วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตายที่ไม่ตาย โดย เดช พุ่มคชา

ตายที่ไม่ตาย โดย เดช พุ่มคชา
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

เดช พุ่มคชา - 17 พฤษภาคม 2550

            ค่ำวันหนึ่งปลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความร้อนระอุ ลมการเมืองไทยปะทะกับระบอบทักษิณ ที่ศาลาหนึ่ง ร่างของเพื่อนชาวเยอรมันนอนสงบนิ่งในโลง คุณวอลเตอร์ สะโครบาเนค กัลยาณมิตรของคนด้อยโอกาสและผู้ทำงานย่านภูมิภาคนี้ ในฐานะที่เป็นผู้แทนขององค์การแตร์แดซอม มาส่งเสริมการพัฒนางานครั้งนั้น อ๊อด (ภิรมย์ คล้ายจินดา) มือขวา (ในเมืองไทย) ของคุณวอลเตอร์ ทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ้าภาพต้อนรับขับสู้ ดูแลประสานการต่างๆร่วมกับคุณศิริพร (ภรรยาคุณวอลเตอร์) สุวิทย์ นำหรีดพี่น้องสลัมคารวะผู้วายชนม์ นับว่าเป็นการชุมนุมนักกิจกรรมสังคมสาขาต่างๆที่คับคั่งครั้งหนึ่ง ไม่ว่าสหาย 66/2523 หรือไม่ก็ตาม

            เป็นธรรมดาของผู้คนเช่นเราๆตั้งใจไปร่วมงานคนที่รักและศรัทธา เมื่อเจอกันก็อดไม่ได้ที่จะจับแก๊งค์ สนทนาพาทีวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งสารพัดนินทา โดยเฉพาะการเมืองเรื่องชอบคุน เช่นเคย วันนั้นสุวิทย์เป็นคนที่ให้ข้อมูลเบื้องหลังเบื้องลึกได้ค่อนข้างมากในฐานะ ที่เขาเป็นคนทำหน้าที่โฆษกเวทีพันธมิตรพิชิตหน้าเหลี่ยม และเขายืนหยัดสายเอ็นจีโอ ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ เมื่อเลิกเวทีสยามพารากอนแล้วมีการรัฐประหารอีกหลายเดือนต่อมา

            หลังวันนั้น เราแยกย้ายกันสู่งานของแต่ละคน เอ็นจีโอ กลุ่มพวกผมถูกสถานการณ์เรียกชุมนุมกันโดยด่วนอีกครั้ง ในวันที่ 8 มีนาคม 2550 ในงานฌาปนกิจศพอย่างกระทันหันของอ๊อด (หัวใจวาย) ที่บางระกำ พิษณุโลก บ้านเกิดของอ๊อด

            ชั่วโมงนั้นแดดจ้าฟ้ากระจ่าง
            กาเหว่าพร่างพองเสียงสำเนียงก้อง
            มิตรสหาย ชายหญิง ญาติร่วมประคอง
            โลงขาวขลิบทองสู่ปูนเมรุ
            เป็นสุข..เป็นสุข เถิดอ๊อด
            บุรุษยอด เกิดมาสมค่าเห็น
            ดี-จริง-งาม สิ่งควรเป็น
            กาเหว่าเร้น แซมเสียงเคียงเมรุ
            สุวิทย์ ก้าวย่างวางผ้าพาด
            ร่วมประศาสน์ อุทิศ แทนมิตรที่เห็น
            แด่อ๊อด แลประดาเจ้ากรรมนายเวร
            เขาดูเด่น..เช่นที่เคย

            พวกเราแยกย้ายจากกันยามบ่าย ..ของวันนั้น ก่อนจากกันผมและหลายๆคนยังแซวกันว่า ต่อไปตามึงละ
            ผมตบไหล่ บำรุง (บุญปัญญา) ท่ามกลางพี่ๆน้อง ตามด้วยคำพูดว่า ใครจะไปก่อนกันวะ เช้าวันที่ 12 มีนาคม ผมอยู่ในหมู่บ้านจังหวัดชุมพร โทรศัพท์ข่าวของสุวิทย์ ทำให้เช้าวันนั้นของผมพลอยหมองหม่นไปด้วย
            ผมผันตัวเองจากอีสาน มาร่วมงานในมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ปี 2533 หลังวันวาเลนไทน์ ปี 2534 นายพลเสื้อคับ เป็นหัวหน้ารัฐประหาร อาจารย์โคทม อารียา สมชาย หอมละออ สมพงษ์ พัดปุย พร้อมผมและน้องๆร่วมประชุมกันที่ สภาคริสตจักรฯ สะพานหัวช้าง ราชเทวี ที่ประชุมเห็นชอบฟื้นฟูคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขึ้นอีกครั้ง (ครป.เกิดขึ้นเมื่อปี 2522 ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่นักการเมืองท่านหนึ่งให้ฉายาว่าฉบับหมาเมิน ) ต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นำอยู่ ผนวกกันเพื่อต่อสู้ประชาธิปไตย

            ผมได้ร่วมงานใกล้ชิดกับสุวิทย์โดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคมปีนั้น สายคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสากลครั้งสำคัญเป้นโอกาสแรก ตอนที่ธนาคารโลกมาจัดประชุม โดยรัฐบาลไทยจัดสร้างศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ ต้องไล่รื้อ ชุมชนไผ่สิงโต จำนวนหนึ่งออกไป เราประสานกับเอ็นจีโอ สายสลัม สุวิทย์เป็นคนหนึ่งที่ร่วมและช่วยเหลืออย่างแข็งขัน ช่วยให้คนด้อยโอกาลชนบทและสลัมได้สัมพันธ์เป็นเครือข่าย เข้าอกเข้าใจปัญหาองค์รวมได้ดียิ่งขึ้น หลายครั้งหลายหนที่พี่น้องจากชนบทมีความจำเป็นต้อง สื่อสารปัญหาของการพัฒนาที่ผิดพลาดในกรุงเทพฯ พี่น้องชาวสลัมจะเป็นทั้งปริมาณคนเข้าร่วม เสบียงหรือแม้แต่ที่พักคนจนเมือง และชนบทก็เข้าอกเข้าใจกันดียิ่งขึ้น จนรวมเป็นสมัชชาคนจน (2538) และร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อประท้วงและผลักดันให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมร่วมกัน มาจนถึงปัจจุบัน สุวิทย์แสดงสปิริต ร่วมด้วยช่วยกันมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าบางครั้งเขาจะแสดงความคิดเห็น คัดค้าน แบบฟันธงอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา

            ผมรู้จักภูมิหลังของสุวิทย์ ผ่านสมภพ บุนนาค ซึ่งเป็นรุ่นน้องรุ่นพี่กันที่ มศว.บางแสนยุคก่อน สุวิทย์เป็นกรรมการศูนย์นิสิต นักศึกษาและร่วมมีบทบาทเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องของกลุ่มก้าวหน้าเสมอๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปริศนา เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ทั้งสองเร้นกายสู่มหาวิทยาลัยธรรมชาติคนละภูมิภาค สมภพได้ไปแสดงฝีมือพ่อครัวที่โจษจันในกลุ่ม ส่วนสุวิทย์แสดงฝีมือการเคยเป็นอาจารย์นักเรียนช่างกลให้ปรากฏเล่าขานกันใน เขตงาน เหตุการณ์ผันแปร เขาทั้งสองต้องออกมาล่าฝันต่อกับเอ็นจีโอและสุวิทย์ก็ยังคงเป็นน้องที่เห็น คุณค่า เคารพ นับถือพี่สมภพของเขาเสมอต้นเสมอปลาย
            ต่อมาเมื่อ ครป.ย้ายสำนักงานจากสมาคมสิทธิเสรีภาพ (สสส.) มาอยู่ที่ตึก มอส. ผมและสุวิทย์ได้เพิ่มความใกล้ชิดในงานมากยิ่งขึ้น ได้ช่วยให้ ครป.ซึ่งมีจริตและความชำนาญเรื่องการรณรงค์ประชาธิปไตยและการเมือง ได้เพิ่มความเข้าใจ ประเด็นการพัฒนาและขบวนการสังคมใหม่ ซึ่งมีความจำเป็น   ในการเคลื่อนไหวการพัฒนาแบบองค์รวม ผมแอบหวังอยู่ในใจว่า คงจะช่วยกันให้ความเข้าอกเข้าใจในขบวนงานสังคมของเครือข่ายต่างๆได้ดียิ่ง ขึ้น ระยะหลังขบวนการประชาชน และเอ็นจีโอขยายบทบาทมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่างานก็ยิ่งทำยิ่งยากขึ้น เราต้องสูญเสียคนของเราจำนวนหนึ่งอยู่บ่อยๆ เมื่อเข้าสู่วงการเมือง หรือแม้แต่เข้าไปมีบทบาททางการกับภาคราชการ พวกเราส่วนหนึ่งคิดถึงการมีพรรคการเมืองของเราเอง สวนรักที่อัมพวาของผม ได้เคยใช้เป็นที่สุมหัว คิดตั้งพรรค ปรับเปลี่ยนกันไม่น้อยกว่าสองครั้ง แต่ก้ไปไม่ได้เท่าไร จนในที่ประชุมสมัชชา ครป. ครั้งล่าสุดที่มหาวิทยาลัชราชภัฏจันทร์เกษม สุวิทย์ประกาศไม่ขอมีตำแหน่งใดๆใน ครป. และจะตระเวนไปเตรียมการตั้งพรรค สถานการณ์โดยรวมไม่เอื้ออำนวยทำให้เขาต้องข้องแวะกับรัฐบาลและประชาธิปไตย ...ของสังคมไทยและชนชั้นนำทำให้เขามีเวลาไม่พอที่จะสร้างพรรคการเมืองให้ เป็นจริงได้ ปัจจุบันไม่มีเขาแล้ว เขาทิ้งประวัติศาสตร์จิ๋วๆไว้ให้กับสังคมไทย  พิภพและมิตรสหายต้องทบทวนกันต่อ

            สุวิทย์ก็เหมือนมนุษย์โดยทั่วไป เขามีข้อบกพร่องอย่างน้อยหนึ่งสิ่ง ที่ระยะหลังนี้ผมประสบด้วยตัวเอง และน้องๆเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า หลายครั้งที่มีการปรึกษาหารือ หรือกินดื่มในหมู่มิตร น้องๆเมื่อได้ที่เขามักแขวะบางคนในวงบ่อยๆ บางครั้งถึงกับเสียมิตรกันไป จนถึงต้องมีการไกล่เกลี่ยตามมา

            จากปี 2533 จนถึงวันจากกัน ผมรับรู้และประสบด้วยตนเองว่า เขาไม่เคยคิดฉวยโอกาส ถ้าเขาตัดสินใจสมัคร สว.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น เขาได้รับเลือกอย่างแน่นอน เขาจะคิดถึงมวลชนคนด้อยโอกาสอยู่เสมอๆ เขาเลือกอยู่กับเอ็นจีโอจนๆ นึกถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าตนอง และองค์กรที่สังกัด และซื่อสัตย์เสมอ
            ช่วงพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย เขาติดตามเรื่องราวอย่างจดจ่อมาก่อนหน้าเข้าร่วมมานาน รับฟังจากเบื้องล่างทุกระดับ เมื่อกลุ่มประกาศรับบริจาคที่ท้องสนามหลวง เอ็นจีโอสาย กป.ได้รับมอบหมายให้ดูแลเงินบริจาค จากสนามหลวง จนถึงหัวค่ำวันสุดท้ายฝนตกหนักที่ตึก กกต. หลังจากประกาศสลายตัวตอนเช้าที่สยามพารากอน ยอดเงินผ่านชุดนี้ 19 ล้านเศษ เราช่วยกันเป็นผู้ดูแลชั้นต้นก่อนถึงตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯ 5 คน ผมและน้องๆกลุ่มหนึ่งต้องช่วยกันดูแลการอนุมัติ เบิกจ่าย ทำบัญชี สรุปประจำวัน ให้สุวิทย์ประกาศบนเวทีทุกวัน ในช่วงทำงาน สุวิทย์ไม่เคยมาเบิกค่าใช้จ่ายจากกองกลางนี้เลย เขาต้องไปสื่อสารกับพันธมิตรฯในส่วนต่างจังหวัด ในหลายแห่งหลายครั้ง เขากลับมาพร้อมกับซองเงินหรือเงินพับซ้อนกัน บอกว่า มีคน กลุ่ม ฝากบริจาคมาช่วย พันธมิตรฯครั้งหนึ่ง เขาต้องออกเดินสายยาว ผมอนุมัติเงินสดเป็นค่าเดินทางให้ไปล่วงหน้า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเดินทาง เขาแจ้งกับผมว่าไม่ขอเบิกเงินก้อนนั้นแล้ว เพราะเครือข่ายต้นสังกัดของเขาจ่ายให้เอง และเขาแจ้งว่า ได้ฝากเงินดังกล่าวให้มาคืนส่วนกลางแล้ว จนถึงขณะนี้ส่วนกลางยังไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น เห็นทีจะต้องเล่นผีถ้วยแก้ว ถามเรื่องนี้กับสุวิทย์สักหน่อยเป็นไร

            ระหว่างที่ผมยังงงๆกับข่าวที่ได้รับในเช้าวันนั้น ถ้อยคำ สี่วลี ถูกคิดและถ่ายทอดถึงน้องๆ และแปรเป็นแถบผ้าสีแดงขึงอยู่ท่ามกลางหรีดและช่อดอกไม้ ในงานสวดพระอภิธรรมให้เขาเรื่อยมา

                ลูกที่ดีของแม่พ่อ
                ศิษย์สมพอ ของครู อยู่เสมอ
                เกลอของเพื่อน ไม่เคยเบลอ
                สหายผู้ไม่เผลอ ห่างมวลชน
                ไปสบายเถอะนะน้อง
                สุ      สง่าเอี่ยมเลี่ยมแล้   จิตใจ เขาคง
                วิทย์   ส่งสืบสหาย         มุ่งสร้าง
                วัด     ตวงห่วงเรื่องร้าย     เธอร่วม เสมอตัว
                หนู   ดั่งหลั่งแรงล้าง        ไป่เรื้อ  ตราบวาย

วันครบรอบ 15 ปี พฤษภาหฤโหด
สวนรักปลายคลองลำประโดงลึก อัมพวา         

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน