วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เชิญร่วมงาน มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๖ น้ำท่วม น้ำแห้ง แล้งน้ำใจ...อยู่ด๊ายยยยย! ๑๖ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕

มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๖
น้ำท่วม น้ำแห้ง แล้งน้ำใจ...อยู่ด๊ายยยยย!
ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

หลักการและเหตุผล
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เราชาวไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ เกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกภูมิภาค คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า ๖๐๐ คน และส่งผลกระทบเดือดร้อนกับครอบครัวนับล้าน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีแนวทางป้องกัน แก้ไขที่ชัดเจน อันจะเป็นหลักประกันได้ว่าอุทกภัยใหญ่เช่นที่เกิดขึ้นนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในปี ๒๕๕๕ นี้



นอกจากเหตุน้ำท่วมใหญ่แล้ว เพียงระยะเวลาไม่ถึง ๒ เดือนต่อมา หลายจังหวัดของประเทศต้องเผชิญกับ ภัยแล้ง ในขณะที่ภาคเหนือตอนบนต้องประสบกับภัยหนาว และภาคใต้เผชิญกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สาดซัดชายหาด จนแผ่นดินทรุดหายไปหลายกิโลเมตร เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าเรากำลังเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในอนาคตข้างหน้าลูกหลานของเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่มีความแปรปรวนทางภูมิอากาศอย่างสูง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกิดเพราะน้ำมือมนุษย์ ที่สูบกิน เผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติประหนึ่งว่าจะไม่มีวันหมดสิ้น

ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ เป็นผลทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ทั้งในคน สัตว์ พืช ที่คาดการณ์และหาทางป้องกันไม่ได้ ขณะเดียวกันการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรไปกับอุทกภัย ภัยแล้ง จะส่งผลเป็นความขาดแคลนอาหาร กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่นานาประเทศเป็นกังวล ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจของโลกที่อิงกับประเทศซีกโลกตะวันตก ก็กำลังง่อนแง่น คาดการณ์ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยที่ผูกอยู่กับตลาดส่งออก ก็มีแนวโน้มนับถอยหลังถึงวันที่จะต้องประสบกับวิกฤตการณ์ที่หนักหนาสาหัสอีกครั้ง

ย้อนกลับมามองเหตุการณ์ในประเทศ ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิด การแบ่งกลุ่มฝ่ายหลายขั้ว ในแทบทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไม่อาจกระทำได้สำเร็จ อันเป็นผลจากความขัดแย้งของคู่ขัดแย้งทางสังคม

เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เคยทรงเตือนไว้แล้ว เมื่อสิบกว่าปีก่อน หากจะได้ย้อนไปพิจารณา ส.ค.ส.พระราชทานเมื่อปี ๒๕๔๗ จะเห็นระเบิด ๔ ลูกอยู่รอบประเทศ พร้อมข้อความว่า “มีระเบิดอยู่ทั่วไป” และทางออกที่ทรงพระราชทาน คือ “สามัคคี คือ พลังค้ำจุนแผ่นดินไทย”

เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ตีความระเบิด ๔ ลูก ว่าคือ วิกฤต ๔ ด้าน อันได้แก่ วิกฤตภัยพิบัติ โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางสังคม จึงได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการฝึกอบรม บ่มเพาะ เตรียมคน ตั้งศูนย์ฝึกกระจายกระจายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันจัดตั้งได้ ๕๒ ศูนย์ฝึก และ ๓๓ ศูนย์เตรียมการ เป็นจำนวน ๘๕ ศูนย์ ซึ่งในแต่ละปีจะได้จัดงานใหญ่เพื่อพบปะ และแสดงผลการดำเนินงานของแต่ละปี ในงาน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน” งานประจำปีของเครือข่าย โดยในงานจะได้มีการประมวลสรุปผลการดำเนินงาน และจัดงานเสวนาในประเด็นที่สำคัญ โดยในปีนี้งานเสวนา จะได้จัดดำเนินการตีความ “พระราชนิพนธ์พระมหาชนก” ซึ่งเครือข่ายเราเชื่อว่าในบทพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ท่านใช้เวลายาวนานกว่า ๑๑ ปี มีปริศนาทางรอดจากภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ซ่อนอยู่ เป็นรหัสที่ควรให้ความสำคัญในการศึกษาตีความ ดั่งที่เคยปรากฏให้เห็นมาแล้วจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา

แม้วิกฤตการณ์จะเกิดขึ้นและดำเนินไป หลายคนอาจมองว่าเปล่าประโยชน์ที่จะลงมือทำ เพราะไม่มีทางทันการ แต่เครือข่ายเราเชื่อว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน” ท้ายที่สุดแล้ว แม้ไม่อาจหยุดยั้งพิบัติภัยได้ แต่สิ่งที่ทำในวันนี้ จะเหลือเป็นร่องรอยบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ดั่งการเพาะหน่ออ่อนของต้นกล้ามะม่วงให้เติบโต

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของการปฏิบัติตามแนวทางจากการตีความ บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก “๙ วิธีฟื้นฟูต้นมะม่วง” แปลความสู่การปฏิบัติ และตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จ
๒. เพื่อตอกย้ำและสร้างความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ธรรมชาติ อันคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติในปัจจุบัน ตลอดจนระดมกำลังความคิดจากทุกภาคส่วน ผนึกประสานสามัคคีทุกระดับในรูปของเบญจภาคี
๓. เพื่อดำเนินการตามศาสตร์พระราชา ส่งผลต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำได้ทันที และอยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง
๔. เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้กว้างยิ่งขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศ ภาควิชาการ สถานการศึกษาทุกระดับ ภาคประชาชน ในเมืองและชนบท ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมและสื่อ โดยเน้นย้ำความไม่ดูดาย การให้ และสังคม บุญ-ทาน อันเป็นรากเหง้าของสังคมไทย
๕. เพื่อสานต่อและประมวลความคืบหน้าปฏิญญามาบเอื้อง

เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ
มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ ภาควิชาการสถานศึกษา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ จำนวน ๑๕,๐๐๐ คน
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
๑. เกิดการตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิถีการดำเนินชีวิต เพื่อหยุดยั้งวิกฤตอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และการเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยการพึ่งตนเองในทุกด้าน อันเป็นทางรอดจากทุกวิกฤตการณ์
๒. เกิดการระดมสรรพกำลังทั้งภาคภาครัฐ ภาควิชาการ สถานศึกษา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ ในการรองรับและแก้ไขปัญหาสภาพวิกฤต ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมที่เป็นจริงในวงกว้าง
๓. ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทุกระดับร่วมกันสรุปผลยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อประกาศเป็นปฏิญญาร่วมกัน ปฏิบัติตนตามศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นทางรอดจากวิกฤต

ระยะเวลา
ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕

สถานที่จัดงาน
ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
โทร. ๐๓๘ ๒๖๓ ๐๗๘




รูปแบบการจัดงาน
๑. พิธีสงฆ์ และฟังเทศน์ชาดกเรื่อง พระมหาชนก ร่วมตักบาตรพระสงฆ์ และเณร ๘๕ รูป
๒. การจัดกิจกรรมแสดงผลสำเร็จของการนำเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ๔ ภาค
๓. การเสวนา ถอดรหัสทางรอดจากภัยพิบัติ บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
๔. การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร สินค้าเกษตรอินทรีย์ และอาหารพื้นบ้าน
๕. กิจกรรมภาคสนาม การละเล่น และการแสดงวิถีวัฒนธรรมประจำภาค ๔ ภาค
๖. การจัดแสดงและฝึกปฏิบัติ ฐานการเรียนรู้ ๙ ฐานเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง





ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ภาคีทุกภาคส่วนเกิดการตระหนัก ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาที่ประกาศร่วมกันในการปฏิบัติตนตามศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นทางรอดจากวิกฤต
๒. ภาคีทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อ และภาคประชาชนได้ร่วมกันสร้างตัวอย่างแห่งความสำเร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพวิกฤต ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมที่เป็นจริงในวงกว้าง



ผู้รับผิดชอบโครงการ
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ (คกช.)

เครือข่ายองค์กรร่วมจัด
๑. มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ (คกช.)
๒. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง
๓. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (สกพ.มรร.)
๔. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
๕. เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย
๖. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
๗. เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน
๘. เครือข่ายเกษตรสมดุลย์-ไร่ทักสม
๙. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
๑๐. เครือข่ายธนาคารต้นไม้
๑๑. มูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation)
๑๒. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
๑๓. บริษัท เคเอสแอล การเกษตรจำกัด
๑๔. บริษัท เอไอเอส (มหาชน) จำกัด
๑๕. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมืองโบราณ
๑๖. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด
๑๗. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
๑๘. บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
๑๙. บริษัท ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท
๒๐. บริษัท ริเวอร์โปร กรุ๊ป จำกัด
๒๑. บริษัท เค เอฟ ฟู๊ด จำกัด
๒๒. ชมรมนักปั่นสะพานบุญ
๒๓. ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย
๒๔. สิงห์สลาตัน
๒๕. บริษัท สหพีร์ จำกัด

ดาวน์โหลด แบบตอบรับการเข้าร่วมงาน

ดาวน์โหลด เอกสารแสดงความจำนง สนับสนุนการจัดงาน
สถานที่:
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
วันที่:
๑๖-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕
แหล่งที่มา:
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ สัมมากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน