คนสามัญผู้มั่นคงถึงขั้นสูงสุด
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)
นิกร จำนง
รู้จักพี่สุวิทย์ วัดหนู ในงานการเรียร้องกรณีโรงไฟฟ้าที่ภาคเหนือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ครั้งนั้นได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด จนปัญหาได้คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่ง ละได้มีบางอย่างเกิดขึ้น คือ ความเคารพกันในฐานะคนทำงานด้วยกัน และความสัมพันธ์นั้นได้พัฒนามากขึ้น จนเป็นพี่น้องที่สนิทสนมกลมเกลียวกันตลอดมา
ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมือง ทางสังคมของประเทศซึ่งไม่เคยแน่นอนจะเป็นเช่นไร มิใยว่าสภาวะทางเศรษฐกิจในเชิงบุคคลจะเสมอตัวหรือตำต่ำ แต่ความมั่นคงของคนทำงานที่ถูกเรียกขานว่า "สุวิทย์ วัดหนู" ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ในช่วงเวลา 10 ปีกว่าที่รู้จักกันมา ทั้งในฐานะทำงานร่วมกัน ทั้งในฐานะเป็นพี่เป็นน้องที่รักนับถือกัน ตามประสาสามัญชนคนธรรมดา ได้ค้นพบแก่นแกนของความเป็น "สุวิทย์ วัดหนู" อย่างชัดเจน มาตั้งนานแล้ว ความคงเส้นคงวาของบุคคลผู้นี้ต่อหน้าที่รับผิดชอบนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งๆที่รู้ว่า เป้าหมายนั้นไม่มีทางที่จะไปถึงได้ เช่น การแก้ปัญหาของคนจนเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนเงาของทุกเมืองมีเมืองก็ต้องมีคนจนเมือง หรือสลัมอยู่เสมอ พี่สุวิทย์สู้เพื่อสิ่งนี้ จนกลายเป็นเงาของตัวเอง มีสุวิทย์ที่ไหนก็ต้องมีภาระเกี่ยวกับคนจนเมืองอยู่บนบ่าเสมอไป ไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยท้อถอย จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ในความเป็นคนแบบพี่สุวิทย์ ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะละวางสายใยสัมพันธ์ของมิตรสหาย ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ฟากไหนของฝั่งแห่งแนวคิดตามอุดมการณ์ที่ไม่รู้จบของ บรรดาเหล่านักคิด นักฝัน นักปฏิบัติผู้ร่วมสมัย ความขัดแย้งระหว่างกันและกันถูกสายใยแห่งมิตรภาพความปรารถนาดีของพี่สุวิทย์ ยึดโยงรวบรัดเข้ามาหากัน จนกลับมาจับมือกันได้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และผลสืบเนื่องจากการนั้น มักนำไปสู่คณูปการต่อสังคมเสมอมา ไม่ใช่เพราะพี่สุวิทย์เป็นคนไร้ซึ่งความรู้สึก ไม่ว่าจะโกรธ เกลียด หรือน้อยอกน้อยใจ หากแต่ว่า ด้วยหัวใจดวงใหญ่ที่เปิดกว้าง และมีความรักในพี่น้องและเพือนๆอย่างจริงใจ ทุกคนจึงต้องยอมละวางอารมณ์ของตนให้กับพี่สุวิทย์ ในยามที่ถูกร้องขอเกือบทุกครั้งไป
บัดนี้พี่สุวิทย์ วัดหนู ได้จากไป ลึกๆแล้วทุกคนที่รู้จักมักคุ้นย่อมโศกเศร้าเสียใจ แต่ลึกลงไปกว่านั้นเชื่อได้เลยว่า มิติความเป็น "สุวิทย์ วัดหนู" จะฝังลึกอยู่ในใจของทุกคนอย่างมั่นคงตลอดไป แม้ว่าแนวร่วมผู้ทำงานเพื่อสังคมด้านนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในสภาวะเปรียบเหมือนเรือที่สมอขาด อาจเคว้งคว้างอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าต่อไป สู่ฝั่งแห่งสังคมที่ดีกว่าซึ่งทุกคนเชื่อว่ามี แบบเดียวกับที่ "สุวิทย์ วัดหนู" คนสามัญผู้มั่นคง ตั้งใจว่าจะไปให้ถึง
ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550