จากใจ... แด่พี่สุวิทย์ วัดหนู โดย สำราญ รอดเพชร
(ว่าด้วยความทรงจำและ การระลึกถึง)
สำราญ รอดเพชร
9 มีนาคม 2550 ได้คุยทางโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายกับพี่สุวิทย์ วัดหนู พี่เขาโทรศัพท์มาขอเบอร์มือถือคุณประพันธ์ คูณมี เพื่อพูดคุยนัดหมายยื่นเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญต่อ น.ต.ประสค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ... ผมฉวยโอกาสนัดหมายกับพี่เขาว่า ค่ำวันที่ 14 มีนาคม ขอดวลกลอนสดกลอนแห้งซ้อมือกันอีกสักรอบ เหตุเพราะผมมีวาระซ่อนเร้น ผมจะบังคับให้พี่เขาเขียนบทกวีรวมเล่มกับผมให้ได้
คืนวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค.50 ผมนอนเร็วกว่าปกติ ตื่นเช้าขึ้นมาพบ 8 misscall บนหน้าจอโทรศัพท์ที่ปิดเสียงไว้ เป็นโทรศัพท์จากสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. รีบโทรกลับจึงได้ทราบว่า พี่ชายของผมล้มร่างอันเหนื่อยล้า ลาพวกเราไปแล้ว
ใจหาย น้ำตาไหลพรากโดยไม่รู้สึกตัว
ค่ำวันจันทร์ที่ 12 มี.ค.2550 ผมเป็นสามคนสุดท้ายที่ได้รดน้ำศพพี่สุวิทย์ วัดหนู ที่วัดสามัคคีบรรพต บ้านเกิดของพี่เขาที่บางเสร่ ชลบุรี
วันศุกรที่ 27 เม.ย.50 ผมกับคุณประพันธ์ คูณมี ได้จัดกอล์ฟการกุศลหารายได้ให้กับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่พี่สุวิทย์เคยเป็นเลขาธิการ และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เงินไปขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมองค์กรละ 5 แสนบาท
นั่นเป็นพันธะทางใจที่ผมกับคุณประพันธ์ได้รับปากกับพี่สุวิทย์ (รวมทั้งสุริยะใส) ไว้ประมาณ 2 เดือนก่อนถึงวันล่วงลับของนักสู้คนจน นักสู้ที่มีรายได้เพียงเดือนละหมื่นห้าพันบาท และปฏิเสธเงินช่วยเหลือส่วนตัวที่ผมอ้อนวอนขอแบ่งปันให้
ผมได้ยินชื่อ "สุวิทย์ วัดหนู" มานานหลายปี แต่ได้สบตาจ้องหน้ากับพี่สุวิทย์เป็นครั้งแรกก็เพิ่งจะปี 2545 ตอนที่เชิญพี่เขาไปออกรายการ "ข่าวเด่นประเด็นร้อน" ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
เจอกันอีกครั้งก็อีก 4 ปีต่อมา 2549 คราวนี้ไม่ใช่บนหน้าจอโทรทัศน์ แต่บนเวทีของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ เมื่อ 11 ก.พ.2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลังจากที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำร่อง "นำเดี่ยว" ชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2549 และจบลงด้วยความสำเร็จ
วันที่ 11 ก.พ.2549 นั้น สถานการณ์พัดพาผมไปช่วยพี่สุวิทย์ ทำหน้าที่โฆษกร่วมกัน
ผมได้ความรู้ ได้วิทยายุทธจากพี่สุวิทย์หลายอย่าง ในช่วงการชุมนุมเพียงสองครั้ง ครั้งสองครั้งที่ผมรู้และสัมผัสได้ทันทีว่า แม้จะมีวิธีคิด วิธีมองปัญหาที่ต่างกันในบางเรื่องหรือหลายเรื่อง แต่ผมรู้ได้ทันทีว่า เราเข้ากันได้ เราไปกันได้ และผมวางใจ เชื่อใจพี่เขามาก เหมือนที่พี่สุวิทย์ก็กระซิบบอกผมว่า สำหรับคุณสำราญผมถึงไหนถึงกัน
มิใช่รสนิยมแห่งการร่ำรสสุราเมรัย ประสาคนรุ่นเก่าในหลายโอกาส มิใช่เพราะวัยวารของคนที่ก้าวผ่านเลข 50 ที่เริ่มโหยหาและพูดซ้ำถึงอดีตอันอบอุ่นลงตัว ขณะที่มองไปข้างหน้ามีแต่โลกและความหวังสีเทาและมิใช่เพราะการประนีประนอม ถนอมรักกันแบบไม่มีคำอธิบาย
หากแต่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียกมันสั้นๆว่า "ความสัตย์ซื่อจริงใจ"
เป็นความสัตย์ซื่อจริงใจต่อทั้งผม ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ ต่อประชาชน และต่อตัวเองของพี่สุวิทย์
ซื่อสัตย์จริงใจในความคิด จุดยืน และความใฝ่ฝันมุ่งมั่น
พี่เขาเป็นนักต่อสู้คนจนที่มีศักดิ์ศรี มีอุดมการณ์ เป็นคนที่นักข่าวแก่ๆอย่างผมอยากจะเรียกว่าเป็นเอ็นจีโอที่ใจกว้าง มีความมุ่งมั่น หลายครั้งแม้ผมจะพยายามพูดเยาะเย้ยถากถาง เรื่องพรรคการเมืองในอุดมคติของพี่เขา แต่ทั้งคำตอบและแววตาของพี่สุวิทย์ยังโลดแล่นเดินทางไปสู่ความฝัน หรือจินตนาการนั้น
จินตนาการมันยิ่งใหญ่กว่าวิชาความรู้ อย่างเขาว่ากันจริงหรือเปล่า พี่สุวิทย์อยู่ระหว่างการพิสูจน์กับผม และในเบื้องต้นผมเชื่อในแววตาแห่งความมุ่งมั่นของพี่เขาว่า คำว่า "จินตนาการ" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่จริงๆ
ผมไม่เคยสงสัยและไม่เคยถามพี่สุวิทย์เลยว่า ทำไมออกจากป่าปี 2528 ในขณะที่คนอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาออกมาตั้งแต่ปี 2523-2524
และหลายเดือนบนเวทีพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนนำมีส่วนผสมหลากหลาย ทั้งสื้อมวลชน นักวิชาการและเอ็นจีโอ บางครั้ง "ความแตกต่าง" ของวิธีคิด ตลอดจนยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ที่แตกต่างของส่วนผสมทำให้เกือบวงแตก เลิกราไปก็หลายครั้ง
พี่สุวิทย์ วัดหนู และพี่พิภพ ธงไชย พี่เอื้อยแห่งวงการเอ็นจีโอนี่แหละที่ออกแรง เปลืองตัวเดิมพันที่จะต้องขับไล่ระบอบทักษิณ เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง
........
พี่สุวิทย์ล้มร่างอันเหนื่อยล้า นอกเหนือจากพวงหรัดล้นท่วมศาลา ความอาลัยมาจากร้อยแปดพันเก้าวงการ เงิน 2-3 ล้านบาท บริจาคด้วยความคารวะและศรัทธา
หยิบบางภาพถ่ายมาดู ผมจ้องหน้าภาพถ่ายที่ผมยืนเคียงข้างบนเวที แล้วกระซิบบอกพี่ว่า พี่รับไปเถอะ อย่าปฏิเสธ ให้คุณวรรณและครอบครัวของพี่ได้ใช้เพื่อครอบครัววัดหนู และสังคมสืบสานวิญญาณของพี่ต่อไป
พี่โปรดรับไปด้วยรอยยิ้มในดวงตาเถอะพี่สุวิทย์ และอย่าลืมรับความรัก ความคิดถึงตลอดไปจากน้องชายคนนี้ด้วย
พี่รับไปเถอะ เพราะตลอดมาพี่มีแต่ "ให้" คนอื่น
หลับให้สบายนะพี่
คิดถึงพี่จริงๆ
ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น