แม่อารมณ์ เป็นคนที่มีลูกมาก หมายถึงบรรดาลูกที่ไม่ใช่ลูกแท้ๆ ในสายเลือด แต่แม่รักและดูแลลูกนอกสายเลือดเหล่านี้เหมือนลูกแท้ๆ ของแม่เอง ข้าพเจ้าจำได้ว่าสมัยเป็นนักศึกษา ปีหนึ่งที่รามคำแหง ประมาณปี 2536-2537 ข้าพเจ้าและเพื่อนในรุ่น (พรรคสานแสงทอง ม.ร.รุ่น 36) ต้องอาศัยบ้านแม่เป็นที่หลับที่นอน เพื่อนในกลุ่มที่อยู่กินด้วยกันมี 5คน คือ ตัวข้าพเจ้าเอง และเพื่อนบอม แก้ว อ๊อฟ บัติ และโอเล่ บางวันก็มีรุ่นน้องตามมาค้างด้วย ก็ยิ่งเพิ่มภาระให้กับแม่ จำได้ว่าตรงข้ามบ้านของแม่มีบ้านร้างอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งพวกเราได้เข้าไปบูรณะซ่อมแซม พอที่จะมั่วๆเอามาเป็นที่พักได้ โดยต่อทั้งน้ำทั้งไฟมาจากบ้านแม่ แต่ขอโทษครับ ค่าไฟ ค่าน้ำ พวกเราไม่เคยช่วยแม่จ่ายซักกะบาทเดียว เพราะพวกเราส่วนใหญ่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี บางวันพวกเราก็แห่กันมานอนที่พรรคทิ้งบ้านร้างไว้เป็นที่เก็บสัมภาระ ยิ่งตอนที่พรรคมีกิจกรรมมากๆ เราแทบจะไม่ได้กลับไปเลยเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จนหลายครั้งที่แม่ต้องทำขนมจีน แกงไตปลา มาส่งให้ที่พรรค เพราะกลัวพวกเราจะไม่มีอะไรจะกินกัน ข้าพเจ้ายังจำรถมาสด้าแฟมิลี่เก่าๆคันนั้นได้ดี ถ้าวันใดที่แม่กับพ่อ (อาจารย์เจริญ มีชัย) เข้ามาหาพวกเรา แสดงว่า วันนั้นเราต้องมีอาหารอร่อยๆอิ่มท้องกัน
มีอยู่วันหนึ่ง ที่พรรคมีประเด็นต้องเคลื่อนไหวทางสังคม เรื่องอะไรนั้นจำไม่ได้ พวกเราก็ยกพลกันกลับบ้าน มานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แม่แอบเดินมาดูพวกเราหลายครั้ง จนดึกดื่นแล้วพวกเราก็ยังไม่มีข้อสรุปอะไร แม่ก็เข้ามานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยจนเกือบจะห้าทุ่ม แม่ก็ขอตัวไปพักผ่อน จำได้ว่าสิ่งที่แม่สอนพวกเราและตอกย้ำอยู่เสมอ คือ "เราเป็นนักศึกษาต้องตอบแทนบุญคุณประชาชนที่เสียภาษีให้เรา" แม่เป็นคนที่อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดมาก เชื่อมโยง ยกตัวอย่างกับเรื่องใกล้ตัวให้เห็นภาพ อีกเรื่องหนึ่งคือ แม่จะให้หลักสำคัญว่า เวลาจะตัดสินใจทำอะไรก็แล้วแต่ปัจจัยที่ควรจะนำมาเป็นหลักในการตัดสินคือ "ให้พิจารณาว่าประชาชนจะได้อะไร สังคม ส่วนรวมจะได้อะไร จากการกระทำนั้นๆ เป็นที่ตั้ง"
ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่า นักจัดตั้งหน้าตาเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติแบบไหน แต่ในมุมมองของพวกเรา แม่คือนักจัดตั้งตัวจริงคนหนึ่ง คืนนั้นเราคุยกันต่อจนใกล้สว่าง (ไม่รู้มีอะไรคุยกันนักหนา) เช้าวันรุ่งขึ้นแม่ถามพวกเรามีข้อสรุปกันอย่างไร พวกเรานิ่งเงียบไม่มีใครตอบได้ ดูท่าทางแม่จะออกอาการหงุดหงิด "คุยกันทั้งคืน คุยกันไปให้ขี้ยา (ขี้บุหรี่) กองท่วมหัว เสียเวลาเปล่า...." แม่อารมณ์กล่าวทิ้งท้ายก่อนเดินจากไป แม่หายไปพักใหญ่ พวกเราก็ตามไปดู เพราะรู้ว่าเราทำให้แม่อารมณ์เสียอีกแล้ว แต่ที่ไหนได้ มารู้จากพี่เมย์ (เตชาติ์ มีชัย) ว่าแม่กับพ่อไปตลาด ไปซื้อกับข้าวมาทำให้พวกเรากิน แม่ไม่เคยโกรธพวกเราเลยซักครั้งเดียว จะมีบ้างก็หงุดหงิดนิดหน่อย แต่สุดท้ายพวกเราก็จะได้กลิ่นแกงไตปลาโชยมาแต่ไกล พร้อมด้วยเสียงเจียวไข่ และแล้วพวกเราก็มีมติของที่ประชุม สรุปลงที่ ข้าว ไข่เจียว แกงไตปลา อย่างเป็นเอกฉันท์ ทุกคราไป ระหว่างกินข้าวแม่ก็จะเริ่มอธิบาย "ทิ้งกากเอาแก่น" "ชี้ขาดที่การปฏิบัติ" "การเคารพในความคิดต่าง" "เสมอภาค" และ...
วาทกรรม "คุยกันให้ขี้บุหรี่กองท่วมหัว" จึงเป็ยถ้อยคำที่ฝังอยู่ในใจพวกเราจนถึงทุกวันนี้ เพราะหากเข้าไปดูให้ลึกถึงวาทกรรมนี้ของแม่ ข้าพเจ้าคิดว่า มีหลายนัยที่แฝงอยู่อยู่ไม่น้อย คือ เราต้องจับหลักในแต่ละเรื่องนั้นให้ได้ (ทิ้งกากเอาแก่น) เราต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนนำไปปฏิบัติได้ และข้อสุดท้ายสำคัญที่สุด คือ เราต้องเคารพในความคิดต่าง เสมอภาคในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าและเพื่อนทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย คราใดที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนานเกินไป ก็จะมีเพื่อนหยิบ วาทกรรมนี้ของแม่มาเตือนสติกันอยู่เสมอ
วันนี้...แม่จากพวกเราไปแล้ว คงเหลือไว้แต่เรื่องราวความดีงาม ตำนานของคนจริง ที่เลือกข้างความถูกต้อง และสำคัญที่สุด คือ "แบบอย่างอันทรงคุณค่า แห่งการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น" ของแม่อารมณ์ มีชัย จะตราไว้ในดวงใจของพวกเรา และทุกๆคนที่ได้สัมผัสกับแม่ เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง เจริญรอยตามได้อย่างไม่ลังเลตลอดกาล
รักและเคารพแม่เสมอ
อั๋น ชูวิทย์ จันทรส ตัวแทนลูกๆ สานแสงทอง รุ่น 36
อั๋น ชูวิทย์ จันทรส ตัวแทนลูกๆ สานแสงทอง รุ่น 36
ที่มา "อารมณ์ มีชัย ตราไว้ในใจชน"
หนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์อารมณ์ มีชัย
22 กุมภาพันธ์ 2552
+
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น