วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ โดย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

ผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ โดย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
(ว่าด้วยความทรงจำ และการระลึกถึง)

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

            "สถาบันที่สำคัญที่สุดที่ชนชั้นคนงานจะใช้เป็นพื้นฐานในการต่อสู้
            เพื่อจะได้ควบคุมประชาสังคมคือ พรรคการเมือง"
            (อันโตนิโอ กรัมชี.1977)

            หลังการตายของเขาไม่นาน ความคิดอ่าน และผลงานอันเป็นชุดข้อเสนอสำคัญของอันโตนิโอ กรัมชี (ปัญญาชนเพื่อประชาชนชาวอิตาเลียน) ได้รับความสนใจและเอาใจใส่อย่างน่าประหลาด ผู้คนต่างพากันขบคิดต่อ เพื่อหาทางออกจากความมืดมนและสิ้นหวัง ในวิกฤติทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่ระบบทุนนิยมครองความเป็นเจ้า
            อันโตนิโอ กรัมชี สรุปว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรของปัญญาชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้น ของตัวเองมากที่สุด
           
            ความข้อนี้หมายความว่า พรรคการเมืองของแต่ละชนชั้น โดยเขาทุ่มความสนใจเป็นพิเศษและอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อเสนอให้จัดตั้งพรรค การเมืองของคนจน อย่างที่เรียกว่า พรรคชนชั้นผู้ไร้สมบัติ
            กรัมชีอธิบายว่า พรรคที่ต่อสู้ทางเศรษฐกิจโดยมุ่งแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองเป็นหลัก อย่างเดียวนั้น จะไม่สามารถนำไปสู่การเอาชนะเพื่อควบคุมภาวะการนำ เพราะชนชั้นที่จะขึ้นมาควบคุมภาวะการนำได้จะต้องรู้จักเสียสละผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจของกลุ่มเพื่อที่จะก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นการต่อสู้ทางจริยธรรมและการเมืองเพื่อสามารถแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า ผลประโยชน์ของคนจนคือ ผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งหมด
            เขาเสนอต่อไปว่าพรรคการเมืองใหม่ (พรรคคนจน) มีความหมายกว้างกว่าองค์กรต่อสู้ทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ กล่าวคือ ยังจะต้องเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมและการศึกษา ในความหมายที่ลึกซึ้งจริงจังเพื่อทำหน้าที่รณรงค์ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ชีวิตส่วนตัวของมวลชน ช่วยมวลชนลบล้างโลกทัศน์ที่ถูกครอบงำจากนายทุน และเปลี่ยนแปลงพัฒนาโลกทัศน์ใหม่ของเขาขึ้นมาให้ได้

            เขาสรุปว่า สิ่งที่ต้องทำในเวลาเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงคนด้วยการปฏิรูปทางปัญญาและ ศีลธรรม หากขาดสิ่งนี้ พรรคและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (เล็กๆน้อยๆ) ก็จะเป็นเพียงมายาการที่ดำรงอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม
            อันโตนิโอ กรัมชี กล่าวเสมอว่า เขาให้ความสนใจพรรคการเมืองมากกว่าสหภาพแรงงาน (สมัชชน สมาพันธ์เกษตรกร คนจน และรวมเอ็นจีโอ) เพราะเขามองว่า สหภาพแรงงานเป็นองค์กรขั้นต้นๆ ที่มีข้อจำกัดในแง่แนวโน้มจะเน้นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

            ท้ายที่สุดเขาฟันธงว่า มีแต่การจัดตั้งเป็นพรรคเท่านั้นจึงจะมีองค์กรที่เป็นเอกภาพและเข้มแข็งนำพา ต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อชนชั้นผู้ไร้สมบัติได้
            ข้อสรุปของกรัมชีทั้งหมดที่กล่าวมาตอนต้นนี้ ตรงกับข้อเสนอสุดท้ายของปัญญาชนนักต่อสู้ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ความสมบูรณ์อันหมดจดของ "สุวิทย์ วัดหนู" ซึ่งจากพรากชั่วนิจนิรันดร์
            สุวิทย์ วัดหนู (หรือ ส.เชิดในเขตงานสุราษฎร์ธานี หรือ ส.โอในเขตงานใหม่ชุมพร) ที่ผมรู้จัก เขาไม่ควรถูกอธิบายว่าเป็นเพียงนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเฉกเช่นคนทั่วไป แต่เขาได้ออกแบบชีวิตให้อยู่ในฐานะ "ผู้กระทำกรารต่อประวัติศาสตร์" ชีวิตทั้งชีวิต เขาจะอยู่กับการจัดตั้ง การต่อสู้ และวิธีการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (เรียกรวมๆว่าความเชี่ยวกราก ) โดยฐานของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ

            ในชีวิตนักศึกษา เขาเป็นปัญญาชนแนวหน้าในตำแหน่งและบทบาท นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) บางแสน ช่วงปี  2516-2518
            อาชีพครู ในช่วงเวลานั้นปี 2518 บัณฑิตผู้นี้สามารถเลือกทำงานข้าราชการในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ซึ่งสามารถยกระดับสถานภาพของเขาได้ แต่เขากลับเลือกที่จะเป็นครูโรงเรียนช่างกลของเอกชน
            เขาออกแบบและวางตัวในฐานะผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์ ทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังเหตุการณ์ก่อนการล้อมปราบอันหฤโหดจะมาถึง 6 ตุลาคม 2519 ในตัวการ "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชน"

            จากนั้น เขาได้เดินทางสู่ป่าเขาเข้ากลุ่มอุดมการณ์ใหม่และวัฒนธรรมใหม่ (ในความหมายลึกซึ้ง) ในเขตงานภาคใต้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยรวม 8 ปีเต็ม (2519-2528) เขาเลือกที่จะเดินออกจากฐานที่มั่นเป็นคนสุดท้าย
            เขาให้สัมภาษณ์ในสื่อเอ็นจีโอ (thaingo.org) ว่า เขาไม่ผิดหวังกับพรรคปฏิวัติเลย ไม่เหมือนกับนักปฏิวัติปฏิกิริยาอื่นๆ ที่พอป่าแตกก็ออกมาเขียนหนังสือโจมตีพรรคและนักปฏิวัติรุ่นอาสุโวอย่างสาด เสียเทเสียเพื่อยกหางตนเอง
            เขากล่าวในสื่อนั้น อย่างภาคภูมิในพรรคเปี่ยมล้นเชื่อมั่นชัยประชาว่า "ไม่มีใครจะได้เจอประสบการณ์อย่างที่ผมมี คุณมีเงินกี่ล้านล้านบาทไปซื้อภูเขา จำลองป่า ก็ไม่มีวันได้รับรสชาติอย่างนั้น มันเป็นประสบการณ์พิเศษของคนรุ่นนั้น"

            หลังคืนสู่เมือง สุวิทย์ วัดหนู ก็เลือกที่จะทำงานกับคนจนเมืองในสลัมคลองเตยของมูลนิธิดวงประทีปและพบรัก แต่งงานกับสุวรรณี
            ในปี 2532 เขากับเพื่อนได้ร่วมจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ขึ้น โดยเขาเลือกวางตนเองในฐานะผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์กับชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (จริงๆ) งานที่เขาชื่นชอบและมีพลังมากคือ ร่วมต่อสู้กับชุมชนสลัมซึ่งถุกไล่ที่ไล่รื้อ ชุมชนใต้สะพานและคนไร้บ้าน จนในที่สุดก็ให้กำเนิดศูนย์รวมพัฒนาชุมชน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค

            ในช่วงปี 2534-2550 แรงบันดาลใจและพลังความมุ่งมั่นอันมหาศาลของเขา ได้ผลักดันด้วยอัตราเร่งสูงสุดให้สุวิทย์ วัดหนู ไปทำงานหนักอึ้งในหลายบทบาทหลายหน้าที่
            ในเอ็นจีโอสายอุ่นและสายร้อน เขาเข้าไปทำงานในฐานะแม่บ้านและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เครือข่ายเดือนตุลา และ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
            ในชนบท เขาเลือกทำงานกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สมัชชาคนจน (เกษตรกรและกรรมกร) และที่สำคัญเขาเป็นผู้ร่วมแรงสำคัญ ในการจัดตั้งสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน เพื่อรวมพี่น้องที่ได้รับผลประทบจากโครงการจัดสรรที่ทำกินกับราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) หรือการไล่รื้อในภาคชนบท
           
            เขาสนใจเป็นพิเศษในเรื่องงคนจนโดยเฉพาะชนชั้นผู้ไร้สมบัติ ผู้ถูกไล่รื้อในภาคเมืองและภาคชนบทในโครงสร้างส่วนบน อำนาจรัฐทั้งเผด็จการทหารและเผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์ สุวิทย์ วัดหนู มีบทบาทสำคัญยิ่ง
            ก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้กล่าวไปแล้ว

            ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17-21 พฤษภาคม 2535 เอกสารประวัติศาสตร์ในชื่อบันทึกพฤษภา 2535 ปากคำประวัติศาสตร์จากเลือดเนื้อและน้ำตา (2545 โดยไศล ภูลี้) ได้บันทึกการประท้วงหน้ารัฐสภาไว้ว่า "...ตั้งแต่คืนนั้นเป็นต้นมา เวทีปราศรัยประณามนายกฯคนนอกได้เปิดฉากบริเวณหน้ารัฐสภาอย่างดุเดือด มีผู้ดูแลเวทีปราศรัยหลักได้แก่ เดช พุ่มคชา ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สุวิทย์ วัดหนู (หน้า 101)
            ก่อนแผนเผด็จศึกจัดตั้งองค์กรใหม่จาก ครป. เป็นสมาพันธ์ประชาธิปไตย เอกสารบันทึกไว้ว่า "...ระหว่างพักยกนี้ นายแพทย์เหงว โตจิราการได้วิ่งประสานกับตัวแทนฝ่ายองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจยุทธศาสตร์ประชาชนร่วมกัน  ทั้งเดินสายพูดคุยกับนายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, แก้วสรร อติโพธิ, สุวิทย์ วัดหนู, ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ, สมศักดิ์ โกศัยสุข และอภิญญา - แสวงรัตนมงคลมาศ เพื่อปรับขบวนการนำมวลชนให้เล็กลง และรวมอำนาจการตัดสินใจเข้าสู่ศูนย์กลางองค์กรร่วม...สมาพันธ์ประชาธิปไตย" (หน้า 159)

            หลังจาก รสช.จับแกนนำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไปคุมขัง ฝูงชนระส่ำระสายแตกกระเจิง เอกสารบันทึกไว้ว่า "...เห็นสุวิทย์ วัดหนูจากกลุ่มสลัม นำปราศรัย นำคนก่อตัวใหม่ มีประชาชนที่แตกกระเจิงมานั่งพักดื่มน้ำอยู่พยายามรวมตัวกันไม่นานนักก็กลาย เป็นกลุ่มใหญ่และส่งเสียงขับไล่สุจินดาออกไปๆ" (หน้า 270)
            นี่คงไม่ต้องอธิบายในความกล้าหาญของสุวิทย์ วัดหนู อดีตสหายพรรคปฏิวัติผู้เชี่ยวกราก

            ในเหตุการณ์โค่นล้มระบอบทักษิณ ผมเฝ้ามองปรากฏการณ์สนธิมานานพอสมควร ในที่สุดได้ตัดสินใจไปปรากฏตัวพร้อมมวลชนครูเสื้อเหลือง (คัดค้านการถ่ายโอนการศึกษาฯ) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เพื่อฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุมพินี โดยพิธีกรวันนั้น สำราญ รอดเพชร ได้เรียกขานชื่อผมว่าแอบซุ่มซ่อนเข้ามาร่วม
            หลังนั้นไม่นาน ปลายเดือนธันวาคม ผมกับสองผู้มีประสบการณ์ตรงในการโค่นล้ม รสช.คือ พี่ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และสุวิทย์ วัดหนู ได้ร่วมปรึกาากันอย่างเงียบๆ ที่บ้านพักหลวงในมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เพื่อหาทางออกให้กับสังคม ในที่สุดเราสรุปร่วมกันว่า ปรากฏการณ์สนธิเอาไม่อยู่โค่นล้มไม่ได้เพราะระบอบทักษิณได้หยั่งรากฝังลึกใน สังคม การครองความเป็นเจ้าในรัฐสภา องค์กรอิสระ การเงิน และสื่อของพวกเขา ทำให้เราต้องจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวใหม่ต่อสู้ในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พปป.) ซึ่งองค์กรชื่อนี้เคยจัดตั้งขึ้นในปี 2547 ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ท้องสนามหลวง (ก่อนครบวาระจะเลือกตั้งใหม่) แต่ไม่สำเร็จ
           
            ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รับไปประสานกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองและญาติธรรม สุวิทย์ วัดหนู รับงานไปประสานเอ็นจีโอและคนจนเมือง ส่วนผมประสานกับกลุ่มครูและเกษตรกรอีสาน
            ในวันที่ 12 มกราคม 2549 เราทั้งสามคนไปหารือและติดตามความก้าวหน้าในการจัดตั้ง พปป.ในงานประจำปีของสหายเขตงานอีสานใต้ที่สถูปวีรชนประชาชนโคกเขา อำเภอปะคำ บุรีรัมย์ ได้ข้อสรุปลงตัวร่วมมือจัดตั้ง
            ที่อนุสรณ์สถานวีรชน 14 ตุลาฯ (คอกวัว) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ประกาศจัดตั้ง พปป. จากเอกสารประวัติศาสตร์ (คำต่อคำเปิดตัว "พันธมิตรกู้ชาติ" สานภารกิจล้มระบบทักษิณ) สุวิทย์แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า

            "เราในนามเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ลานพระรูปทรงม้า..โฆษกเวทีจะมี 2 คนมีคุณสำราญ รอดเพชร ซึ่งทำหน้าที่เหนื่อยหนัก มายาวนานกับอีกคนคือ ผม สุวิทย์ วัดหนู สองคนจะเป็นโฆษกบนเวที นี่คือกิจกรรมแรกของเครือข่ายพันธมิตรฯ ที่จะร่วมจัดการชุมนุมเพื่อเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ประเด็นคือ ทำไมเราจึงคิดว่านายกฯ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เราจึงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก..."
            สุวิทย์ วัดหนู ทำงานหนัก เคร่งครัด รับผิดชอบไม่บิดพลิ้วปรุงแต่งมติข้อตกลง เขาทำงานหน้าที่โฆษกแนวหน้าปลุกมวลชนเดินทัพสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล และหน่วยยึดพื้นที่อย่างองอาจกล้าหาญ

            เขาไม่เคยเรียกร้องอะไร (โดยเฉพาะเรื่องเงิน) ซึ่งนับเป็นผลประโยชน์ได้ ให้ผมเห็นเลย
            หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สุวิทย์ วัดหนูเริ่มคิดเรื่องพรรคการเมืองใหม่อีกครั้ง คราวนี้เขาบอกว่าจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังเสียที
       
            เรื่องพรรคใหม่ พวกเราได้ประชุมร่วมกันหลายครั้ง หากจำไม่ผิด ปรึกษากันมาตั้งแต่ปี 2536 โดยประสานทุกสาย เกษตรกร คนจนเมือง กรรมกร ปัญญาชนและเอ็นจีโอบางกลุ่ม ทั้งพี่สมศักดิ์ โกศัยสุข บำรุง คะโยธา พี่พิทยา ว่องกุล และคนอื่นๆ
            ข้อตกลงคือ มอบให้คนสามคน พี่พิภพ ธงไชย ผม และสุวิทย์ วัดหนู ไปเดินเครื่องต่อ
            เราและกองเลขานุการแรกๆ เอางานเอาการมาก เดินสายไปพบมิตรสหาย ทั้งภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนขอความเห็น แต่ก้ไม่ได้ข้อสรุปลงตัว

            สุวิทย์ วัดหนู เปลี่ยนแนวคิดใหม่ หลังสิ้นภาระในพันธมิตรฯ เขาจะลาออกจากทุกงานเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ เขจะเป็นผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองของ ประชาชนให้จงได้ก่อนชีวิตเขาจะสิ้นสุด
            เขาเสนอให้เราคิดว่าน่าจะเป็นพรรคพีพีพี (The Poor People Party) ใจและสมองของเขาคิดเรื่องชนชั้นผู้ไร้สมบัติเสมอ

            ในเอกสารชิ้นสำคัญสุดท้ายก่อนจากพรากพวกเราไป เขาสรุปเหตุผลในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า "...สถานการณ์ทางสังคมพัฒนามาถึงจุดที่มีเงื่อนไขให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อ ค้นคว้า และดำเนินกิจกรรมอันจะนำไปสู่การเสนอทางออกและทิศทางการพัฒนาสังคมที่แตก ต่างจากแนวทางทุนนิยมเสรีใหม่ " โดยพรรคใหม่จะเป็นพรรคประชาชาติ พรรคมวลชน พรรคเคลื่อนไหว และพรรคจริยธรรม
            กรอบคิดของเขาเรื่องพรรค จะต้องเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมแห่งการเคลื่อนไหว และการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางปัญญาและศีลธรรมโดยฐานการรวมหมู่
            เขาไม่ประสงค์จะให้พรรคเป็นมายาการที่ดำรงอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม เหมือนพรรคนายทุนพรรคแล้วพรรคเล่า ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสูบทรัพยากรส่วนรวมและกลืนกินประเทศ

            ผมรู้จักสุวิทย์ วัดหนู ในปี 2517 ในคราวที่ผมประธานสภานิสิตถูกสั่งพักการเรียนฐานประท้วงขับไล่อาจารย์ที่มหา วิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม แล้วถูกย้ายด่วนมาเรียนที่ประสานมิตร เราทำงานร่วมกันในหลายเรื่อง เขาเป็นนายกองค์การนักศึกษา ส่วนผมเป็นประธานสภานิสิตกลาง (8 มศว.)
            ในช่วงที่เขาทำงานอยู่มูลนิธิดวงประทีป ผมก็ทำหน้าที่เลบาธิการสภาองค์การครูเพื่อสังคม (สคส.) จากนั้นมาเราทำงานและร่วมวางผังวางแผนกันแทบทุกองค์กรทั้งชนบทและเมือง
            แม้กระทั่งภารกิจในการตั้งพรรคและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

            ไม่ลังเลเลยที่จะกล่าวว่า ความมุ่งมั่น ความเชี่ยวกรากและหาญกล้าของเขา ทั้งในขบวนการ นิสิต นักศึกษา ครู สหายนักรบพรรคปฏิวัติ คนทำานสายคนจนเมือง เอ็นจีโอในคนจนชนบท องค์กรประชาธิปไตย คนเดือนตุลาปีกเอียงข้างประชาชน และผู้มีประสบการณ์สูงในการโค่นล้มรัฐบาลทรราช ฯลฯ เป็นความสมบูรณ์อันหมดจดของ "สุวิทย์ วัดหนู"

            เขาเป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว "พรรคใหม่" เป็นงานริเริ่มที่เขารังสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าทิ้งไว้ให้เราเป็นมรดก
            เรา...สำคัญอยู่ที่ว่าจะทำหน้าที่เช่นเขา สืบทอดเขา เป็นผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์ หรือไม่?

            หลับเถิดสหาย .. เพื่อนรัก... เราขอแสดงความรำลึกอันเปี่ยมล้น
            ด้วยความรักและศรัทธายิ่ง


ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วัน ที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน