเตอร์เนตด้วย นายบอนเลยจดที่อยู่เวบไซต์นั้นไว้


            ศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคประชาชน จ.จันทบุรี
            ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชนจังหวัดจันทบุรี (ชื่อในเวบ ศตจ.ปปช. จันทบุรี)
                  " ทุกปัญหาเราจะสู้ เคียงคู่ประชาชน"
            http://www.stj-public-chanthaburi.com/
                  

            suwet musician




            ลุงสุเวศน์บอกว่า เป็นวิทยากร หลายที่ พอจะจดข้อมูลใส่สมุด ลุงสุเวศน์ก็เลยหยิบแผ่นกระดาษที่มีข้อมูล การศึกษา ประวัติ ผลงานมาให้นายบอนซะเลย แล้วหยิบแผ่นซีดีชุด พระภูมิพล ผลงานเพลงเทิดพระเกียรติ ที่ได้รับโล่ศิลปินดีเด่นจากสภาวัฒนธรรมมาให้อีกด้วย


            suwet musician




            ข้อมูล ประวัติ และผลงานของ สุเวศน์ ภู่ระหงษ์

             suwet musician

          

            วันที่เกิด 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2487
            สถานที่เกิด ต.น้ำเต้า อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
            ที่อยู่ปัจจุบัน 6/1 หมู่ 2 ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000

            การศึกษา  - ชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนวัดน้ำเต้า อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
                        - มัธยมปลาย จาก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อ.เมือง จ.จันทบุรี
                        - จบการอบรม วิทยากรกระบวนการ จาก สถาบันพัฒนาประชากร และสังคม CIVICNET

            ประวัติการทำงาน
                        -  ประธานสภาวัฒนธรรม ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี
                        - อดีตประธานสหพันธ์วิทยุชุมชน ภาคตะวันออก ปี 2546
                        - ประธานวิทยุชุมชน จังหวัดจันทบุรี ปี 2545 - ปัจจุบัน
                        - รองประธานศิลปินพื้นบ้าน จังหวัดจันทบุรี
                        - กรรมการศูนย์ต่อสู้เอาชนะความยากจนภาคประชาชน จังหวัดจันทบุรี ฝ่ายสื่อ- วัฒนธรรม
                        - วิทยากร กองทุนหมู่บ้าน / การเมืองภาคพลเมือง / เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปปส.

            ผลงาน    - ประพันธ์เพลง พระภูมิพล
                                              คืนชีวิตให้แผ่นดิน
                        - ร่วมประพันธ์เพลง "ชุดม้าก้านกล้วย" ชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2
                        - ร่วมประพันธ์เพลงรณรงค์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ให้กับสำนักนายก

            ปัจจุบัน   - ทำวงดนตรีเพื่อชีวิต วง "คู่หูคู่ซี้ดนตรีที่อิสระ" ร่วมกับ คุณวัลลพ พลเสน (ไก่ แมลงสาบ)
           
            เกียรติประวัติ
                        - ปี 2544 ได้รับโล่ ศิลปินดีเด่น จังหวัดจันทบุรี สาขาการแสดงขับร้อง และประพันธ์เพลง จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (ในผลงานเพลงชุดเทิดพระเกียรติ พระภูมิพล)
                        - ปี 2547 ได้รับโล่พระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จากมิวสิคเพลง "คืนชีวิตให้แผ่นดิน"
                        - ปี 2552 ร่วมผลิตผลงานเพลง "ชุดเกษตรโยธิน" ร่วมกับคุณวัลลพ พลเสน และนำมาสเตอร์เพลง "ชุดเกษตรโยธิน" ถวายแด่ สเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 19 ต.ค.2552 ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี



                ++++++


            หลังจากทั้งคู่ช่วยกันแต่งเพลง "ตัดไฟแต่ต้นลม" จนเสร็จ คุณไก่ ก็ขอตัวออกไปที่พักในเมือง นายบอนรออยู่ที่บ้านลุงสุเวศน์ ท่านก็ได้เล่าเรื่องต่างๆให้ฟังหลายเรื่อง คุยเรื่องเพลงที่เขียน แล้วก็หยิบเนื้อเพลงเอามาร้องให้ฟังสดๆ โอกาสแบบนี้ หายาก เลยหยิบกล้องวิดีโอ บันทึกไว้ ลุงสุเวศน์เล่าถึงที่มาของการเขียนเพลงพลังใจ แล้วร้องให้ฟังแบบสดๆ


             * สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ กับ 3 บทเพลงที่ร้องให้ฟังที่บ้านกร-เพลง ที่ ต.แสลงพันธุ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อ 16 ส.ค.2553  คือ 1.พลังใจ 2. พลังชุมชน  3. สุเวศน์เอ๋ยปลงรึยัง พร้อมกับเล่าเกร็ดที่มาของการแต่งเพลงแต่ละเพลงอีกด้วย




  
            เพลงพลังใจ เพลงที่เขียนเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกด้านบวกกับทุกๆคน

            เนื้อร้อง- เพลงพลังใจ
            "ช่วยเป็นกำลังใจ มอบใจให้แก่กัน ผูกใจให้สัมพันธ์
            รักกันตลอดไป จะไม่หนีไปไหน ร่วมใจไปด้วยกัน

            จะเดินบนเส้นทาง สรรสร้างในสิ่งดี จะนานซักกี่ปี
            เรานี้จะร่วมกัน ร่วมกันคิดร่วมกันฝัน ให้วันเป็นของเรา

            หากขาดกำลังใจ แม้ใครเพียงสักคน พวกเราจะนำคน
            ช่วยกันช่วยแบ่งเบา จะเติม เติมให้กับเขา แม้เราจะเหนื่อยล้า

            พวกเราจะก้าวไป ก้าวไปบนเส้นทาง ที่ใจมีพลัง
            แม้ทางจะสุดตา จะเรียกร้องจะมองหา หาความยุติธรรม

            จับมือกันหรือยัง  สัญญากันให้ดี ห่วงใยกันซักที
            วลีที่กล่าวนำ จะจารึกและจดจำ น้ำคำที่เอ่ยมา"


            ฟังลุงสุเวศน์ร้องสดๆแล้ว เกิดความรู้สึกที่อบอุ่น จริงใจ แม้จะเล่นดนตรีให้จังหวะอย่างง่ายๆ แต่ความหมายอบอุ่น จริงใจเหลือเกิน


            ต่อเนื่องกับเพลง พลังชุมชน  ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นสดๆ เมื่อเพลงที่มีคนแต่งมา ใช้ไม่ได้  อย่างที่คุณลุงเล่าในวิดีโอ เลยต้องแต่งเพลงนี้ขึ้น

            เนื้อร้องดังนี้           

            " พลังชุมชน พลังของแผ่นดิน  
            ปกป้องท้องถิ่น แผ่นดินที่เป็นของไทย
            ข้าคือเจ้าของ กู่ร้องให้มันก้องไกล
            ใครจะมาหยิบเอาไป เรายอมไม่ได้แน่นอน

            กู่ร้องก้องดัง ให้ฟังกันทั่วไทย
            สิทธิเสรี อยู่ไหน เปิดใจให้เห็นกันก่อน
            แม้คลื่นความถี่จะมีกันซักกี่ตอน
            ทั้งที่ชุมชนเดือดร้อน.... กันอยู่ร่ำไป

            สงสารคนจน เป็นคนบ้านนอกคอกนา
            ไม่มีแม้แต่เวลา ที่จะมาแบ่งสรรปันให้
            ถูกกีด ถูกกัน โธ่เอ๋ย ไม่มีน้ำใจ............"


            และมาถึงเพลง "สุเวศน์เอ๋ยปลงรึยัง" เพลงที่ลุงสุเวศน์ แต่งในขณะที่รอคุณไก่ แมลงสาบ ที่โรงแรมเจริญรัตน์ ชลบุรี รอนานกว่าชั่วโมงแล้ว ไม่มาสักที ระหว่างที่ยืนรอที่ตู้โทรศัพท์ ก็แต่งเพลงนี้ออกมา

           
            "สุเวศน์เอ๋ย สุเวศน์เอ๋ย  สุเวศน์เอ๋ย  สุเวศน์เอ๋ย  ปลงรึยัง
        ร้องเพลงมาตั้งแต่หนุ่มยันแก่  ร้องจนย่ำแย่ละก็ไม่เห็นจะดัง
            ขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้  ไปไหนก็ไปเพราะอยากจะดัง
        บางครั้ง ท้องหิว ใส้กิ่วหัวโต    โซซัดเซโซ โถอนิจจัง...."
      

            นั่นคือ เนื้อร้องบางส่วน เข้าไปฟังในวิดีโอแบบเต็มๆ จะเข้าใจถึง ชีวิตของศิลปินคนนี้ในช่วงเวลาที่แต่งเพลง แถมยังแฝงปรัชญาชีวิตที่ค้นพบ







            เพลง อยู่ดีวิถีไทย ในวิดีโอนี้
            " อยู่ดีกินดี นำวิถีแบบไทยไทย ปู่ย่าตายายสอนเราไว้แต่นมนาน
            เครื่องบ้าน อาหารไทย สืบสานไว้เถิดลูกหลาน
            เรียบง่ายไม่ฟุ้งซ่าน มาตรฐานคนไทย

            คิดดีทำดี อยู่อย่างคนมีน้ำใจ คนดีคิดแก้ไข ไม่ทำร้ายใจเบิกบาน
            สังคมจะดีได้ เรื่องน้ำใจซิสำคัญ มุ่งหมายใจประสาน เผื่อแผ่กันเถิดคนไทย

            รักษาขวานทอง อย่าให้ต้องบุบสลาย
            นำชาติสู่เส้นชัย ด้วยหัวใจไทยทั้งผอง
            เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน เพื่อทรัพย์สินแผ่นดินทอง
            เหนือใต้อีสานพี่น้อง ตก ออก ต้องปรองดองกัน"                       







            เพลงปี ๒๔๗๕ ไทยได้ประชาธิปไตย

            "ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ปี๒๔๗๕ ไทยได้ประชาธิปไตย
            พระปกเกล้าทรงประทาน ให้คนไทย ๗๘ปีผ่านไป สำนึกคนไทยไฉนกัน
           
            ประวัติศาสตร์ อาจให้เรารู้ได้  เรื่องประชาธิปไตย หดหายหรือเบ่งบาน
            หนทางแม้ยาวไกล ก้าวไปเพื่อค้นหา สันติภาพนำสู่ประชา
            เพื่อวันข้างหน้า เพื่อลูกหลานไทย
           
            ประวัติศาตร์ก็คือตำราเล่มหนึ่ง อ่านให้ลึกซึ้ง จิตเป็นกลางไม่ว่าข้างไหน
            เคารพความคิดที่ต่างจิตต่างใจ ร่วมสร้างประชาธิปไตยให้สดใสในขวานทอง"

            การเขียนเพลงของลุงสุเวศน์ ไม่ได้เขียนเพื่อขาย แต่เป็นการเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวเอาไว้


            เพลง เด็กเอ๋ย เด็กน้อย ...เพลงนี้ ลุงสุเวศน์บอกว่า นำไปใช้ร้องตอนเป็นวิทยากร อบรมเด็กนักเรียนชั้น ป.1 - ป.5 ทำเอาเด็กๆร้องไห้น้ำตาไหล และลุงสุเวศน์ ยังมีแนวคิดที่จะขยายผลต่อไป โดยจะทำงานเพื่อสร้างสำนึก เพื่อให้สังคมดีขึ้น ซึ่งคงได้ฟังแนวคิดดีๆ จากในวิดีโอ


            หลังจากเล่าถึงบทเพลงนี้แล้ว ลุงสุเวศน์เล่าเรื่อง การสอนให้คนร้องเพลง ถ้าจะร้องเพลงให้ดีต้องร้องเสภาให้เป็น ว่าแล้ว ลุงสุเวศน์ก็ร้องเสภา บูชาครูให้ฟัง หลังจากเพลง เด็กเอ๋ย เด็กน้อย

            ".เอย................... สิบนิ้วน้อมพนม ก้มเกศา
            กราบเท้าพระครูบา ท่านทั้งหลาย  ผู้ประสิทธิ์วิชาศิลปะไทย
            ทั้งสืบทอด ทำนองไทย กลเม็ดเด็ดพรายให้พร้อมสรรพ
            ส่งและรับลีลา ให้แตกฉาน  ศิษย์รำลึกถึงพระคุณ ครูอาจารย์
            ก่อนที่จะเริ่มงาน..การแสดง.."


            ลุงสุเวศน์ ร้องเสภา ได้ไพเราะมากๆ  แล้วแนะนำ การใช้เสียงร้องที่มีชีวิตชีวา กับคำ "เจ้านกน้อย" ร้องสดๆ ระหว่าง การร้องเพลงธรรมดา เทียบกับการ ร้องเสภา ซึ่งให้ความรู้สึกที่มีชีวิตชีวามากกว่า..เรียกว่า สอนกันสดๆ ผ่านวิดีโอนี้กันเลย


            เดิม ลุงสุเวศน์ เป็นคนอยุธยา ได้พื้นฐานการขับร้องเพลง และแต่งเพลงมาจากที่นั่น ช่วงหนึ่งของชีวิต ได้ทำวงดนตรีลูกทุ่ง แต่เมื่อ 9 สค.2513 ก็ย้ายมาอยู่ที่จันทบุรี ซึ่งลุงสุเวศน์เล่าให้ฟังในวิดีโออย่างสนุกมากๆ

            ช่วงที่เรียน กศน. หลายวิชา ครูผู้สอนให้ ลุงสุเวศน์ขึ้นบรรยายแทน มีคำถามว่า ลุงสุเวศน์ ทำไมถึงเขียนกลอนเร็ว ตรงประเด็นมากๆ มีการเตรียมตัวยังไงซึ่งลุงสุเวศน์ ตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายคนทึ่ง อย่างที่ได้ยินในวิดีโอ  เรื่องการทำงานเพลง ในอัลบั้มชุด วิทยุชุมชน เมื่อคิดประเด็นได้ ลุงสุเวศน์แต่งเพลงทั้งอัลบั้ม (10 เพลง) ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เสร็จทั้งอัลบั้ม ซึ่งถ้าดูเนื้อเพลงที่ผ่านมา บางเพลง ไม่น่าจะแต่งออกมาได้ เพราะมีคำยาก สำหรับการเป็นคำสัมผัสในเนื้อเพลง แต่ลุงุเวศน์บอกว่า "ต้องแต่งให้ได้ ยิ่งถ้าเป็นชื่อสถานที่ ถึงคำนั้นจะไม่สัมผัสในกลอนแปด หาคำเชื่อมยาก เชื่อมสัมผัสไม่ได้ ก็ต้องพยายามแต่ง จะหนีคำนั้นไม่ได้ ถ้าหนีก็จะต้องหนีตลอดชีวิต"




           มาถึงวิดีโอช่วงนี้ ลุงสุเวศน์จะเล่าประสบการณ์ชีวิต เกร็ดความรู้จากประสบการณ์ต่างๆ

            - เล่าเรื่องตอนเปิดมหาวิทยาลัยชีวิต เข้าไปสมัครเรียน เพื่อจะได้รู้จักการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ พอเข้าไป ยังไม่ทันได้เรียน บรรดาครูอาจารย์เห็น ก็บอกว่าได้อาจารย์อีกคนแล้ว ให้เป็นอาจารย์สอนด้านวัฒนธรรม
            - รู้แต่ความรู้ไม่เป็นระบบ ลุงสุเวศน์เลยคิดจะไปเรียน
            - ให้คาถาที่จะทำให้เรียนเก่ง
            - นักศึกษาปริญญาโทนิเทศศาสตร์ ทำเพลงออกมา 1 อัลบั้ม ใช้งบประมาณเท่าไหร่
            - คำแนะนำ อย่าเขียนคำง่ายๆให้เป็นกวี แต่เพลงควรต้องเป็นกวี


            ว่าแล้ว ลุงสุเวศน์ ก็หยิบยก บทกวีที่แต่งให้กับ  ชาว จ.ตราด ที่มี ตัว "ต" ที่ดูคล้ายกับ จะเขียนยาก แต่งยาก ลุงสุเวศน์ เลยเขียนบทกวีออกมาซะเลย ขอหยิบยกจากในวิดีโอออกมาบันทึกไว้ ดังนี้

                ....พี่น้องเมืองตราดโปรดฟังผมต่อ
            เมืองตราดเจอตอ จะต่อต้านไหม
            ไอ้ตอที่ว่า ฟังแล้วน่าตกใจ
            มันเป็นตอตาย โหดร้ายจริงๆ

                เรามีศาสตรา คือกีตาร์ต่อต้าน
            ไม่ใช่ตอตาล เป็นแค่หญ้าต้อยติ่ง
            คนตราด สู้ตาย ทั้งชายและหญิง
            คนตราด คนจริง ไม่ทอดทิ้งกัน
                เรามิใช่ตื่นตูม เรามิใช่ ตุ่มแตก
            คนตราด ขอแลก คนตราดขอห้าม
            ไตร่ตรองเตรียมตัว แล้วจะติดตาม
            ตักเตือน อย่าทำ นำไฟฟ้านิวเคลียร์

                เข้ามาเมืองตราด เรามิอาจรับได้
            เตือนเป็นครั้งสุดท้าย ถอยไป หยุดเสีย
            คนตราด ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
            จะต่ำต้อยต่ำเตี้ย เราก็จะไล่ตำ
                ออกไป ออกไป ออกไป ไอ้ตู้
            เพราะเอ็งก็รู้อยู่ อย่ามาตู้ตาต่ำ
            สิ่งที่เป็นพิษภัยจำไว้ อย่าทำ
            ตักเตือน ตอกย้ำ นำนิวเคลียร์ออกไป
            (สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ : ประพันธ์)

                หลังจากพูดถึงบทกวีนี้ให้ฟังแล้ว ลุงสุเวศน์ก็พูดถึง

            - สอนวิธีเขียนเพลง การปูทาง นำทางเข้าสู่เนื้อหา และการใช้คำ
            - เล่าเรื่องนักปราชญ์นักพูด ที่มีคนมาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ แต่ไม่รับ คนนั้นเลยติดตามไปทุกจังหวัด จนในที่สุด หยิบยกคำสอนที่มีคุณค่าที่สุดในการแสวงหาความรู้ (ฟังกันชัดๆในวิดีโอ)
            - "เห็นเขียนบทกลอนเก่ง อยากเก่ง ก็ต้องหาคนเขียนกลอนเก่ง แล้วต้องไปหาอีก ถ้ามีความตั้งใจสูง จะพบกับความสำเร็จทุกคน"
            -  ทุนที่สำคัญที่สุด คือ ทุนที่สมองกับหัวใจ
            - ถ้ามีใครบอกว่าเริ่มต้นที่ศูนย์ นั่นคือ คนที่โง่ที่สุดในโลก ความจริง ไม่ใช่หมายถึงงบประมาณนะ ยกตัวอย่างถ้าอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุ คุณมีวิทยุฟังทุกวันเลย เธอฟังกรมประชาสัมพันธ์สิ รู้ใช่มั้ยว่า ใบอนุญาติต้องออกมาจากกรมประชาสัมพันธ์ เธอฟังเค้าพูด เพราะคนเหล่านั้น เป็นคนที่ได้รับใบอนุญาติทุกคน แล้วก้เริ่มพูดตามเค้า....วันนี้เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่.......   จำคำพูดเค้า วรรคตรงไหนอย่างไร เสียงหนักเบายังไง เอาเทปแกะคำพูดแล้วก็อ่านตามเค้า พูดถึงพระเทพยังไง องค์ไหนยังไง เอามาหมด ต้องทำอย่างนั้น ถ้าสนใจศึกษาค้นคว้า...


            หลังจากพูดมาถึงตรงนี้ ก็ใกล้จะถึงเวลา 12.00 น. ลุงสุเวศน์เลยให้นายบอนไปอาบน้ำ หาผ้าขาวม้ามาให้ และให้คุณแม่บ้าน (คุณกร) ไปซื้อกาแฟเย็น โอเลี้ยงมา 2 กระติก ราวเที่ยงครึ่ง คุณไก่ก็กลับเข้ามา คุณซันตามมาด้วย พอจอดรถแล้วก็ขนถุงเสื้อผ้าที่ซื้อมาลงจากรถ คุณซันซื้อเสื้อผ้าจะเอาไปขายในร้าน บ้านศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน แต่ทว่าช่วงนี้เดินสายรับงานตลอด ตั้งแต่เจอกันครั้งก่อนเมื่อ 2 ส.ค.2553 คุณซันกะคุณไก่ ยังไม่ได้กลับบ้านที่พัทยาเลย จาก กทม.ไปงานที่สระบุรี- เชียงราย- ตราด - จันทบุรีจนถึงวันนี้ แต่หลังจากเสร็จงานที่เวที อ.แหลมสิงห์ จะกลับไปนอนที่พัทยา ก่อนจะเดินทางไปที่พิษณุโลกต่อไป


            เหตุการณ์หลังจากนั้น
            - แวะไปที่ห้องอัดเสียงของคุณธนกร ศรีวรนันท์ ไปเอาสปอร์ตแนะนำตัว และฟังเพลงหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ที่แต่งขึ้น
            - ขึ้นเวที แสดงดนตรี ร่วมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี


            เวทีเลิกตอน 2 ทุ่ม ก่อนจะออกจากบริเวณงาน คุณลุงสุเวศน์ และคุณไก่ ได้มีโอกาสพูดคุยทักทายกับ นายก อบต.หนองชิ่ม และลุงสุเวศน์ได้มอบซีดี ชุด พระภูมิพล ให้นายก อบต.ไว้ด้วย หลังจากนั้น คุณไก่ ก็พาทีมงานไปแวะกินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารมื้อเย็น ที่ร้านแถวสี่แยกสำนักงานเทศบาลตำบลพลิ้ว ก่อนที่จะแยกย้ายกับนักดนตรีที่นั้น แล้วแวะมาที่บ้านลุงสุเวศน์ เก็บกระเป๋าแล้ว เดินทางกลับมาพัทยา ถึงตอนตี  1

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิดีโอบันทึกการแสดงสด หว่าง ซอหวาน นักดนตรีวงแมลงสาบ ร้องเพลงบนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็ก ที่จันทบุรี เมื่อ 16 ส.ค.2553


            เมื่อมือสีซอเสียงหวาน ร้องเพลงบนเวที น้าหว่าง ซอหวาน ที่เล่นซอให้กับวงดนตรีของ เฉลิมพล มาลาคำ และอีกหลายวง เมื่อมาเล่นดนตรีให้วงแมลงสาบ บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็กที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี  "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการโรงงานถลุงเหล็ก"  ในตอนค่ำวันที่ 16 ส.ค.2553 คุณไก่ แมลงสาบ ยกไมค์ให้น้าหว่าง ขับขานเพลงเก่าๆ พร้อมสีซอคู่ใจ





            วิดีโอบันทึกการแสดงสดที่หาชมยากนี้ กับการขับขาน 2 บทเพลงอมตะ
เพลง เสียงซอสั่งสาว..

            "เสียงซออ้อนออแว่วหวาน
โอ้แม่จอมขวัญ จำเสียงซอได้บ่นาง
ว่าผู้ได๋เขาสีฝากลมมา
(ว่าผู้ได๋เขาสีฝากลมมา)
บ่ลืมสัญญา จำได้แน่นอน
."


และอีกบทเพลง ..."ชมทุ่ง"


            "เห่ เฮ้ ฮาฮ้า เสร็จจากงานนา แล้วเมื่อเวลาเย็นๆ เป่าขลุ่ยแล้วพาเจ้าทุยเดินเล่น ลมพัดเย็นๆมาเดินเล่นกันตามคันนา....."

67 ภาพบรรยากาศจากหลังเวทีพันธมิตร ในช่วงต้นของการชุมนุม 193 วัน ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ รอบทำเนียบรัฐบาล เมื่อ มิ.ย.2551

            ภาพบรรยากาศเบื้องหลังเวทีพันธมิตร กับเหล่าบรรดาศิลปินเพื่อชีวิต , แกนนำ  ผู้ปราศรัย พิธีกร และทีมงาน ที่ทำงานกันหลังเวทีในช่วงเวลาแห่งการชุมนุม ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2551 จากทีมงานเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต , กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน นำมาแบ่งปันให้ชมกัน เพื่อร่วมรำลึกถึงการต่อสู้ในครั้งนั้น



            ดูภาพแล้ว จำได้หรือเปล่าว่า ที่เห็นแต่ละคนในภาพ ที่หลังเวที เป็นใครกันบ้าง ...



pantamitr photo


pantamitr photo


pantamitr photo


pantamitr photo


pantamitr photo


pantamitr photo


คุณสนธิ กับ คุณสรัญญา อรรคราช

pantamitr photo


pantamitr photo


พี่หงา และพี่หว่อง คาราวาน


วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บันทึกการแสดงสด เพลงฉี่บริสุทธิ์ + เดิน เดิน เดิน ของ วงซูซู เศก ศักดิ์สิทธิ์ ไก่ แมลงสาบ สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ที่ จ.ตราด เมื่อ 8 ส.ค.2553

            การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ จ.ตราด ในการชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ งานนี้มีศิลปินเพื่อชีวิตอย่าง วงซูซู , เศก ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้ง ไก่ แมลงสาบ และสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ขึ้นขับกล่อมบนเวทีอีกด้วยซึ่งศิลปินกลุ่มนี้ ได้แต่งเพลงใหม่ เพื่อใช้ในการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย


            และนี่คือ  1เพลงใหม่ ที่ขับร้องบนเวทีต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเพลงที่ชื่อว่า "ฉี่บริสุทธิ์"






            นี่คือ บางส่วนของเนื้อเพลงนี้
            "เราอยู่ของเราดีๆ ไม่เคยไปฉี่ใส่หัวใคร เราทำมาค้าขาย จริงมั้ยเล่าคนดี...."

            "..เขามาตั้งโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้อากาศเราเสีย....."

            "...ขอบารมี องค์หลวงพ่อคง  ขอคุ้มครองป้องภัย เสริมหนุนกำลังใจ สู้ต่อไปเพื่อชุมชน....."







            และอีกเพลงหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคย เพลง เดิน เดิน เดิน ของวงซูซู ก็ถูกนำมาขับร้องบนเวทีนี้เช่นกัน

เพลงเศรษฐกิจพอเพียง...การหยิบหลักปรัชญามาร้อยเรียง..จากในหลวงสู่ชุมชนท้องถิ่น (sufficiency economy)

           
            "ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง พ่อสอนให้เราไม่ต้องเสี่ยง
รู้จักพอเพียงพอใช้ วิเคราะห์ดูว่าหลักปรัชญาเป็นเช่นไร กรอบความคิดทฤษฎีใหม่ รู้ซึ้งเข้าใจจนเกิดศรัทธา"


   

            พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลายคนต่างเข้าใจต่างกันไป ทุกคนบอกว่า เรื่องนี้ดี มีประโยชน์ แต่เมื่อพูดให้คนอื่นฟังแล้ว  คนฟังไม่เข้าใจ ทั้งที่ความจริงแล้วหลักปรัชญานี้ ทุกคนต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองว่า หลักปรัชญานี้มีรายละเอียด เป็นอย่างไรกันแน่ แล้วจะนำมาใช้ให้เหมาะกับแต่ละคนอย่างไร

            มีเอกสารข้อมูล หนังสือที่ให้รายละเอียดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อยู่มากมาย อ่านแล้ว หลายคนเข้าใจต่างกัน แต่สำหรับคนที่ศึกษาข้อมูลจนเข้าใจสามารถอธิบายและปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในอัลบั้มชุด พระภูมิพล โดยสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ และวัลลภ พลเสน

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

12 คลิปวิดีโอจากเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ณ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เมื่อ 16 ส.ค.2553 "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก"


            การแสดงพลังของภาคประชาชนพี่น้องชาวเมืองจันท์ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 58 องค์กร, สมัชชาสภาองค์กรชุมชน และกลุ่มเครือข่ายจากจังหวัดตราด ระยองและจังหวัดใกล้เคียง ได้นัดแสดงพลังร่วมกัน เปิดเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2553 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป จุดนัดพบ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี มีประชาชนเดินทางมาร่วมลงชื่อ แสดงพลังคัดค้านโรงงานถลุงเหล็ก โดยเดินทางมาตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมายเป็นจำนวนมาก มีนักวิชาการ แกนนำชาวบ้าน ตัวแทนภาคประชาชน ขึ้นเวทีพูดเปิดใจ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็กอย่างเข้มข้น

            นี่คือ การเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของภาคประชาชน กับวิดีโอบรรยากาศภาพจริง เสียงจริงในแต่ละช่วงสำคัญๆ บนเวทีคัดค้านที่ อบต.หนองชิ่มในวันนั้น กับข้อมูลความจริงจากพื้นที่ ที่สามารถคลิกชมและฟังกันได้แล้วครับ



บรรยากาศทั่วไป ก่อนเริ่มเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553






ตัวแทนเด็กนักเรียนจากโรงเรียนบ้านอีมุย ต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ดญ.ไพลิน พึ่งวทัญญู นักเรียนชั้น ป.4 ขึ้นอ่านข้อเขียนแสดงความคิดเห็นต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ร่วมด้วย ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนวัดหนองชิ่ม ดญ.สุชาดา , ดญ.อารียา และ ดช.จิม พูดถึงเรื่องการต่อต้านโรงงานถลุงเหล็ก บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553








2 ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นพูดบนเวที เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโรงงานถลุงเหล็ก พร้อมทั้งต่อสายโฟนอินกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม สอบถาม และขอคำยืนยันกับพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมให้ได้ยืนพร้อมกันในเวลานั้น บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553






คุณจิตรา แกนนำชาวบ้าน ขึ้นพูดเปิดใจบนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553





อาจารย์วศิน ยุวนะเตมีย์ จากคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ขึ้นพูดให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับผลร้ายจากโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553






อาจารย์ ลือชัย นักวิชาการคนสำคัญ ขึ้นพูดให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับผลร้ายจากโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553





นายธนกร ชาวแกลง นายก อบต.หนองชิ่ม เปิดเผยข้อมูลบนเวทีอย่างเข้มข้น บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553







นายก อบต.หนองชิ่ม และผู้นำท้องถิ่นที่มาร่วมงาน ร่วมกันประกาศปฏิญญาคัดค้านการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กร่วมกัน พร้อมร่วมกันร้องเพลงชาติในเวลา 18.00 น. บนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553






นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหากรณีมาบตาพุด จ.ระยอง ขึ้นปราศรัยบนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553











ครอบครัวลุงน้อย ใจตั้ง ขึ้นเปิดใจบนเวทีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ที่ อบต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี "หนองชิ่มบ้านฉัน ไม่ต้องการ โรงงานถลุงเหล็ก" เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาึคม 2553













เพลงแหล่อนัตตา บทเพลงแห่งสติและความจริงแห่งชีวิตที่ควรคิดได้ก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

            "อันชีวิตคนเราก็เท่านี้ เกิดมาทั้งทีมีวาสนา ประกอบร่างจนได้ร่างกายมา
เป็นสัญญาณถิ่นกำเนิด เกิดเป็นคน ก่อกำเนิดเกิดกลายเป็นมนุษย์ นับว่าดีที่สุดอย่าฉงน
เราเกิดมามีหรือจน ก็เป็นคน ครบถ้วนกระบวนความ...."


            หากกล่าวถึง "ไตรลักษณ์" ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ลักษณะสามัญ ๓ ประการของสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นเหมือนกฎธรรมชาติ ครอบงำสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ ประกอบด้วย อนิจจา ทุกขตา และอนัตตตา (หรือ อนัตตา)


           


            อนัตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัย พึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้. โดยที่ อนัตตา จะตรงข้ามกับ "อัตตา"มีความหมายว่า "ตัวตน" คือตัวของเรา ตัวของเขา ตัวตนของใคร หรือตัวตนของอะไร


            นี่คือความหมาย บทเพลงที่ชื่อว่า "อนัตตา" เพลงสุดท้าย จากอัลบั้มชุด พระภูมิพล(เทิดพระเกียรติ) ขับร้องโดย สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ เพลงที่หยิบยกคติหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มาร้อยเรียงเป็นบทเพลง ในแบบเพลงแหล่ ซึ่งเป็นลักษณะการร้องรำทำเพลงของไทยแต่โบราณ หรือหลายคนมักจะคุ้นเคยกับการแสดงธรรมเทศนาของพระสงฆ์ นี่คือ การร้องเพลงแหล่ของสุเวศน์ ภู่ระหงษ์ กับเนื้อหาที่สอดแทรกหลักปรัชญาความเป็นจริงของชีวิต


            suwet musician




            เมื่อหลายคนต้องโชคร้าย พบกับความสูญเสีย ทั้งจากอุบัติเหตุ เสียทรัพย์สิน เสียอวัยวะ หรือพบกับการเสียชีวิต หลายคนจึงจะเข้าใจถึงคำว่า อนัตตา ในเวลานั้น แต่ถ้าหากเรารู้จัก เข้าใจ กฏของไตรลักษณ์ เข้าใจหลัก "อนัตตา" คนเราย่อมใช้ชีวิตอย่างมีสติ และไม่ประมาทในการใช้ชีวิต


           
            สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ผู้ขับร้องเพลงนี้ ผ่านชีวิตมามากมาย หลายเหตุการณ์ เขียนบทกวี เขียนเพลงออกมามากมาย เช่นเดียวกับเพลง "อนัตตา" เพลงนี้ ที่เขียนสะท้อนเรื่องราวที่ได้สัมผัส รับรู้พบเห็น ร้อยเรียงเรื่องราว และแหล่ในแบบของตัวเอง สำหรับคนฟังเพลง ที่ฟังแล้วคิดตามบทเพลงที่ได้ฟัง ย่อมเก็บเกี่ยวสาระที่ผู้แต่งต้องการจะบอกต่อผู้ฟัง เพื่อจะได้มีหลักคิดเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสติ และไม่ประมาท ต่อไป


           

            เพลงอนัตตา
          สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ + วัลลภ พลเสน



            อันชีวิตคนเราก็เท่านี้ เกิดมาทั้งทีมีวาสนา ประกอบร่างจนได้ร่างกายมา เป็นสัญญาณถิ่นกำเนิด เกิดเป็นคน ก่อกำเนิดเกิดกลายเป็นมนุษย์ นับว่าดีที่สุดอย่าฉงน เราเกิดมามีหรือจน ก็เป็นคน ครบถ้วนกระบวนความ...

            จงเลือกสรรสนใจในทางดี เป็นบารมีแห่งตนเองคนเกรงขาม สร้างความดีเข้าไว้ น้ำใจงาม ผลจะตามความดี อบอุ่นใจ

            เมื่อเรามีเงินแล้ว บุญไม่ทำ เราจะเก็บเงินงำไว้ไฉน
ควรทำเสียแหละดี มีกำไร เพื่อจะได้เอาไปเป็นเพื่อนตน

            เมื่อเราดับชีวิตจิตวิญญาณ คงจะได้พบพานต่อมรรคผล
คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่เบื้องบน ไม่ต้องหาบไม่ต้องขนติดตนไป

            แม้จะอยู่ร่วมภพในโลกมนุษย์ ก็แสนสุดจะเป็นสุขและสดใส
ไม่มีทุกข์ไม่มีโศกและโรคภัย อายุก็จะได้ยั่งยืนนาน

            ให้อุตส่าห์รักษาอุโบสถ จะปรากฏโครงสร้างของสังขาร
ความเกิดแก่เจ็บตายลงวายปราณ คือไม่เป็นแก่นสารเหลือสักคน
            ครั้นเมื่อเรามอดม้วยมวยรกร้าง สิ่งที่จะช่วยได้คือกุศล
ช่วยค้ำจนหนุนนำจากเบื้องบน จะพาพ้นข้ามฟากจากโลกันต์ 
            อันร่างกายกายเกิดเหมือนเชิดหุ่น ทั้งบาปบุญหนุนนำตามประหาร ต้องอดทนทนทุกข์ทรมาน ไม่เป็นแก่นสารเหมือนตัวเรา

            เมื่อหมดลมหายใจลงวายปราณ จะทิ้งไว้เพียงสังขารที่เปื่อยเน่า แล้วกองรุมสุมไว้เอาไฟเผา กระดูกเป็นขี้เถ้าเคล้าดินทราย
            ช่างเป็นอนิจจัง แสนสังเวช ต้องทนทุกข์ทรเรศ เราทั้งหลาย เกิดมาแล้วใครบ้างที่ไม่ตาย เพราะร่างกายเรานี้ไม่จีรัง
            ให้อุตส่าห์เร่งสร้างทางกุศล จะพาตนสู่แห่งแสงสว่าง
เอาคำพระธรรมช่วยนำทาง ซาบซึ้งถึงนิพพาน กระนั้น....แล


           

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน