วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ชาตินี้ของอารมณ์ มีชัย โดย จำลอง ฝั่งชลจิตร

            ผ่านไปปีแล้วปีเล่า เวลาทำหน้าที่ตามปกติ ผมลืมไปแล้วว่ารู้จัก อาจารย์อารมณ์ มีชัย กับอาจารย์เจริญ มีชัย เมื่อไร ลืมๆจำๆ ไปตามวัย เอาเท่าที่นึกได้ก็ราวๆ ปี 2517-18
            เหมือนนักกีฬาวิ่งผลัดทีมเดียวกัน เป็นคนสนใจการบ้านการเมือง เป็นนักต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ต้องอยู่ลู่เดียวกัน รับไม้จากกันวิ่งไปให้ถึงเส้นช้ย

            บ้านอาจารย์อยู่ถนนศรีปราชญ์ เวลาหิวผมไปหาและกินข้าวพอประทัง หิวเมื่อไรก้ไปเมื่อนั้น ไปทีไรข้าวปลาไม่เคยขาดหม้อ สองสามีภรรยาเป็นคนก้าวหน้า แต่พร้อมใจกันทำเรื่องโบราณๆ "เรื่องข้าวปลาหุงแกงอย่าให้ขาดหม้อ เผื่อใครผ่านไปผ่านมา"
            สมัยนั้นบ้านเล็กๆ ริมถนนศรีปราชญ์เป็นบ้านของคนหิว หิวความรู้ไปหาความรู้ สองสามีภรรยาพร้อมถ่ายทอดตลอดเวลา โดยเฉพาะความรู้เรื่องเผด็จการ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ตามสมัย ถ่ายทอดอย่างอดทนและไม่เบื่อหน่าย คนหิวกิจกรรมชอบทำกิจกรรม ที่บ้านหลังนั้นมีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ทำตลอดเวลา เป็นกิจกรรมช่วยคนทุกข์คนยาก มันน่าแปลกที่คนทุกข์คนยาก เอาทุกข์เอายากมาขอพึ่งบ้านหลังนี้ไม่เคยขาด

            เป็นอย่างนี้ เพราะ "อารมณ์-มีชัย" รับฟังความทุกข์ของคนทุกข์ เอาใจใส่ทุกความทุกข์ของคนอื่น แตกต่างจากนักการเมืองก้าวหน้าได้ดิบได้ดีที่เลิกใส่ใจความทุกข์ของใครๆ จะทุกข์บ้างก็ทุกข์ด้วยวาจาพอให้สมกับเป็นนักการเมือง
            ผมไม่รู้ว่าครอบครัวนี้มีความสุขแบบไหนกันแน่ กี่เดือนกี่ปีก็วุ่นอยู่กับความทุกข์ของคนอื่น ล่าสุดราว 7-8 ปีที่แล้ว บ้านหลังนั้นกลายเป็นที่บรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ที่ถูกพรากผู้เยาว์ ถูกข่นขืน มีลูกตั้งแต่ยังไม่เป็นนางสาว คนข่มขืนมีทั้งน้าชาย พ่อ ญาติๆ จิ๊กโก๋จิตทราม ทราบว่าบ้านหลังนั้นมี "สองเฒ่า-สองแก่" พออาศัยเยียวยาบาดแผลให้ทุเลาได้ก็หอบสังขารมาพึ่ง

            เด็กหญิงบางคนที่ตั้งสติได้ และใฝ่ดี สองสามีภรรยาส่งเสียให้เรียนหนังสือ เปลี่ยนจากเด็กอนาถาเป็นผู้มีการศึกษา-มีอนาคต
            หลังงานศพอาจารย์เจริญ มีชัย เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผมนึกว่าอาจารย์อารมณ์จะท้อแท้สิ้นหวัง วางมือทางการเมืองเรื่องคนทุกข์ให้เบาลงบ้าง และทั้งๆที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อาจารย์ยังไม่ละวาง สมัครรับเลือกตั้งเป็นนั่นเป็นนี่แพ้ก็ไม่ย่อท้อ บอกหน้าตาเฉยว่า "เราจะให้การศึกษาชาวบ้าน"
            มะเร็งระยะสุดท้ายกำเริบ แทนที่จะพักผ่อนนอนเหนื่อยอยู่กับบ้าน อาจารย์อารมณ์ไปสวม "เสื้อเหลือง" ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สะพานมัฆวานฯ ท่ามกลางความกังขาของเพื่อนมิตรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกันที่เลือก สวมเสื้อ "เสื้อแดง" ไม่ว่าเสื้อสีอะไร "การเลือก" ของทั้งสองฝ่ายต้องได้รับการเคารพ มีเหตุผลตั้งมากมายที่คนเสื้อเหลืองยังไม่ได้พูด เช่นเดียวกับคนเลือกสีแดงที่ยังพูดได้ไม่หมด ปล่อยให้วันเวลาทำหน้าที่ของมันไปอีกสักระยะ สังคมไทยจะแก้ไขตัวเองด้วยพลวัตภายใน

            เรื่องของเพื่อนนักสู้ เรื่องของมนุษย์ยิ่งใหญ่เกินสีเสื้อ ก้มลงสำรวจตัวเองตั้งหัวจรดเท้า เหลืออีกกี่วันที่เราจะอยู่บนโลกใบนี้ คงไม่นานเท่าไร ถอยออกมาจากเรื่องยุ่งๆ เสียบ้างดีกว่า อาจารย์อารมณ์ถอยไปโดยไม่ได้ตัดใจถอย แต่เงื่อนไขภายในชื่อ "มะเร็ง" บอกให้ถอย บอกว่าพอแล้ว เมื่อมะเร็งบอกเราจะรับหรือไม่รับ จะยอมหรือไม่ยอม จะต่อสู้ขัดขืนหรือจำนน เราต้องถอยเหมือนกันหมด ถอยไปทางเดียวกัน คือ "ตายให้มัน" สถานเดียว  บางเรื่องำสเร็จลุล่วง บางเรื่องค้างคา ก็ต้องวางแล้วไป

            ชีวิตอาจารย์อารมณ์เท่าที่พอรู้จัก ไม่มีอะไรมากไปกว่า "ผู้ให้" ให้ความรู้ ให้ข้าวปลาอาหาร ให้โอกาส ให้อนาคต ปฏิบัติอย่างไม่บกพร่องมายาวนาน 30-40 ปี เกิดชาติหน้ามาเป็นอาจารย์อารมณ์อีกที ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เหมือนเดิมได้อีก ดีในชาตินี้ ชาติหน้าลอกเลียนไม่ได้

            ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ชาตินี้อาจารย์อารมณ์เป็นมนุษย็ได้ดีที่สุดแล้ว
            บุญทานเป็นเครื่องลิขิต เราต่างรู้กันดีว่า "อารมณ์ มีชัย" จะไปสถิต ณ แดนไหน


จำลอง ฝั่งชลจิตร



ที่มา "อารมณ์ มีชัย ตราไว้ในใจชน"
หนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์อารมณ์ มีชัย
22 กุมภาพันธ์ 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน