วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยสร้างจากข้างล่าง โดย สุริยะใส กตะศิลา

(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

สุริยะใส กตะศิลา

            พี่สุวิทย์ วัดหนู ในคำนิยายของมิตรสหายเพื่อนพ้องน้องพี่และกัลยาณมิตรที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่อดีตกระทั่งเสียชีวิตไป เท่าที่ผมสดับตรับฟัง มีวาทกรรมแตกต่างกันไป ตามมุมมองหรือพื้นที่ของงานที่พี่สุวิทย์เข้าไปคลุกคลี ไล่เรียงมาตั้งแต่งานในขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคแสวงหา งานในป่าเขาหรือเขตงานในฐานะสหายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อเนื่องมาถึงงานในฐานะเอ็นจีโอหรือนักพัฒนา ซึ่งพี่สุวิทย์ทุ่มเทอยู่กับงานพัฒนาคนจนเมืองหรือสลัม กระทั่งงานรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
            ผมเองรู้จักพี่สุวิทย์ครั้งแรกในการต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 ในฐานะที่พี่สุวิทย์เป็นหนึ่งในทีมโฆษกบนเวที แต่ได้สัมผัสความคิดทางการเมืองจริงๆ ในช่วงงานรำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งตอนนั้นผมอยู่ปี 2 ม.เกษตรศาสตร์ ในช่วงนั้นมีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์และทางองค์การบริหารนิสิต ม.เกษตร หรือ อบก. ร่วมกับสโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ได้เชิญพี่สุวิทย์ วัดหนูไปเป็นวิทยากร ร่วมกับพี่สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงาน และ อ.ไกรศักดิ์  ชุณหวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มก.
            ตอนนั้นแม้ผมไม่ประสีประสาทางการเมืองอะไร แม้จะเพิ่งผ่านการต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมมาหมาดๆ ก็ตาม แต่มุมมองทางการเมืองของผมยังผูกอยู่กับการเมืองในเชิงระบบหรือเชิงงสถาบันเป็นที่ตั้ง การเมืองภาคประชาชนยังเป็นเรื่องใหม่ และอยู่นอกเหนือความสนอกสนใจของผม
           
            แต่เสน่ห์ของการเมืองภาคประชาชน ก็โน้มนำให้ผมต้องลุ่มหลงและตัดสินใจเลือกทุ่มเทและเอาจริงเอาจังในระยะเวลาต่อมา  โดยผมเลือกที่จะตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มตัวกับชมรมบำเพ็ญประโยชน์ 11 ชมรม ของ ม.เกษตรฯ และได้รับเลือกเป็นผู้ประสานงาน 11 ชมรมบำเพ็ญ ต่อมา บุญเลิศ วิเศษปรีชา (ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่คณะสังคมวิทยา มธ.) ในขณะนั้นบุญเลิศเป็นกรรมการบริหาร อบก. และมีบทบาทเชื่อมอยู่กับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือ สนนท. อย่างเต็มตัว จนในปี 2538 ผมได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ สนนท.
            ในช่วงที่ผมคลุกคลีอยู่กับ สนนท.ตั้งแต่ปลายๆปี 2536 ถึงกลางปี 2539 เป็นเวลากว่า 3 ปี ถือเป็นช่วงที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่สุวิทย์ และเริ่มผูกพันกับพี่สุวิทย์ จนหมดวาระจากเลขาธิการ สนนท. ในช่วงกลางปี 2539 ผมหยุดพักงานอยู่ประมาณ 5 เดือน ตามความตั้งใจเพื่อให้เวลากับตัวเองได้อ่านหนังสือที่อยากจะอ่าน และสะสมไว้หลายเล่มแต่ไม่มีเวลาพอจะอ่าน
            ต่อมาปลายปี 2539 พี่สุวิทย์ ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการ ครป. ได้โทรมาหาผมที่อพาร์ตเม้นท์ แล้วชวนผมเข้าทำงาน ครป. ผมไม่รีรอ ตัดสินใจตอบตกลงและร่วมงานในฐานะเจ้าหน้าที่ ครป. มาจนเป็นเลขาธิการ ครป.ในปัจจุบัน ผมทำงานด้านการรณรงค์พัฒนาประชาธิปไตยในนาม ครป. ร่วมกับพี่สุวิทย์เป็นเวลากว่า 11 ปี บวกกับในช่วงที่ทำกิจกรรมนักศึกษาก็รวมๆแล้วกว่า 15 ปี

            ความคิดความอ่านทางการเมืองของพี่สุวิทย์นั้น ผมสัมผัสครั้งแรกในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ช่วงนั้นพี่สุวิทย์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีร่วมกับอีกหลายๆคน
            แม้ในช่วงต้นๆ จะไม่เข้าใจหรือไม่ซาบซึ้งถึงแก่นแกนลึกๆในชุดความคิดของพี่สุวิทย์มากก็ตาม แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากการเมืองกระแสหลัก การเมืองที่เอานักการเมืองเป็นพระเอกและมองข้ามหัวคนยากคนจน เป็นเสน่ห์ในตัวพี่สุวิทย์ที่ท้าทายและทำให้ผมอยากค้นหาว่า การเมืองทางเลือกหรือการเมืองของคนจน เป็นคำตอบของการเมืองแบบไทยได้จริงหรือ?
            คนจนกับการเมืองหรือการเมืองของคนจน เป็นคำแรกๆที่ผมได้ยินจากปากพี่สุวิทย์ในช่วงที่ผมเริ่มทำกิจกรรมนักศึกษา และมันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับผมที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า การเมืองของคนจน ด้วยเหตุที่กรอบการเมืองของผมจำกัดแคบอยู่กับการเมืองประเภท กระแสหลัก
           
            บทบาทพี่สุวิทย์ในการทำงานความคิดทางการเมืองกับน้องๆคนรุ่นหลังๆนั้น แม้เป็นคนเดือนตุลา เป็นสหายของ  พคท. และเป็นคนท้ายๆที่ออกจากป่า  แต่เวลาแลกเปลี่ยนกับน้องๆ พวกเราแทบจะไม่ค่อยเห็นและไม่ค่อยได้ยิน ที่พี่สุวิทย์จะยกประสบการณ์ และบทเรียนของตนมาทำนองข่มน้องๆ ในทางตรงกันข้ามเวลาอยู่กับน้องๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า คนแต่ละรุ่นเติบโตจากบริบทของสถานการณ์ที่แตกต่างกัน พี่สุวิทย์จึงค่อนข้างเข้าใจสถานการณ์ของคนรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็คาดคั้นหรือเข้มงวดทางความคิดกับน้องๆ ในขบวนการประชาชนหรือแวดวงเอ็นจีโอ
            เพราะพี่สุวิทย์พูดเสมอว่า "ผมไม่อยากเอาพลังคนหนุ่มสาวในอดีต มาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เพราะสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปมากจึงอาจไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นพวกคุณนัก  แต่ผมเคารพพวกคุณที่ตัดสินใจเลือกอยู่กับภาคประชาชนทั้งๆที่พวกคุณ มีโอกาสหรือมีทางเลือกอื่นๆ อีกมาก ฉะนั้น คนอย่างพวกคุณจึงน่านับถือ"
            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุ้มเสียงและมุมมองของบรรดาน้องๆต่อพี่สุวิทย์ จะออกมาในทำนองว่า เป็นคนดุๆ หลายๆคนเกิดอาการเกร็ง กระทั่งยังต้องรักษาระยะห่าง แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับความจริงใจของพี่สุวิทย์แม้แต่คนเดียว รวมทั้งพรรคพวกรุ่นพี่ทั้งใน ครป. แวดวงเอ็นจีโอ และอดีตสหายก็แทบจะไม่มีใครเคลือบแคลงความบริสุทธิ์ใจทางความคิดของพี่สุวิทย์แต่อย่างใด

            ผมเองก็ยอมรับว่า บางครั้งพี่สุวิทย์เข้มงวดจริงจังกับงาน และเพื่อนร่วมงานจนบางครั้งก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า แกแบกปัญหาไว้บนบ่าคนเดียวมากจนเกินไปรึเปล่า ? แต่ทุกครั้งที่พี่สุวิทย์ปล่อยมุขขำกับน้องๆ และพรรคพวกทุกคนจึงออกอาการขำกลิ้งมากกว่ามุขของคนอื่น  โดยเฉพาะมุขขำของหมี สุริยันต์ ทองหนูเอียด แทบฝืดไปเลย
            พี่สุวิทย์ อาจจะเรียกว่าเป็นอีกคนหนึ่งในบรรดาน้องๆที่มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นพี่เอก สลัม พี่น้อย พี่ไผ่ หมี นัสเซอร์ กลุ่มเพื่อนประชาชน บุญเลิศ อู๊ด ครป. และอีกหลายๆคน บรรดาน้องๆเหล่านี้ ถือว่าผุกพันกับพี่สุวิทย์มาก อาจจะมากกว่ารุ่นพี่คนอื่นๆ  เพราะพี่สุวิทย์ พยายามลดช่องว่างหรือทำงานความคิดกับคนรุ่นใหม่อย่างเป็นการเป็นงาน ตั้งแต่หาโอกาส ไปร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับขบวนการนิสิตนักศึกษาเยาวชนคนหนุ่มสาว หรือไม่ก็ตั้งวงสังสรรค์กันตามแบบฉบับพี่น้องเป็นประจำ

            จนถูกพี่พิภพ ธงไชย พี่ใหญ่ในวงการเอ็นจีโอตำหนิติติงว่า เฮ้ย สุวิทย์พวกคุณใช้ชีวิตเปลืองไปนะ ลดๆลงบ้างเหล้ายา ปลาปิ้ง เดี๋ยวไม่มีใครอยู่สู้กับคนจน
            พี่สุวิทย์เป็นทั้งนักคิดและนักเคลื่อนไหว และทำให้ผมมั่นใจว่านักคิดเกิดในสนามรบ ไม่ได้เกิดในห้องสมุดหรือห้องเรียน และด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนยากคนจน คนระดับล่างของสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ย้ำคิดย้ำทำว่า การสร้างประชาธิปไตยต้องมาจากคนระดับล่าง หรือต้องสร้างจากข้างล่างขึ้นมา หมายความว่าอยากได้ต้องต่อสู้ ไม่มีใครหยิบยื่นให้
            ด้วยเหตุดังนั้น ในสนามของการสร้างประชาธิปไตย พี่สุวิทย์จึงอุทิศชีวิตกับการคลุกคลีอยู่กับการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ให้กับขบวนการภาคประชาชนโดยเฉพาะคนจนผู้ด้อยโอกาส โดยการพยายามดึงพลังของคนสลัมหรือคนจนเมือง มาจัดตั้งเป็นองค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย และนำมวลชนเข้าร่วมไล่เผด็จการ รสช. ในเหตุการณ์พฤษภา 35
           
            ต่อมาหลังเหตุการณ์พฤาภา 35 ยุติลง กระแสปฏิรูปการเมืองเบ่งบาน พี่สุวิทย์ ได้ทุ่มเท ลงแรงและสร้างงานให้กับการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน  โดยเฉพาะการยกระดับขบวนการต่อสู้ของคนจน จากงานสลัมขยายไปสู่งานคนจนในชนบท หรือภาคเกษตรกร และเครือข่ายผูใช้แรงงานหรือกรรมกร พี่สุวิทย์เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้กับสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) สมัชชาคนจน และต่อเนื่องมาถึงการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรบางกลุ่ม

            ในช่วงหลังยุคปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 หรือกระแสรัฐธรรมนูญ 2540 แม้ในอีกบทาทหนึ่ง เราจะเห็นพี่สุวิทย์เป็นเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลาคม และเป็นเลขาธิการ ครป. ที่ทำงานรณรงค์ประชาธิปไตยในระดับโครงสร้างก็ตาม แต่ด้วยความเชื่อที่มุ่งมั่นว่าประชาธิปไตยต้องสร้างจากข้างล่างทำให้พี่สุวิทย์ เดินสายพบปะแลกเปลี่ยนถกแถลงกับมิตรสหายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตื่นตัวทางการเมืองของคนระดับล่างและพยายามผนึกพลังข้ามเครือข่ายข้ามประเด็นปัญหาและยกระดับปัญหาความยากจน สู่ปัญหาความอยุติธรรมในระดับโครงสร้าง
            พี่สุวิทย์ในบทบาทชองกรรมกร เลขาธิการ และหรือในนามรองประธาร ครป. มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางของ ครป.ในการสร้างประชาธิปไตยที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยคำนึงถึงอำนาจของชาวบ้าน ผลประโยชน์ของคนด้อยโอกาส คนยากจนหรือความเป็นธรรมทางสังคม
            ในช่วงเดือน สิงหาคม 2544 ช่วงนั้นพี่สุวิทย์เป็นเลขาธิการ ครป.และมีการประชุมสมัชชาประจำปี ครป.ภายหลังการประชุมมีคำแถลงจากที่ประชุมวิพากษ์คำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติออกมา 8 ต่อ 7 ให้ พตท.ทักษิณ พ้นจากความผิด ท่ามกลางข้อเคลือบแคลงต่อคำวินิจฉัยมากมายว่ามีเบื้องหน้า เบื้องหลัง สารพัดคำถาม และในคำแถลง ครป.เรียกว่า คำวินิจฉัยสีเทา ตื่นเช้ามา นสพ.เกือบทุกฉบับพาดหน้าหนึ่ง จนบรรดาอดีตสหายและเพื่อนพ้องน้องพี่ในพรรคไทยรักไทย ต้องโทรมาสอบถามกระทั่งต่อว่าพี่สุวิทย์หลายสาย ว่าทำไมไม่ให้โอกาส พตท.ทักษิณบ้าง ครป.จะรบกับรัฐบาล หรือกระทั่งมีสุ้มเสียงทำนองว่า จะมองหน้ากันได้อย่างไรในฐานะเพื่อน

            แต่คนอย่างพี่สุวิทย์ กลับไม่วิตกกังวลหรืออึดอัดจนต้องเครียดอะไร หากแต่ข้อท้วงติงหรือข้อครหาและอาการหยามเหยียดจากเพื่อนพ้องคนใกล้ชิด มันเป็นด้านของการท้าทายและพิสูจน์สัจจะ และความเชื่อของเราต่างหาก พี่สุวิทย์บอกผมเสมอว่า "ซักวันใสจะเจอปรากฏการณ์แบบที่พี่เจอ แต่ต้องหนักแน่นเพราะภารกิจของเราคือผลประโยชน์ของส่วนรวม  เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ วันนี้เราอาจต้องทะเลาะกับเพื่อนก็ต้องยอมถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ของส่วนรวม อุดมการณ์แปลว่าคุณทำเพื่อใคร ถ้าทำเพื่อตัวเองก้แปลว่าไม่มีอุดมการณ์
            ต่อมาในที่ประชุมสมัชชา ครป. ปี 2548 พี่สุวิทย์ประกาศในที่ประชุมสมัชชา ครป.ว่า จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆใน ครป.เพราะจะใช้เวลาจากนี้ไปทุ่มให้กับการจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชน จากนั้นมาเราก็เห็นพี่สุวิทย์มุ่งมั่นและจริงจังกับเพื่อนพ้องน้องพี่อีกหลายชีวิต เดินสายแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งพรรค
            ความคิดเรื่องพรรคการเมืองของพี่สุวิทย์นั้น ออกไปในทางชูธงอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายถึงความเป็นไปด้ที่อาจจะออกแนวสังคมนิยมอ่อนๆ เพื่อให้ขยับขับเคลื่อนไปได้ โดยวาดหวังว่า พรรคจะเป็นแนวรบใหม่ของการเมืองภาคประชาชน เพื่อให้เครือข่ายและขบวนการภาคประชาชนยกระดับต่อการต่อสู้ในเชิงนโยบายอย่างมีพลัง

            แต่ในระหว่างจัดทำเอกสารพรรค หรือยกร่างนโยบายพรรคนั้น สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป พี่สุวิทย์จึงชะลอเรื่องพรรคไว้ แล้วชวน ครป.คุยเรื่องท่าทีต่อสถานการณ์ในยุคขาลงของระบอบทักษิณ
            ในช่วงที่เข้าร่วมต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พี่สุวิทย์มีส่วนอย่างสำคัญในการกำเนิดพันธมิตรฯ เพราะ ครป.มอบหมายให้พี่สุวิทย์ กับพี่พิทยา ว่องกุล ประธาน ครป. ในขณะนั้นไปเจรจาพูดคุยกับพี่สนธิ ลิ้มทองกุล และพี่คำนูน สิทธิสมาน ฝ่ายเครือผู้จัดการ เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวร่วมกัน
            ระหว่างการชุมนุมเคลื่อนไหว พี่สุวิทย์ ก็เป็นคนที่ 6 และที่ 7 ในบางครั้งที่ 5 แกนนำพันธมิตรฯ ต้องเชิญเข้าร่วมประชุม เพื่อฟังความเห็นและการวิเคราะห์จากพี่สุวิทย์ ก่อนตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ แม้พี่สุวิทย์จะไม่เห็นด้วยกับมติของ 5 แกนนำในบางครั้ง แต่พี่เขาพูดเสมอว่าเมื่อเป็นการตัดสินใจที่บริสุทธิ์ จากการนำและในฐานะที่ร่วมรบเมื่อถูกมอบหมายให้ต้องทำหน้าที่อะไร พี่สุวิทย์ก็จะทำเต็มที่

            ในบทบทของโฆษกเวที การที่พี่สุวิทย์เป็นตัวยืนหลักกับพี่สำราญ รอดเพชรนั้น ในทัศนะผมถือว่าเป็นคู่ที่ลงตัวมากๆ ในการนำมวลชนโดยเฉพาะการชุมนุมที่มีคนมาร่วมเรือนแสนนั้น ประสบการณ์ของพี่ทั้ง 2 คน ช่วยให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้นมากทีเดียว
            เมื่อระบอบทักษิณถูกโค่นด้วยการรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจของ คมช. ในคืนวันที่ 19 ก.ย.2549 ผมอยู่กับพี่สุวิทย์พี่พิภพ ธงไชย คุณอมร อมรรัตนานนท์ คุณสำราญ รอดเพชร และพรรคพวกอีกกว่า 10 คน แม้พี่สุวิทย์จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่ก็เข้าใจเงื่อนไขของสถานการณ์ที่จำเป็นและไม่มีทางออก พี่สุวิทย์ย้ำตลอดว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่คำตอบและไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรฯ สถานการณ์จะซับซ้อนและมีเงื่อนปมมากมายที่ฝ่ายประชาชนจะต้องกำหนดและทบทวนยุทธศาสตร์การต่อสู้รอบใหม่ที่แหลมคมขึ้นกว่าเดิม

            อาจเป็นเพราะว่าอุดมการณ์ และความเชื่อที่พี่สุวิทย์พิสูจน์ผ่านการลงมือทำมาทั้งชีวิต และในช่วงที่ผมแสวงหาต่อเนื่องมามีโอกาสคลุกคลีกับพี่สุวิทย์มากกว่าพี่คนอื่นๆ จนอาจกล่าวได้ว่า พี่สุวิทย์มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผมมากทีเดียว
            ผมจึงไม่เชื่อและไม่มีวันเชื่อว่าวันนี้พี่สุวิทย์ไปจากเราแล้ว ด้วยเหตุที่เราได้ซึมซับ รับเอาความเชื่อของพี่สุวิทย์ไว้นานแล้วอาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทำให้เรารู้สึกว่าพี่สุวิทย์อยู่กับเราตลอดไป และตลอดกาล
            ด้วยจิตคารวะ



ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน