วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชน โดย บารมี ชัยรัตน์

บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชน โดย บารมี ชัยรัตน์
(ว่าด้วยความทรงจำและการ ระลึกถึง)

บารมี ชัยรัตน์

            ก่อนหน้าเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 ผมยังไม่ได้รู้จักมักคุ้นกัยพี่สุวิทย์แต่อย่างใด แม้ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ผมก็รู้จักพี่สุวิทย์แค่ชื่อเสียงและหน้าตาเท่านั้น ไม่เคยมีโอกาสได้พุดคุยกันอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งประมาณเดือนตุลา 2535 นั่นแหละ ผมถึงจะได้มีโอกาสพุดคุยใกล้ชิดกับพี่สุวิทย์มากขึ้น เรื่องของเรื่องคือ พวกเราคิดจะทำสมัชชาคนจนกันขึ้นมา ก็เลยมีการนัดหมายมาคุยกัน โดยพี่บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  เป็นคนประสานงานนัดหมายให้พี่สุวิทย์ พี่โย (บำรุง คะโยธา) พี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) พี่ปุ้ม (วัชรี เผ่าเหลืองทอง) น้อย (ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี) และผม มาคุยกันที่ร้านสกายไฮหลังงานรำลึก 14 ตุลา โดยมีเพื่อนฟิลิปปินส์ชื่อ จิมมี่ และพี่ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักจัดรายการวิทยุชื่อไม่ค่อยดังสักเท่าไร มาร่วมแจมด้วย
            ตอนนั้น พี่สุวิทย์ ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตั้งสมัชชาคนจนสักเท่าไร แกอ้างว่า มันก็เหมือนกับจัดงานมหกรรมประชาชนสู่ศตวรรษที่ 21 (พีพี21) ที่จัดงานกันใหญ่โต แต่สุดท้ายไม่ได้อะไร แม้ตอนหลังมีการนัดหมายพูดคุยเรื่องนี้กันอีก อย่างเป็นทางการที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พี่สุวิทย์ก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี ที่ผมต้องเล่าเรื่องราวตรงนี้ให้ชัดเจนก็เพราะว่า ประเด็นที่พี่สุวิทย์ไม่เห็นด้วยนั้นถือว่า เป็นประเด็นสำคัญคือ แกเห็นว่า พวกเราชอบจัดงานใหญ่ๆกัน แล้วเอาชาวบ้านมาบ่นพร่ำ บรรยายความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนทั้งหลาย สุดท้ายก็จบลงด้วยการจัดริ้วขบวนเล็กน้อยให้พองามตา แล้วอาจจะมีการยื่นหนังสือหรือทำประกาศเจตนารมณ์แล้วก้แยกย้ายกันกลับบ้านไป ชาวบ้านก็ต้องกลับไปผจญชะตากรรมในพื้นที่เอาเอง ส่วนนักพัฒนาทั้งหลายก้ได้หน้าได้ตาได้ทำโครงการกันไป

            ผมว่า มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเราที่ริเริ่มผลักดันงานนี้ขึ้นมาว่า เราจะผลักดันสมัชชาคนจนให้เป็นองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือด ร้อนของชาวบ้านได้จริง หรือเป็นแค่การจัดงานมหกรรมแค่ครั้งเดียวแล้วก็เลิกรากันไป ผมขออนุญาตเล่าเท้าความถึงความเป็นมาของสมัชชาคนจนสักเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับพี่สุวิทย์

            ประมาณปี 2537 สมัยนั้นผมทำงานอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท และช่วยงานสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) อยู่บ้าง เมื่อมีเวลาว่างหรือเมื่อเข้ามากรุงเทพก็จะมาหาเพื่อนๆ ที่โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YT) จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนองค์กรจาก YT ส่วนหนึ่งมาเป็นกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) ซึ่งกลุ่มนี้ก็ตั้งมาจากอาศรมวงศ์สนิทเหมือนกัน และกลุ่มเพื่อนประชาชนก็เป็นองค์กรที่สนับสนุนการดำเนินการของ สกย.อ.อยู่ด้วย ผมได้เจอพรรคพวกหลายคนที่นี่ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ พี่สายน้ำ ตรัสกมล คุยกันไปคุยกันมา แกก็เกิดไอเดียว่า เราน่าจะจัดให้พวกคนจนทั้งหลายมานั่งคุยกันนะ เป็นชาวนาสักกลุ่มหนึ่ง สลัมสักกลุ่มหนึ่ง คนงานสักกลุ่มหนึ่ง และถ้าจะให้ดีควรจะมีนักศึกษาอยู่ด้วย เพื่อจะได้รับรู้เรื่องราวปัญหาของคนจนทั้งหลาย และจะได้เป็นผู้สนับสนุนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องคนจนต่อไปด้วย

            ช่วงนั้น อาศรมวงศ์สนิทมีโครงการอยู่โครงการหนึ่ง ชื่อ โครงการวิสาสะเพื่อสมานไมตรี ผมเลยรับอาสาพี่สายน้ำมาดูว่า จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อนำเรื่องมาปรึกษากับพี่ประชา หุตานุวัตร ผู้อำนวยการอาศรมวงศ์สนิท แกแนะนำว่า ควรจะจัดเฉพาะกลุ่มไปก่อนแล้วค่อยจัดรวมกันอีกที ตกลงใช้ชื่อว่า "เสวนาคนจน" เราจัดงานไปได้ 3 ครั้ง ขาดแต่กลุ่มนักศึกษา ยังไม่ได้จัด เพราะติดสอบด้วยและช่วงนั้นพวกเราก็ไปยุ่งๆอยู่กับการคัดค้านการทดลอง นิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศสอยู่ด้วย

            และช่วงนั้นเอง น้อยกับพี่ปุ้มก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหลายๆคน มีพี่บุญแทนที่เสนอว่าจะทำไปทำไม "เสวนาคนจน" ถ้าจะทำก็ทำ "สมัชชาคนจน" ไปเลยแล้วเชิญคนจนจากหลายประเทศมาเล่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวให้ฟังด้วย เป็นอันว่าเห็นพ้องต้องกัน แล้วพี่บุญแทนก็รับไปประสานงานให้เกิดเวทีขึ้น นี่เป็นในส่วนของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ในขณะที่ในภาคส่วนของชาวบ้าน พี่น้อง สกย.อ.เองก้ประสบปัญหาจากการดื้อยาของหน่วยราชการ เดินขบวนครั้งแล้วครั้งเล่า การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน พี่น้องที่เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร ก็ถุกจับครั้งแล้วครังเล่า พี่น้องที่คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนราษีไศล ก็สู้อยู่อย่างค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ยังไม่นับพี่น้องในสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน พี่น้องที่คัดค้านโครงการเจนโก้ที่ระยอง พี่น้องที่เดือดร้อนจากศูนย์ราชการโพธิ์เขียว สุพรรณบุรี พี่น้องในสลัม พี่น้องในสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบ การ และพี่น้องกลุ่มเล้กกลุ่มน้อยอีกมากมาย ต่างคนต่างสู้และยังมองไม่เห็นชัยชนะ และทุกคนเห็นว่าถ้าร่วมมือกันสร้างสมัชชาคนจนก็จะเป็นความหวัง เป็นพลังในการต่อสู้ของคนจนได้

            แม้ว่าพี่สุวิทย์จะไม่เห็นด้วยกับการเสวนา หรือสมัชชาคนจนก็ตาม แต่ในแง่ของการเคลื่อนไหวแล้ว พี่สุวิทย์เห็นด้วยเต็มที่ ดังนั้นเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ของสมัชชาคนจนเกิดขึ้นจริงๆ พี่สุวิทย์ก็ยืนหยัดอยูเคียงคู่กับพี่น้องมาโดยตลอด ถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญคนหนึ่งของสมัชชาคนจน ในฐานะที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ทำหน้าที่ในการประสานงานกับตัวแทนของรัฐบาล

            ความโดดเด่นของพี่สุวิทย์ในบทบาทหน้าที่นี้ คือ ศิลปะในการเจรจาที่มีลูกล่อลูกชน ใช้ไม้อ่อนไม้แข็ง ตามจังหวะและโอกาส ช่วยให้สมัชชาคนจนไม่ต้องเพลี่ยงพล้ำต่อกลเกมของฝ่ายรัฐได้ แต่ก้ไม่ใช่ไม่เสียมวยเลยนะครับ ที่เสียมวยก็มีครั้งหนึ่ง ตอนนั้นฟอร์มกำลังดี สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ขึ้นมารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้มีการนัดหมายประชุมกับสมัชชาคนจน ปรากฏว่าในวันประชุมมีพี่น้องจากสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ท่านบรรจง นะแส ขอเข้าร่วมแจมด้วย เพราะพี่น้องชมรมประมงที่สงขลากำลังเดือดร้อนจากเรือปั่นไฟปลากะตัก ก็เป็นธรรมดาครับที่เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เดือดร้อนต้องช่วยเหลือกัน แต่การประชุมในวันนั้นท่านนายกฯชวน ท่านก็ทำเสมือนกับว่ามารับฟังปัญหาเฉยๆ ไม่ได้สนใจจะหารือต่อว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร หลังจากซุบซิบหารือกันแล้วพี่สุวิทย์เลยตัดสินใจเสนอปิดการประชุมแบบ walkout
อะไรประมาณนั้น เล่นเอานายกฯชวน อึ้งไปสักพักหนึ่งเลยเหมือนกัน

            และขณะที่พวกเรากำลังเดินออกจากที่ประชุม ปรากฏว่าท่านบรรจง นะแส เกิดโวยวายขึ้นมาว่าเรื่องของสมาพันธ์ประมงยังไม่ได้พูดถึงเลย นายกฯชวน เลยฉวยโอกาสนี้จัดการตีกินทันที โดยการเรียกมาปรึกษาหารือและโทรศัพท์สั่งให้ดำเนินการ จนอ้างได้ว่าได้แก้ไขปัญหาให้คนจนอยู่ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด เรื่องนี้พี่สุวิทย์เห็นว่าเสียฟอร์มมากและกระแนะกระแหนพี่บรรจงอยู่หลายปี ดีดักเลยทีเดียว ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับพี่สุวิทย์และหาโอกาสกระแนะกระแหนพี่บรรจงอยู่เป็นระยะ เหมือนกัน

            พี่สุวิทย์เป็นคนที่มีลักษณะความเป็นผู้นำสูง พูดเสียงดังฟังชัด มีจังหวะจะโคนและลูกเล่นลีลาดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี แม้ในด้านเนื้อหาก็ถือว่าพี่สุวิทย์เป็นคนทำการบ้านคนหนึ่ง เตรียมตัวมาดี ไม่เหมือนหลายๆคนที่ไม่ค่อยได้เตรียมตัวอะไรขึ้นมาพูดแล้วก็ออกอ่าวออกทะเล ไปเรื่อย

            แม้จะเรียกตัวเองว่านักปฏิวัติ แต่พี่สุวิทย์ก็มีคุณลักษณะที่ผิดแปลกไปจากคนอื่น เนื่องจากพี่สุวิทย์ยังคงเป็นคนแบบนักเลงบ้านนอก รักเพื่อนรักฝูง ปกป้องเพื่อนฝูงและน้องนุ่งที่ใกล้ชิดแบบไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลกันเลยที เดียว เช่น คราวหนึ่งพวกเราหลายคนมีเรื่องขัดใจกับพี่จำนงค์ พี่หน่อย และมีการหยิบยกเอามาพูดในวงประชุม พี่สุวิทย์ตัดบททีเดียว ฟันธงแบบไม่ต้องพุดต่อกันเลยทีเดียวครับ"หน่อยไม่ใช่คนอย่างนั้นหรอก ผมรู้จักดี เป็นรุ่นน้องผมที่บางแสน" เห็นไหมครับไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย นอกจากความเป็นน้องที่บางแสน วิสัยนักเลงบ้านนอก นอกจากจะปกป้องแล้วยังต้องดูแลน้องๆ อีกคราวหนึ่ง พี่สุวิทย์ อาจารย์อรรถจักร และผมได้รับเชิญไปคุยที่จุฬาฯ พอคุยเสร็จ พี่สุวิทย์ชวนผมพากันขับรถไปส่งอาจารย์อรรถจักรที่สนามบิน กินเบียร์กันไปหลายขวดกว่าเครื่องบินจะออก พอถึงคราวเก็บเงินอาจารย์อรรถจักรทำท่าจะจ่าย แต่พี่สุวิทย์ข่มทันที "คุณไม่ต้อง อรรถจักร คุณรุ่นน้องผม" อาจารย์อรรถจักรรีบเก็บเงินทันที ส่วนผมไม่ควักอยู่แล้วเพราะยอมรับว่าตัวเองเป็นรุ่นน้องของทั้งสองท่าน

            และอีกเรื่องหนึ่งคือการเคารพผู้อาวุโส แทบไม่น่าเชื่อว่าคนแบบพี่สุวิทย์ที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ยอมศิโรราบให้ใคร แต่เมื่อเจอผู้อาวุโสหลายคนพี่สุวิทย์จะอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ อาจารย์สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ พี่บำรุง บุญปัญญา หรือคนอื่นๆก็ตาม พี่สุวิทย์มักเป็นแม่งานจัดงานแซยิด งานรดน้ำดำหัว หรืองานพิธีต่างๆ ให้กับผุ้หลักผู้ใหญ่เหล่านี้เสมอๆ และเมื่อผู้ใหญ่ไหว้วานอะไร พี่สุวิทย์ก็ยินดีทำให้โดยไม่ขัดข้อง แม้บางเรื่องจะไม่ค่อยเข้าท่าแต่เมื่อถูกขอร้อง พี่สุวิทย์ก็ยังทำให้ เช่น คราวหนึ่งในช่วงที่พี่สุวิทย์ได้รับทุนไปอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ต้องกลับมาเมืองไทยเพื่อทำอะไรสักอย่างก็จำไม่ได้ พี่สุวิทย์กลับมาได้ไม่กี่วันก็โทรมาหาผมชวนไปพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทำเนียบ ผมน่ะพอรู้เรื่องก็ไม่อยากไปหรอกครับ แต่เกรงใจพี่สุวิทย์เลยต้องไป

            เรื่องของเรื่องคือ พี่สุวิทย์บอกว่า พี่เขียว (คุณสมสุข) ที่อยู่ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ซึ่งผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ได้ขอให้พี่สุวิทย์ช่วยคุยกับพลเอกชวลิต ในฐานะประธาน ศตจ. (ศูนยอำนวยการต่อสูเพื่อเอาชนะความยากจน) ให้ ว่างบประมาณที่ได้มาทำบ้านมั่นคงไม่พอ ขอให้ ศตจ.ช่วยอนุมัติงบเพิ่มให้อีกประมาณ พันสองร้อยล้านหรือยังไงนี่แหละ ไปพูดขอเงินพันสองร้อยล้านแบบไม่มีเอกสารอะไรติดมือไปเลย เพราะคนจาก พอช.ที่ว่าจะไปด้วย เห็นว่าชื่อด้วงหรืออะไรประมาณนั้นก้ไม่ไปซะอีก โครงการเป็นยังไงดีหรือไม่ดีก้ไม่รู้ แต่พี่สุวิทย์บอกว่า รับปากพี่เขียวแล้ว ยังไงก็ต้องไป วันนั้นก็สรุปว่า พลเอกชวลิตบอกว่าจะช่วยดูให้ว่ามีงบพอช่วยสนับสนุนหรือไม่อย่างไร แต่หลังจากวันนั้นไม่นาน ไม่ทราบว่าทำไมความสัมพันธ์ของพี่สุวิทยืกับพี่สมสุขจึงเปลี่ยนไป ได้ข่าวว่ามีจดหมายเขียนถึงพี่สุวิทย์ ประมาณว่า ไม่เหยียบเงา ไม่เผาผีกันเลยทีเดียว และไม่ว่างานบวช งานแต่ง งานตาย ถ้าเป็นของพรรคพวกแล้ว สำหรับพี่สุวิทย์ต้องหาทางไปจนได้ เรียกว่าแทบจะไม่เคยขาดสักงานเดียว

            อีกเรื่องหนึ่งที่พี่สุวิทย์มาดมั่นจะทำให้ได้คือ เรื่องการตั้งพรรคการเมือง เรื่องนี้ถกเถียงกันหลายรอบ หารือกันหลายปี ขัดแย้งกันมากมายจนค่อนข้างจะลงตัวอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีใครคัดค้านการตั้งพรรค แต่ต้องไม่เอาขบวนไปผูกพันกับพรรค ซึ่งพี่สุวิทย์ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่น พี่สุวิทย์เลยเดินหน้าตั้งพรรคอย่างจริงจัง ด้วยการขอลาออกจากที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน แม้กระทั่งการชุมนุมของพี่น้องในการผลักดัน พรบ.ป่าชุมชน พี่สุวิทย์ไปเยี่ยมแต่ไม่ยอมขึ้นเวทีเพราะเห็นว่า ตัวเองทำพรรคการเมืองแล้วกลัวขบวนจะเสียหาย เสียดายที่มีเหตุการณ์ขับไล่ทักษิณแทรกเข้ามาก่อนพรรคการเมืองของพี่สุวิทย์ เลยไปไม่ถึงไหน ไม่รู้ว่าใครจะสานงานต่อหรือเปล่า

            ช่วงหลังแม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องของการชุมนุมขับไล่ทักษิณ ที่ผมไม่เห็นด้วยในการเข้าร่วมกับสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งผมยังยืนยันเหมือนกับที่พี่สุวิทย์พูดในตอนแรกๆ คือ เราจะตั้งเวทีของเราเอง แต่เมื่อหลายคนอ้างว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปจำเป็นต้องไปเข้าร่วมกับเวทีของ สนธิ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่ไม่ได้สนใจเข้าไปร่วมงานเท่าไรนัก จนกระทั่งมีการชุมนุมยืดเยื้อที่สนามหลวงผมก้โทรไปหาพี่สุวิทย์วันหนึ่ง สุ้มเสียงที่แกรับโทรศัพท์ผมนั้นเหมือนกับดีใจมากที่ผมมา พี่สุวิทย์เรียกผมไปหลังเวที จัแจงหาบัตรเข้าหลังเวทีให้อย่างดี และพยายามมอบหมายงานให้ผมทำ เช่น เมื่อมีคนมาบริจาคเงินก็ให้ผมออกไปรับไว้ก่อน หรือ ให้ประสานงานกับทางต่างจังหวัด และช่วยงานเรื่องดูแลกำกับเวทีเป็นต้น ผมก็ทำด้วยความเกรงใจอยู่สักสองวันแล้วก็หนีหน้าไป พอภายหลังเมื่อพันธมิตรประกาศอะไรสักอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย ผมเลยไม่ไปเลย ได้ข่าวว่าวันนั้นพี่สุวิทย์ก้หิ้วกระเป๋ากลับบ้านเลยเหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนความสัมพันธ์ของเรายังดีอยู่ ผมยังพูดคุยดื่มกินกับพี่สุวิทย์อยู่เป็นระยะๆ และถกเถียงแลกเปลี่ยนสถานการณ์บ้านเมืองกันพอหอมปากหอมคอ

            ที่เขียนเล่ามานี่คงเป็นภาพรวมๆ แบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ส่วนเรื่องราวใหญ่ๆโตๆ หลายคนคงเขียนถึงไปหมดแล้ว  ผมเลยขอเขียนเรื่องเล็กๆน้อยๆ ตามอัตภาพของตัวเองไปก็แล้วกัน สิ่งที่ผมยังไม่ได้พูดถึง คือ ความเป็นเพื่อนมิตรส่วนตัวที่พี่สุวิทย์มีให้ต่อผมและครอบครัว ตอนมาช่วยงานสมัชชาคนจนใหม่ๆ ก็ไม่มีเงินเดือน พี่สุวิทย์นี่แหละเป็นคนพูดให้สมัชชาคนจนจ่ายเงินเดือนให้ผม และต่อมาพี่สุวิทย์อีกนั่นแหละที่เป็นคนพูดในที่ประชุมให้สมัชชาคนจนขึ้น เงินเดือนให้ผม แถมบางครั้งบางคราวที่ผมติดขัดเรื่องเงินทอง พี่สุวิทย์ก็เป็นที่พึ่งพาได้เสมอ แบบว่าถ้าเอ่ยปากขอยืมและพี่สุวิทย์มีเงินจะรีบควักให้ทันที และไม่เคยทวงถามว่าจะคืนให้เมื่อไรอย่างไร แถมเวลาเอาเงินไปคืนก็ยังเลี้ยงเหล้าอีก ทำเหมือนแกเป็นหนี้เรามากกว่าเราเป็นหนี้แก แต่เวลาแกยืมเงินเราพอแกคืนแกก็เลี้ยงเหล้าเราอีกเหมือนกัน สรุปว่าได้กินทั้งขึ้นทั้งล่อง

            และเรื่องราวที่ประทับใจผมและครอบครัวสุดๆ แบบลืมไม่ลงเลย คือ เมื่อช่วงสงกรานต์หลายปีก่อน ผมและครอบครัวขับรถไปเที่ยวกัน แบบไม่ได้เตรียมตัวว่าจะไปพักที่ไหน พอนึกขึ้นได้ว่าพี่สุวิทย์เป็นคนบางเสร่ อาจจะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ก็เลยลองโทรถามดูสอบถามว่าแกอยู่ที่ไหน  ตอนนั้นพี่สุวิทย์อยู่ที่บ้านแถวเขตสะพานสูง ส่วนพี่วรรณกลับบ้านที่ขอนแก่น พอแกรู้ว่าผมจะไปเที่ยวบางเสร่ แกบอกว่าเดี๋ยวเจอกัน แบบว่า แกรีบขับรถมาทันทีไปถึงบางเสร่ก่อนผมซะอีก แล้วไปจัดแจงจองที่พักให้ผมอย่างเรียบร้อย พร้อมกับออกตัวว่าที่พักที่ดีๆติดทะเลนั้นเต็มหมดแล้ว เพราะผมไม่ได้บอกแกก่อนแกเลยไมได้จองไว้ล่วงหน้า นอกจากจองแล้วแกยังจ่ายค่าที่พัก จัดการค่าอาหารให้ทุกอย่างจนผมเกรงใจว่าจะพักสักสองคืนเลยต้องรีบกลับก่อน คิดดูเถอะครับขนาดผมเดินไปจ่ายเงินค่าห้องพัก เจ้าของรีสอร์ทไม่ยอมรับเงินเลย บอกว่าเดี๋ยวพี่สุวิทย์มาจัดการเอง ตอนกลับพี่สุวิทย์ยังมาขอโทษขอโพยอีกว่าต้อนรับได้ไม่เต็มที่เพราะผมไม่ได้ บอกก่อน เล่นเอาผมพูดไม่ออกเลย

            ตอนที่ได้ข่าวว่าพี่สุวิทย์เสีย พอผมบอกแฟน สิ่งแรกที่แฟนผมพูดถึงพี่สุวิทย์คือเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ครอบครัวเราจดจำไม่รู้ลืมจริงๆ

            วันนี้แม้พี่สุวิทย์จะจากพวกเราไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่ในใจของผม คงไม่ใช่เพียงเรื่องราวไร้สาระที่ผมเขียนบอกเล่าออกมา นั่นมันเป็นเพียงความรู้สึกแบบปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นจากท้องน้ำ ขึ้นมาเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้น สิ่งสำคัญที่พี่สุวิทย์ทิ้งไว้ให้ผมคือ บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชนเพื่อปกป้องมวลชนที่ถูกกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ จุดยืนที่อยู่เคียงข้างคนจน และความใฝ่ฝันถึงดินแดนสังคมนิยมอันแสนงดงาม

            In solidarity

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะ จัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน