ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี ที่รู้จักอาจารย์อารมณ็มา กล้ากล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิใจว่าอาจารย์คือ "ครูผู้มีอุดมการณ์ที่แรงกล้า โดยเฉพาะอุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์เพื่อประชาชนคนยากไร้ในแผ่นดิน" อีกทั้งอาจารย์ยังเป็นผู้ที่มีความอดทน มุ่งมั่น เข้มแข็ง ต่อความยากลำบากทั้งปวงในการเดินทางอันยาวนาน เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ที่ดีงามของตน ซึ่งบนหนทางไกลของอาจารย์มีเรื่องราวมากมายเหลือเกิน
ประมาณปี พ.ศ.2525-2526 ผมมีโอกาสไปขลุกอยู่บ้านอาจารย์ที่นครศรีธรรมราชบ้าง เพื่อฟังความคิดและความรู้ทางการเมือง รวมทั้งอ่านหนังสือแนวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กระทั่งดูเพื่อนซ้อมวงดนตรีเพื่อชีวิต วง "เม็ดทราย" ช่วงนั้นอาจารย์ทั้งถูกกดดัน ถูกค้นบ้าน และถูกขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์จากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ และผู้ที่มีทัศนะตรงข้ามอยู่มากพอควร แต่อาจารย์ก็ไม่ย่อท้อหรือหวาดกลัว
ปี 2534 รสช.ทำการรัฐประหาร พวกผมและชาวรามคำแหงทำการต่อต้านด้วยการชุมนุมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราม คำแหงและต่อสู้เรื่อยมาจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อาจารย์อารมณ์ อาจารย์เจริญ เป็นกำลังสำคัญที่ทุ่มเท เสียสละ ร่วมกับชาวรามคำแหงและพี่น้องนักศึกษา ประชาชนเป็นจำนวนมากจนประสบชัยชนะ
วันหนึ่งอาจารย์เจริญ ผู้เป็นสามีได้จากไป ผมไปร่วมงานศพยังจำได้ดีว่า ผมตั้งใจจะกล่าวถ้อยคำเพื่อให้กำลังใจต่ออาจารย์อารมณ์ แต่อาจารย์เข้ากอดผมพร้อมตบบ่าแล้วกลับปลุกปลอบผมแทน อาจารย์ไม่มีน้ำตา แต่มีน้ำคำที่ย้ำให้สืบทอดอุดมการณ์ของอาจารย์เจริญอยู่มิได้ขาด
6 กุมภาพันธ์ 2552 ผมได้ไปเยี่ยมอาจารย์อารมณ์ที่โรงพยาบาล ทั้งๆที่อาจารย์รู้ว่า ช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงในเวลาอีกไม่นาน แต่ก็ไม่มีแววตาสีหน้าอาการแห่งความกลัวแม้แต่น้อย เรื่องสำคัญของการพูดคุยระหว่างผมกับอาจารย์ที่ผมเคยฟังมานานแล้ว และจะจดจำจนวันตาย ณ วันนั้น คือ "ประชาธิปไตย และคนยากจน" แม้นช่วงสุดท้ายของชีวิตอาจารย์ยังยิ้มสู้และพร่ำพูดถึงความหวังดีที่มีต่อ คนอื่นและสังคมไทย
ขอให้ไปสู่สุคติเถิดอาจารย์ของผม เจตนารมณ์ที่ดีงามไม่มีวันสูญสลาย
สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์
สมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช
สมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช
ที่มา "อารมณ์ มีชัย ตราไว้ในใจชน"
หนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์อารมณ์ มีชัย
22 กุมภาพันธ์ 2552
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น