วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551

คุณโอ คุณเชิด โดย จัตุรันต์ คชสีห์

คุณโอ คุณเชิด   โดย จัตุรันต์ คชสีห์
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึก ถึง)

จัตุรันต์ คชสีห์ สหายสืบแสง -  11 พฤษภาคม 2552

สหาย กองทัพชุมพร เรียก คุณโอ
สหายกองทัพสุราษฎร์ธานีเรียก  คุณเชิด          

            5 ปีที่ร่วมงานในเขตป่าเขาชุมพร และ 5 ปีที่ร่วมงานทางการเมือง ในระบบรัฐสภาที่คุณสุวิทย์ เป็นผู้ช่วย ส.ส.ทำให้ผมและคุณสุวิทย์เข้าอกเข้าใจกันมาก ไม่คาดคิดเลยว่าคุณสุวิทย์จะด่วนจากไป ในขณะที่วัยกำลังอยู่ในระยะเวลาที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อภารกิจการงานของ คนยากคนจนที่บางส่วนลุล่วงไป บางส่วนกำลังดำเนินการ งานการเมืองในส่วนของประชาชนได้เริ่มมาระยะหนึ่ง และกำลังจะยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คุณสุวิทย์คือ กำลังหลัก ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คุณสุวิทย์ถูกศัตรูของประชาชนกำจัดให้พ้นเส้นทางอย่างแยบยลหรือไม่
            หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คุณสุวิทย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ ต้องหลบภัยทางการเมือง เขาสู่เขตป่าเขาเช่นเดียวกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนหนึ่ง ค่าย 508 เขตป่าเขา ช่องช้างจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือสถานที่แห่งแรกที่หล่อหลอมให้สุวิทย์ เป็นนักรบของประชาชน ด้วยร่างกายที่บึกบึนสูงใหญ่และแข็งแรง จึงได้รับมอบหมายให้สังกัดกองร้อยที่ค่าย 508 กองทัพปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศไทย ภายใต้ารนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

            ชีวิตทหารซึ่งเป็นนักรบของประชาชน ได้หล่อหลอมให้คุณสุวิทย์เป็นนักรบที่ดี มีบทบาทสูงเด่น ผ่านการรบที่ดุเดือดและเหตุการณ์หลายสิบครั้ง รวมทั้งร่วมต้านการล้อมปราบปกป้องฐานที่มั่นช่องช้างปี 2520 ระยะหลัง การรบทุกครั้ง คุณสุวิทย์จะถูกมอบหมายให้สังกัดหน่วยตะลุมบอน ซึ่งอยู่ในแนวรบหน้าสุด เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา  สหายร่วมรบ จะได้เห็นลักษณะสุขนิยมในงานฉลองชัยชนะจากการรบทุกครั้ง หรืองานฉลองในวาระสำคัญของค่ายหรือของพรรค คุณสุวิทย์จะแสดงลำตัด ซึ่งเป็นศิลปะของประชาชนไทยในภาคกลางทุกครั้งที่ถุกเรียกร้องจากสหาย
            ปี 2523 คุณสุวิทย์ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยงานทางยุทธศาสตร์ของพรรคที่จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นเขตสู้รบใหม่สุดในสมรภูมิภาคใต้

            ค่ายใหม่ เขตงานใหม่ มวลชนยังไม่แน่นหนา จึงถูกมอบหมายให้สัมผัสมวลชนเป็นครั้งแรก ในหน่วยของสหายนิยม รับผิดชอบด้านตะวันออกเฉียงใต้ของค่ายเขาไผ่ เขตครองสง คลองโสด ตลอดถึงอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            ปฏิบัติงานในหน่วยงานมวลชนอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีการจัดตั้งกองทหาร คุณสุวิทย์จะถุกเรียกตัวเข้าสังกัดำกองทหาร เป็นรอง ผอ.กองร้อย เป็นกำลังหลักในการฝึกทหารและการรบ ปฏิบัติการทางทหารและกองทัพ 10 ครั้ง คุณสุวิทย์เป็นหน่วยตะลุมบอน ซึ่งอยู่ในแนวรบหน้าสุดทุกครั้ง เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติงานที่สังกัดอยู่ที่ 508 สุราษฎร์ธานี ด้วยความกล้าหาญและสุขุมรอบคอบ ชีวิตทหารของคุณสุวิทย์ไม่เคยได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบเลย
            ปี 2525 คุณสุวิทย์ได้รับมอบหมายภารกิจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต้องไปร่วมปฏิบัติในหน่วยงานมวลชนกับสหายประยูร ที่ค่ายอำเภอสวี จังหวัดชุมพร งานมวลชนที่เขาค่าย เป็นเขตงานใหญ่กินพื้นที่ด้านตะวันตกของอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เกือบทั้งหมด เป็นแหล่งเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นพื้นที่กาแฟราคาสูง มีมวลชนหนาแน่น โดยเฉพาะพี่น้องที่ย้ายถิ่นฐานจากภาคอีสานไปทำกิน ในหน่วยงานจึงแบ่งสหายผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 2 หน่วย คุณสุวิทย์เป็นหัวหน้ารับผิดชอบหนึ่งหน่วย  ได้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน ไม่ต้องทิ้งที่ทำกินอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการจัดการอย่างเด็ดขาดกับพวกอันธพาล ที่ประสงค์จะแย่งยึดส่วนกาแฟของพี่น้องชาวอีสาน ด้วยการปฏิบัติงานอย่าเที่ยงธรรมและเด็ดขาด ทำให้คุณสุวิทย์เป็นที่เคารพรักของมวลชนในเขตเขาค่ายอย่างมาก แม้ต้องออกจากป่าเขา เข้าทำงานให้กับคนยากจนในเมือง คุณสุวิทย์และมวลชนที่เขาค่ายก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

            บริเวณเนิน 491 อำเภอท่าแซะ ซึ่งเป็นเขตงานสูงสุดของกองทัพชุมพร พี่น้องอีสานชุดแรกที่เข้าทำกิน จนปัจจุบันนี้เป็นแหล่งประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนที่หนาแน่นและกว้างขวาง มีพี่น้องอีสานทุกจังหวัดอยู่ที่นั่น ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสแนะนำผลักดัน และอำนวยความสะดวกจากเขตงานเขาค่าย ซึ่งคุณสุวิทย์เป็นกำลังสำคัญ

            ปี 2528  ปลายปี จากสภาพที่การต่อสู้ด้วยอาวุธอ่อนตัวลงอย่างมาก เขตงานอื่นๆทั่วประเทศได้สลายตัวไปเกือบหมดแล้ว คุณสุวิทย์ได้อำลาเขตป่าเขาเข้าเมือง  แต่ยังไม่ยอมมอบตัว จนกระทั่งปี 2529 ตัวผม (จัตุรนต์ คชสีห์ สหายสืบแสง) ซึ่งออกจากเขตป่าเขาก่อนล่วงหน้าประมาณ 8 เดือน โดยไม่ยอมมอบตัวได้สมัครผู้แทนราษฎร จนได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร คุณสุวิทย์จึงเข้าปฏิบัติการเมืองในระบบรัฐสภา เป็นผู้ช่วย ส.ส. ตลอด 2สมัย เป็นเลขา 5 ปี สมัยหลังปฏิบัติหน้าที่ที่มูลนิธิดวงประทีป  ควบคู่ไปด้วย

            การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ช่วย ส.ส.เป็นกำลังหลักทั้งงานในส่วนของรัฐสภา และงานในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ได้วางหลักเกณฑ์หลายประการ ที่จะให้การเมืองพ้นจากสภาพน้ำเน่า  ได้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งมากมาย และได้ร่วมเป็นคณะของเจ้าหน้าที่ประเทศไทยในการประชุมองค์การกาแฟโลก (I.C.O) เพื่อศึกษาและยกระดับกาแฟของประเทศไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมัยที่คุณประจวบ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แม้การปฏิบัติงานในช่วงนี้ไม่สามารถจะวางรากฐานที่ยั่งยืนได้ แต่ก้ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะทำการเมืองของประเทศเราให้พัฒนาดียิ่ง ขึ้น

            ความผูกพันระหว่างตัวผมและคุณสุวิทย์ วัดหนู เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มิตรร่วมรบ และผลักดันการงานด้วยกันมาตลอด เป็นเวลานาน เมื่อคุณสุวิทย์ต้องจากไปอย่างกระทันหัน โดยไม่มีโอกาสร่วมงานกันอีก เป็นภาวะที่หดหู่และหวนระลึกถึงเสมอมา โดยเฉพาะคิดถึงการงานที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จะมีผู้สืบทอดให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร? เป้นภาระที่ต้องฝากไปยังผู้ร่วมอุดมการณ์ ทุกๆท่าน ได้ช่วยตอบคำถามนี้ด้วย


ที่ มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชน โดย บารมี ชัยรัตน์

บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชน โดย บารมี ชัยรัตน์
(ว่าด้วยความทรงจำและการ ระลึกถึง)

บารมี ชัยรัตน์

            ก่อนหน้าเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 ผมยังไม่ได้รู้จักมักคุ้นกัยพี่สุวิทย์แต่อย่างใด แม้ในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภา ผมก็รู้จักพี่สุวิทย์แค่ชื่อเสียงและหน้าตาเท่านั้น ไม่เคยมีโอกาสได้พุดคุยกันอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งประมาณเดือนตุลา 2535 นั่นแหละ ผมถึงจะได้มีโอกาสพุดคุยใกล้ชิดกับพี่สุวิทย์มากขึ้น เรื่องของเรื่องคือ พวกเราคิดจะทำสมัชชาคนจนกันขึ้นมา ก็เลยมีการนัดหมายมาคุยกัน โดยพี่บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  เป็นคนประสานงานนัดหมายให้พี่สุวิทย์ พี่โย (บำรุง คะโยธา) พี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) พี่ปุ้ม (วัชรี เผ่าเหลืองทอง) น้อย (ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี) และผม มาคุยกันที่ร้านสกายไฮหลังงานรำลึก 14 ตุลา โดยมีเพื่อนฟิลิปปินส์ชื่อ จิมมี่ และพี่ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักจัดรายการวิทยุชื่อไม่ค่อยดังสักเท่าไร มาร่วมแจมด้วย
            ตอนนั้น พี่สุวิทย์ ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตั้งสมัชชาคนจนสักเท่าไร แกอ้างว่า มันก็เหมือนกับจัดงานมหกรรมประชาชนสู่ศตวรรษที่ 21 (พีพี21) ที่จัดงานกันใหญ่โต แต่สุดท้ายไม่ได้อะไร แม้ตอนหลังมีการนัดหมายพูดคุยเรื่องนี้กันอีก อย่างเป็นทางการที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พี่สุวิทย์ก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี ที่ผมต้องเล่าเรื่องราวตรงนี้ให้ชัดเจนก็เพราะว่า ประเด็นที่พี่สุวิทย์ไม่เห็นด้วยนั้นถือว่า เป็นประเด็นสำคัญคือ แกเห็นว่า พวกเราชอบจัดงานใหญ่ๆกัน แล้วเอาชาวบ้านมาบ่นพร่ำ บรรยายความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนทั้งหลาย สุดท้ายก็จบลงด้วยการจัดริ้วขบวนเล็กน้อยให้พองามตา แล้วอาจจะมีการยื่นหนังสือหรือทำประกาศเจตนารมณ์แล้วก้แยกย้ายกันกลับบ้านไป ชาวบ้านก็ต้องกลับไปผจญชะตากรรมในพื้นที่เอาเอง ส่วนนักพัฒนาทั้งหลายก้ได้หน้าได้ตาได้ทำโครงการกันไป

            ผมว่า มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเราที่ริเริ่มผลักดันงานนี้ขึ้นมาว่า เราจะผลักดันสมัชชาคนจนให้เป็นองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือด ร้อนของชาวบ้านได้จริง หรือเป็นแค่การจัดงานมหกรรมแค่ครั้งเดียวแล้วก็เลิกรากันไป ผมขออนุญาตเล่าเท้าความถึงความเป็นมาของสมัชชาคนจนสักเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับพี่สุวิทย์

            ประมาณปี 2537 สมัยนั้นผมทำงานอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท และช่วยงานสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) อยู่บ้าง เมื่อมีเวลาว่างหรือเมื่อเข้ามากรุงเทพก็จะมาหาเพื่อนๆ ที่โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YT) จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนองค์กรจาก YT ส่วนหนึ่งมาเป็นกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) ซึ่งกลุ่มนี้ก็ตั้งมาจากอาศรมวงศ์สนิทเหมือนกัน และกลุ่มเพื่อนประชาชนก็เป็นองค์กรที่สนับสนุนการดำเนินการของ สกย.อ.อยู่ด้วย ผมได้เจอพรรคพวกหลายคนที่นี่ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ พี่สายน้ำ ตรัสกมล คุยกันไปคุยกันมา แกก็เกิดไอเดียว่า เราน่าจะจัดให้พวกคนจนทั้งหลายมานั่งคุยกันนะ เป็นชาวนาสักกลุ่มหนึ่ง สลัมสักกลุ่มหนึ่ง คนงานสักกลุ่มหนึ่ง และถ้าจะให้ดีควรจะมีนักศึกษาอยู่ด้วย เพื่อจะได้รับรู้เรื่องราวปัญหาของคนจนทั้งหลาย และจะได้เป็นผู้สนับสนุนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องคนจนต่อไปด้วย

            ช่วงนั้น อาศรมวงศ์สนิทมีโครงการอยู่โครงการหนึ่ง ชื่อ โครงการวิสาสะเพื่อสมานไมตรี ผมเลยรับอาสาพี่สายน้ำมาดูว่า จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อนำเรื่องมาปรึกษากับพี่ประชา หุตานุวัตร ผู้อำนวยการอาศรมวงศ์สนิท แกแนะนำว่า ควรจะจัดเฉพาะกลุ่มไปก่อนแล้วค่อยจัดรวมกันอีกที ตกลงใช้ชื่อว่า "เสวนาคนจน" เราจัดงานไปได้ 3 ครั้ง ขาดแต่กลุ่มนักศึกษา ยังไม่ได้จัด เพราะติดสอบด้วยและช่วงนั้นพวกเราก็ไปยุ่งๆอยู่กับการคัดค้านการทดลอง นิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศสอยู่ด้วย

            และช่วงนั้นเอง น้อยกับพี่ปุ้มก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหลายๆคน มีพี่บุญแทนที่เสนอว่าจะทำไปทำไม "เสวนาคนจน" ถ้าจะทำก็ทำ "สมัชชาคนจน" ไปเลยแล้วเชิญคนจนจากหลายประเทศมาเล่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวให้ฟังด้วย เป็นอันว่าเห็นพ้องต้องกัน แล้วพี่บุญแทนก็รับไปประสานงานให้เกิดเวทีขึ้น นี่เป็นในส่วนของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ในขณะที่ในภาคส่วนของชาวบ้าน พี่น้อง สกย.อ.เองก้ประสบปัญหาจากการดื้อยาของหน่วยราชการ เดินขบวนครั้งแล้วครั้งเล่า การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน พี่น้องที่เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร ก็ถุกจับครั้งแล้วครังเล่า พี่น้องที่คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนราษีไศล ก็สู้อยู่อย่างค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ยังไม่นับพี่น้องในสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน พี่น้องที่คัดค้านโครงการเจนโก้ที่ระยอง พี่น้องที่เดือดร้อนจากศูนย์ราชการโพธิ์เขียว สุพรรณบุรี พี่น้องในสลัม พี่น้องในสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบ การ และพี่น้องกลุ่มเล้กกลุ่มน้อยอีกมากมาย ต่างคนต่างสู้และยังมองไม่เห็นชัยชนะ และทุกคนเห็นว่าถ้าร่วมมือกันสร้างสมัชชาคนจนก็จะเป็นความหวัง เป็นพลังในการต่อสู้ของคนจนได้

            แม้ว่าพี่สุวิทย์จะไม่เห็นด้วยกับการเสวนา หรือสมัชชาคนจนก็ตาม แต่ในแง่ของการเคลื่อนไหวแล้ว พี่สุวิทย์เห็นด้วยเต็มที่ ดังนั้นเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ของสมัชชาคนจนเกิดขึ้นจริงๆ พี่สุวิทย์ก็ยืนหยัดอยูเคียงคู่กับพี่น้องมาโดยตลอด ถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญคนหนึ่งของสมัชชาคนจน ในฐานะที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ทำหน้าที่ในการประสานงานกับตัวแทนของรัฐบาล

            ความโดดเด่นของพี่สุวิทย์ในบทบาทหน้าที่นี้ คือ ศิลปะในการเจรจาที่มีลูกล่อลูกชน ใช้ไม้อ่อนไม้แข็ง ตามจังหวะและโอกาส ช่วยให้สมัชชาคนจนไม่ต้องเพลี่ยงพล้ำต่อกลเกมของฝ่ายรัฐได้ แต่ก้ไม่ใช่ไม่เสียมวยเลยนะครับ ที่เสียมวยก็มีครั้งหนึ่ง ตอนนั้นฟอร์มกำลังดี สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ขึ้นมารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้มีการนัดหมายประชุมกับสมัชชาคนจน ปรากฏว่าในวันประชุมมีพี่น้องจากสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ท่านบรรจง นะแส ขอเข้าร่วมแจมด้วย เพราะพี่น้องชมรมประมงที่สงขลากำลังเดือดร้อนจากเรือปั่นไฟปลากะตัก ก็เป็นธรรมดาครับที่เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เดือดร้อนต้องช่วยเหลือกัน แต่การประชุมในวันนั้นท่านนายกฯชวน ท่านก็ทำเสมือนกับว่ามารับฟังปัญหาเฉยๆ ไม่ได้สนใจจะหารือต่อว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร หลังจากซุบซิบหารือกันแล้วพี่สุวิทย์เลยตัดสินใจเสนอปิดการประชุมแบบ walkout
อะไรประมาณนั้น เล่นเอานายกฯชวน อึ้งไปสักพักหนึ่งเลยเหมือนกัน

            และขณะที่พวกเรากำลังเดินออกจากที่ประชุม ปรากฏว่าท่านบรรจง นะแส เกิดโวยวายขึ้นมาว่าเรื่องของสมาพันธ์ประมงยังไม่ได้พูดถึงเลย นายกฯชวน เลยฉวยโอกาสนี้จัดการตีกินทันที โดยการเรียกมาปรึกษาหารือและโทรศัพท์สั่งให้ดำเนินการ จนอ้างได้ว่าได้แก้ไขปัญหาให้คนจนอยู่ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด เรื่องนี้พี่สุวิทย์เห็นว่าเสียฟอร์มมากและกระแนะกระแหนพี่บรรจงอยู่หลายปี ดีดักเลยทีเดียว ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับพี่สุวิทย์และหาโอกาสกระแนะกระแหนพี่บรรจงอยู่เป็นระยะ เหมือนกัน

            พี่สุวิทย์เป็นคนที่มีลักษณะความเป็นผู้นำสูง พูดเสียงดังฟังชัด มีจังหวะจะโคนและลูกเล่นลีลาดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี แม้ในด้านเนื้อหาก็ถือว่าพี่สุวิทย์เป็นคนทำการบ้านคนหนึ่ง เตรียมตัวมาดี ไม่เหมือนหลายๆคนที่ไม่ค่อยได้เตรียมตัวอะไรขึ้นมาพูดแล้วก็ออกอ่าวออกทะเล ไปเรื่อย

            แม้จะเรียกตัวเองว่านักปฏิวัติ แต่พี่สุวิทย์ก็มีคุณลักษณะที่ผิดแปลกไปจากคนอื่น เนื่องจากพี่สุวิทย์ยังคงเป็นคนแบบนักเลงบ้านนอก รักเพื่อนรักฝูง ปกป้องเพื่อนฝูงและน้องนุ่งที่ใกล้ชิดแบบไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลกันเลยที เดียว เช่น คราวหนึ่งพวกเราหลายคนมีเรื่องขัดใจกับพี่จำนงค์ พี่หน่อย และมีการหยิบยกเอามาพูดในวงประชุม พี่สุวิทย์ตัดบททีเดียว ฟันธงแบบไม่ต้องพุดต่อกันเลยทีเดียวครับ"หน่อยไม่ใช่คนอย่างนั้นหรอก ผมรู้จักดี เป็นรุ่นน้องผมที่บางแสน" เห็นไหมครับไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย นอกจากความเป็นน้องที่บางแสน วิสัยนักเลงบ้านนอก นอกจากจะปกป้องแล้วยังต้องดูแลน้องๆ อีกคราวหนึ่ง พี่สุวิทย์ อาจารย์อรรถจักร และผมได้รับเชิญไปคุยที่จุฬาฯ พอคุยเสร็จ พี่สุวิทย์ชวนผมพากันขับรถไปส่งอาจารย์อรรถจักรที่สนามบิน กินเบียร์กันไปหลายขวดกว่าเครื่องบินจะออก พอถึงคราวเก็บเงินอาจารย์อรรถจักรทำท่าจะจ่าย แต่พี่สุวิทย์ข่มทันที "คุณไม่ต้อง อรรถจักร คุณรุ่นน้องผม" อาจารย์อรรถจักรรีบเก็บเงินทันที ส่วนผมไม่ควักอยู่แล้วเพราะยอมรับว่าตัวเองเป็นรุ่นน้องของทั้งสองท่าน

            และอีกเรื่องหนึ่งคือการเคารพผู้อาวุโส แทบไม่น่าเชื่อว่าคนแบบพี่สุวิทย์ที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ยอมศิโรราบให้ใคร แต่เมื่อเจอผู้อาวุโสหลายคนพี่สุวิทย์จะอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ อาจารย์สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ พี่บำรุง บุญปัญญา หรือคนอื่นๆก็ตาม พี่สุวิทย์มักเป็นแม่งานจัดงานแซยิด งานรดน้ำดำหัว หรืองานพิธีต่างๆ ให้กับผุ้หลักผู้ใหญ่เหล่านี้เสมอๆ และเมื่อผู้ใหญ่ไหว้วานอะไร พี่สุวิทย์ก็ยินดีทำให้โดยไม่ขัดข้อง แม้บางเรื่องจะไม่ค่อยเข้าท่าแต่เมื่อถูกขอร้อง พี่สุวิทย์ก็ยังทำให้ เช่น คราวหนึ่งในช่วงที่พี่สุวิทย์ได้รับทุนไปอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ต้องกลับมาเมืองไทยเพื่อทำอะไรสักอย่างก็จำไม่ได้ พี่สุวิทย์กลับมาได้ไม่กี่วันก็โทรมาหาผมชวนไปพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทำเนียบ ผมน่ะพอรู้เรื่องก็ไม่อยากไปหรอกครับ แต่เกรงใจพี่สุวิทย์เลยต้องไป

            เรื่องของเรื่องคือ พี่สุวิทย์บอกว่า พี่เขียว (คุณสมสุข) ที่อยู่ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ซึ่งผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ได้ขอให้พี่สุวิทย์ช่วยคุยกับพลเอกชวลิต ในฐานะประธาน ศตจ. (ศูนยอำนวยการต่อสูเพื่อเอาชนะความยากจน) ให้ ว่างบประมาณที่ได้มาทำบ้านมั่นคงไม่พอ ขอให้ ศตจ.ช่วยอนุมัติงบเพิ่มให้อีกประมาณ พันสองร้อยล้านหรือยังไงนี่แหละ ไปพูดขอเงินพันสองร้อยล้านแบบไม่มีเอกสารอะไรติดมือไปเลย เพราะคนจาก พอช.ที่ว่าจะไปด้วย เห็นว่าชื่อด้วงหรืออะไรประมาณนั้นก้ไม่ไปซะอีก โครงการเป็นยังไงดีหรือไม่ดีก้ไม่รู้ แต่พี่สุวิทย์บอกว่า รับปากพี่เขียวแล้ว ยังไงก็ต้องไป วันนั้นก็สรุปว่า พลเอกชวลิตบอกว่าจะช่วยดูให้ว่ามีงบพอช่วยสนับสนุนหรือไม่อย่างไร แต่หลังจากวันนั้นไม่นาน ไม่ทราบว่าทำไมความสัมพันธ์ของพี่สุวิทยืกับพี่สมสุขจึงเปลี่ยนไป ได้ข่าวว่ามีจดหมายเขียนถึงพี่สุวิทย์ ประมาณว่า ไม่เหยียบเงา ไม่เผาผีกันเลยทีเดียว และไม่ว่างานบวช งานแต่ง งานตาย ถ้าเป็นของพรรคพวกแล้ว สำหรับพี่สุวิทย์ต้องหาทางไปจนได้ เรียกว่าแทบจะไม่เคยขาดสักงานเดียว

            อีกเรื่องหนึ่งที่พี่สุวิทย์มาดมั่นจะทำให้ได้คือ เรื่องการตั้งพรรคการเมือง เรื่องนี้ถกเถียงกันหลายรอบ หารือกันหลายปี ขัดแย้งกันมากมายจนค่อนข้างจะลงตัวอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีใครคัดค้านการตั้งพรรค แต่ต้องไม่เอาขบวนไปผูกพันกับพรรค ซึ่งพี่สุวิทย์ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่น พี่สุวิทย์เลยเดินหน้าตั้งพรรคอย่างจริงจัง ด้วยการขอลาออกจากที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน แม้กระทั่งการชุมนุมของพี่น้องในการผลักดัน พรบ.ป่าชุมชน พี่สุวิทย์ไปเยี่ยมแต่ไม่ยอมขึ้นเวทีเพราะเห็นว่า ตัวเองทำพรรคการเมืองแล้วกลัวขบวนจะเสียหาย เสียดายที่มีเหตุการณ์ขับไล่ทักษิณแทรกเข้ามาก่อนพรรคการเมืองของพี่สุวิทย์ เลยไปไม่ถึงไหน ไม่รู้ว่าใครจะสานงานต่อหรือเปล่า

            ช่วงหลังแม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องของการชุมนุมขับไล่ทักษิณ ที่ผมไม่เห็นด้วยในการเข้าร่วมกับสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งผมยังยืนยันเหมือนกับที่พี่สุวิทย์พูดในตอนแรกๆ คือ เราจะตั้งเวทีของเราเอง แต่เมื่อหลายคนอ้างว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปจำเป็นต้องไปเข้าร่วมกับเวทีของ สนธิ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่ไม่ได้สนใจเข้าไปร่วมงานเท่าไรนัก จนกระทั่งมีการชุมนุมยืดเยื้อที่สนามหลวงผมก้โทรไปหาพี่สุวิทย์วันหนึ่ง สุ้มเสียงที่แกรับโทรศัพท์ผมนั้นเหมือนกับดีใจมากที่ผมมา พี่สุวิทย์เรียกผมไปหลังเวที จัแจงหาบัตรเข้าหลังเวทีให้อย่างดี และพยายามมอบหมายงานให้ผมทำ เช่น เมื่อมีคนมาบริจาคเงินก็ให้ผมออกไปรับไว้ก่อน หรือ ให้ประสานงานกับทางต่างจังหวัด และช่วยงานเรื่องดูแลกำกับเวทีเป็นต้น ผมก็ทำด้วยความเกรงใจอยู่สักสองวันแล้วก็หนีหน้าไป พอภายหลังเมื่อพันธมิตรประกาศอะไรสักอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย ผมเลยไม่ไปเลย ได้ข่าวว่าวันนั้นพี่สุวิทย์ก้หิ้วกระเป๋ากลับบ้านเลยเหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนความสัมพันธ์ของเรายังดีอยู่ ผมยังพูดคุยดื่มกินกับพี่สุวิทย์อยู่เป็นระยะๆ และถกเถียงแลกเปลี่ยนสถานการณ์บ้านเมืองกันพอหอมปากหอมคอ

            ที่เขียนเล่ามานี่คงเป็นภาพรวมๆ แบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ส่วนเรื่องราวใหญ่ๆโตๆ หลายคนคงเขียนถึงไปหมดแล้ว  ผมเลยขอเขียนเรื่องเล็กๆน้อยๆ ตามอัตภาพของตัวเองไปก็แล้วกัน สิ่งที่ผมยังไม่ได้พูดถึง คือ ความเป็นเพื่อนมิตรส่วนตัวที่พี่สุวิทย์มีให้ต่อผมและครอบครัว ตอนมาช่วยงานสมัชชาคนจนใหม่ๆ ก็ไม่มีเงินเดือน พี่สุวิทย์นี่แหละเป็นคนพูดให้สมัชชาคนจนจ่ายเงินเดือนให้ผม และต่อมาพี่สุวิทย์อีกนั่นแหละที่เป็นคนพูดในที่ประชุมให้สมัชชาคนจนขึ้น เงินเดือนให้ผม แถมบางครั้งบางคราวที่ผมติดขัดเรื่องเงินทอง พี่สุวิทย์ก็เป็นที่พึ่งพาได้เสมอ แบบว่าถ้าเอ่ยปากขอยืมและพี่สุวิทย์มีเงินจะรีบควักให้ทันที และไม่เคยทวงถามว่าจะคืนให้เมื่อไรอย่างไร แถมเวลาเอาเงินไปคืนก็ยังเลี้ยงเหล้าอีก ทำเหมือนแกเป็นหนี้เรามากกว่าเราเป็นหนี้แก แต่เวลาแกยืมเงินเราพอแกคืนแกก็เลี้ยงเหล้าเราอีกเหมือนกัน สรุปว่าได้กินทั้งขึ้นทั้งล่อง

            และเรื่องราวที่ประทับใจผมและครอบครัวสุดๆ แบบลืมไม่ลงเลย คือ เมื่อช่วงสงกรานต์หลายปีก่อน ผมและครอบครัวขับรถไปเที่ยวกัน แบบไม่ได้เตรียมตัวว่าจะไปพักที่ไหน พอนึกขึ้นได้ว่าพี่สุวิทย์เป็นคนบางเสร่ อาจจะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ก็เลยลองโทรถามดูสอบถามว่าแกอยู่ที่ไหน  ตอนนั้นพี่สุวิทย์อยู่ที่บ้านแถวเขตสะพานสูง ส่วนพี่วรรณกลับบ้านที่ขอนแก่น พอแกรู้ว่าผมจะไปเที่ยวบางเสร่ แกบอกว่าเดี๋ยวเจอกัน แบบว่า แกรีบขับรถมาทันทีไปถึงบางเสร่ก่อนผมซะอีก แล้วไปจัดแจงจองที่พักให้ผมอย่างเรียบร้อย พร้อมกับออกตัวว่าที่พักที่ดีๆติดทะเลนั้นเต็มหมดแล้ว เพราะผมไม่ได้บอกแกก่อนแกเลยไมได้จองไว้ล่วงหน้า นอกจากจองแล้วแกยังจ่ายค่าที่พัก จัดการค่าอาหารให้ทุกอย่างจนผมเกรงใจว่าจะพักสักสองคืนเลยต้องรีบกลับก่อน คิดดูเถอะครับขนาดผมเดินไปจ่ายเงินค่าห้องพัก เจ้าของรีสอร์ทไม่ยอมรับเงินเลย บอกว่าเดี๋ยวพี่สุวิทย์มาจัดการเอง ตอนกลับพี่สุวิทย์ยังมาขอโทษขอโพยอีกว่าต้อนรับได้ไม่เต็มที่เพราะผมไม่ได้ บอกก่อน เล่นเอาผมพูดไม่ออกเลย

            ตอนที่ได้ข่าวว่าพี่สุวิทย์เสีย พอผมบอกแฟน สิ่งแรกที่แฟนผมพูดถึงพี่สุวิทย์คือเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ครอบครัวเราจดจำไม่รู้ลืมจริงๆ

            วันนี้แม้พี่สุวิทย์จะจากพวกเราไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่ในใจของผม คงไม่ใช่เพียงเรื่องราวไร้สาระที่ผมเขียนบอกเล่าออกมา นั่นมันเป็นเพียงความรู้สึกแบบปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นจากท้องน้ำ ขึ้นมาเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้น สิ่งสำคัญที่พี่สุวิทย์ทิ้งไว้ให้ผมคือ บทเรียนการต่อสู้ของสามัญชนเพื่อปกป้องมวลชนที่ถูกกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ จุดยืนที่อยู่เคียงข้างคนจน และความใฝ่ฝันถึงดินแดนสังคมนิยมอันแสนงดงาม

            In solidarity

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะ จัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คนเดือนตุลาทั้งอดีตและปัจจุบัน โดย วัฒนา นาคประดิษฐ์

คนเดือนตุลาทั้งอดีตและปัจจุบัน โดย วัฒนา นาคประดิษฐ์
(ว่าด้วยความทรง จำและการระลึกถึง)

วัฒนา นาคประดิษฐ์

            วันที่ 8-9 มิถุนายน 2550 ที่วัดสามัคคีบรรพต (วัดบางเสร่นอก) คงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่ไปเคารพศพคุณสุวิทย์ วัดหนู รุ่นพี่ในวงการสลัม และงานเพื่อประชาชน และวันนี้อีกเช่นกันที่จะมีแต่ผู้คนพูดถึงคุณงามความดีของคุณสุวิทย์ เพราะถือว่าเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต การพูดถึงสิ่งที่ดี จึงถือว่าให้เกียรติผู้ตาย ส่วนเรื่องที่ไม่ดี ถือว่าขออโหสิกรรมกันไป ความจริงก็มีเรื่องที่มีให้เห็นอยู่ว่า ความดีของผู้คนมักจะได้มีโอกาสเป็นที่รับรู้ในวงกว้างก็ต่อเมื่อ เจ้าของความดีนั้นจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครพูดถึงความไม่ดี เพียงแต่ในยามแบบนี้ความไม่ดีจะเป็นเสียงที่เบาบาง

            ผู้เขียนเองรู้จักคุณสุวิทย์มานาน  มีโอกาสได้ร่วมงานกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการร่วมงานกันในบรรยากาศที่เป็นทางการเท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนเองหลีกเลี่ยงบรรยากาศยามเย็น หรือยามที่ไม่เป็นทางการที่จะต้องร่วมวงกันในการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระที่ เกี่ยวกับบ้านเมือง และผู้คนจนยากในสังคม จนคุณสุวิทย์เองยังเคยบอกว่า ผู้เขียนเป็นคนเดียวที่ไม่เคยถูกคุณสุวิทย์ว่าให้เสียใจ ก้แน่ละ ผู้เขียนมีวิธีหลบได้เสมอ แต่แม้จะหลบได้ แต่ก็ยังได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านมาจากวงสนทนายามเย็นอยู่บ้าง ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ บางครั้งก็ทำให้ผู้เขียนและเพื่อนฝูงอดน้อยใจ หรือโมโหอยู่เนืองๆ แต่เราก็มักจะบ่นกันเอง แล้วก็ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป เพราะสิ่งหนึ่งที่สำคัญของคุณสุวิทย์คือ  "การยืนเคียงข้างประชาชนผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคมตลอดมา " และ นี่เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้เขียนและเพื่อนพ้องแม้จะมีระยะห่างบ้างแต่ก็ ชื่นชมด้วยใจจริง

            คุณสุวิทย์เป็นคนเดือนตุลาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งผิดกับคนเดือนตุลาอีกหลายคนที่มีเพียงแต่อดีตเดือนตุลาเท่านั้นที่น่า ชื่นชม แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นทุนนิยมสามานย์  และในยามที่บ้านเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบนี้ เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งหลายครา แต่ปัญหาคนจนก็ยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นประชานิยมบนการสูญเสียที่ดินของบรรพบุรุษ หรือ เศรษฐกิจพอเพียง แต่เร่งรัดการเซ็นสัญญา FTA กับประเทศคู่ค้า เร่งสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า เพื่อต้องการเป็นเจ้าพลังงานในเขตภูมิภาคอินโนจีน ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดก่อนก็มีคนเดือนตุลาอยู่หลายคน ทีสำคัญ คนเดือนตุลาเหล่านั้นก็คือ คนที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม มาพร้อมกับคุณสุวิทย์ทั้งสิ้น

            การเกิดมาในชั่วชีวิตหนึ่ง  แต่ละคนมีเวลาของตัวเองกำกับไว้ ดังนั้น คำถามและทางที่แต่ละคนต้องเลือกว่า จะเลือกอยู่บนทางแห่งลาภยศ สรรเสริญ กอบโกยเพื่อตัวเองและพวกพ้อง หรือเลือกการยืนอยู่ข้างพี่น้องคนจนที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง และสู้ร่วมกันกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม จะเลือกแบบไหน..แบบไหนที่จะมีที่ยืนในสังคมอย่างสง่างาม ???


ที่ มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

จากใจ... แด่พี่สุวิทย์ วัดหนู โดย สำราญ รอดเพชร

จากใจ... แด่พี่สุวิทย์ วัดหนู โดย สำราญ รอดเพชร
(ว่าด้วยความทรงจำและ การระลึกถึง)

สำราญ รอดเพชร

            9 มีนาคม 2550 ได้คุยทางโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายกับพี่สุวิทย์ วัดหนู พี่เขาโทรศัพท์มาขอเบอร์มือถือคุณประพันธ์ คูณมี เพื่อพูดคุยนัดหมายยื่นเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญต่อ น.ต.ประสค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ... ผมฉวยโอกาสนัดหมายกับพี่เขาว่า ค่ำวันที่ 14 มีนาคม ขอดวลกลอนสดกลอนแห้งซ้อมือกันอีกสักรอบ เหตุเพราะผมมีวาระซ่อนเร้น ผมจะบังคับให้พี่เขาเขียนบทกวีรวมเล่มกับผมให้ได้
            คืนวันอาทิตย์ที่ 11 มี.ค.50 ผมนอนเร็วกว่าปกติ ตื่นเช้าขึ้นมาพบ 8 misscall บนหน้าจอโทรศัพท์ที่ปิดเสียงไว้ เป็นโทรศัพท์จากสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. รีบโทรกลับจึงได้ทราบว่า พี่ชายของผมล้มร่างอันเหนื่อยล้า ลาพวกเราไปแล้ว

            ใจหาย น้ำตาไหลพรากโดยไม่รู้สึกตัว
            ค่ำวันจันทร์ที่ 12 มี.ค.2550 ผมเป็นสามคนสุดท้ายที่ได้รดน้ำศพพี่สุวิทย์ วัดหนู ที่วัดสามัคคีบรรพต บ้านเกิดของพี่เขาที่บางเสร่ ชลบุรี
           
            วันศุกรที่ 27 เม.ย.50 ผมกับคุณประพันธ์ คูณมี ได้จัดกอล์ฟการกุศลหารายได้ให้กับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่พี่สุวิทย์เคยเป็นเลขาธิการ และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เงินไปขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมองค์กรละ 5 แสนบาท
            นั่นเป็นพันธะทางใจที่ผมกับคุณประพันธ์ได้รับปากกับพี่สุวิทย์ (รวมทั้งสุริยะใส) ไว้ประมาณ 2 เดือนก่อนถึงวันล่วงลับของนักสู้คนจน นักสู้ที่มีรายได้เพียงเดือนละหมื่นห้าพันบาท และปฏิเสธเงินช่วยเหลือส่วนตัวที่ผมอ้อนวอนขอแบ่งปันให้

            ผมได้ยินชื่อ "สุวิทย์ วัดหนู" มานานหลายปี แต่ได้สบตาจ้องหน้ากับพี่สุวิทย์เป็นครั้งแรกก็เพิ่งจะปี 2545 ตอนที่เชิญพี่เขาไปออกรายการ "ข่าวเด่นประเด็นร้อน" ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
            เจอกันอีกครั้งก็อีก 4 ปีต่อมา 2549 คราวนี้ไม่ใช่บนหน้าจอโทรทัศน์ แต่บนเวทีของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ เมื่อ 11 ก.พ.2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลังจากที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำร่อง "นำเดี่ยว" ชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2549 และจบลงด้วยความสำเร็จ

            วันที่ 11 ก.พ.2549 นั้น สถานการณ์พัดพาผมไปช่วยพี่สุวิทย์ ทำหน้าที่โฆษกร่วมกัน
            ผมได้ความรู้ ได้วิทยายุทธจากพี่สุวิทย์หลายอย่าง  ในช่วงการชุมนุมเพียงสองครั้ง ครั้งสองครั้งที่ผมรู้และสัมผัสได้ทันทีว่า แม้จะมีวิธีคิด วิธีมองปัญหาที่ต่างกันในบางเรื่องหรือหลายเรื่อง แต่ผมรู้ได้ทันทีว่า เราเข้ากันได้ เราไปกันได้ และผมวางใจ เชื่อใจพี่เขามาก เหมือนที่พี่สุวิทย์ก็กระซิบบอกผมว่า สำหรับคุณสำราญผมถึงไหนถึงกัน

            มิใช่รสนิยมแห่งการร่ำรสสุราเมรัย ประสาคนรุ่นเก่าในหลายโอกาส มิใช่เพราะวัยวารของคนที่ก้าวผ่านเลข 50 ที่เริ่มโหยหาและพูดซ้ำถึงอดีตอันอบอุ่นลงตัว ขณะที่มองไปข้างหน้ามีแต่โลกและความหวังสีเทาและมิใช่เพราะการประนีประนอม ถนอมรักกันแบบไม่มีคำอธิบาย

            หากแต่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียกมันสั้นๆว่า "ความสัตย์ซื่อจริงใจ"
       
            เป็นความสัตย์ซื่อจริงใจต่อทั้งผม ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ ต่อประชาชน และต่อตัวเองของพี่สุวิทย์
            ซื่อสัตย์จริงใจในความคิด จุดยืน และความใฝ่ฝันมุ่งมั่น

            พี่เขาเป็นนักต่อสู้คนจนที่มีศักดิ์ศรี มีอุดมการณ์ เป็นคนที่นักข่าวแก่ๆอย่างผมอยากจะเรียกว่าเป็นเอ็นจีโอที่ใจกว้าง มีความมุ่งมั่น หลายครั้งแม้ผมจะพยายามพูดเยาะเย้ยถากถาง เรื่องพรรคการเมืองในอุดมคติของพี่เขา แต่ทั้งคำตอบและแววตาของพี่สุวิทย์ยังโลดแล่นเดินทางไปสู่ความฝัน หรือจินตนาการนั้น
            จินตนาการมันยิ่งใหญ่กว่าวิชาความรู้ อย่างเขาว่ากันจริงหรือเปล่า พี่สุวิทย์อยู่ระหว่างการพิสูจน์กับผม และในเบื้องต้นผมเชื่อในแววตาแห่งความมุ่งมั่นของพี่เขาว่า คำว่า "จินตนาการ" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่จริงๆ

            ผมไม่เคยสงสัยและไม่เคยถามพี่สุวิทย์เลยว่า ทำไมออกจากป่าปี 2528 ในขณะที่คนอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาออกมาตั้งแต่ปี 2523-2524
            และหลายเดือนบนเวทีพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนนำมีส่วนผสมหลากหลาย ทั้งสื้อมวลชน นักวิชาการและเอ็นจีโอ บางครั้ง "ความแตกต่าง" ของวิธีคิด ตลอดจนยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ที่แตกต่างของส่วนผสมทำให้เกือบวงแตก เลิกราไปก็หลายครั้ง
            พี่สุวิทย์ วัดหนู และพี่พิภพ ธงไชย พี่เอื้อยแห่งวงการเอ็นจีโอนี่แหละที่ออกแรง เปลืองตัวเดิมพันที่จะต้องขับไล่ระบอบทักษิณ เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง

........

            พี่สุวิทย์ล้มร่างอันเหนื่อยล้า นอกเหนือจากพวงหรัดล้นท่วมศาลา ความอาลัยมาจากร้อยแปดพันเก้าวงการ เงิน 2-3 ล้านบาท บริจาคด้วยความคารวะและศรัทธา
            หยิบบางภาพถ่ายมาดู ผมจ้องหน้าภาพถ่ายที่ผมยืนเคียงข้างบนเวที แล้วกระซิบบอกพี่ว่า พี่รับไปเถอะ อย่าปฏิเสธ ให้คุณวรรณและครอบครัวของพี่ได้ใช้เพื่อครอบครัววัดหนู และสังคมสืบสานวิญญาณของพี่ต่อไป
            พี่โปรดรับไปด้วยรอยยิ้มในดวงตาเถอะพี่สุวิทย์ และอย่าลืมรับความรัก ความคิดถึงตลอดไปจากน้องชายคนนี้ด้วย

            พี่รับไปเถอะ เพราะตลอดมาพี่มีแต่ "ให้" คนอื่น
            หลับให้สบายนะพี่
            คิดถึงพี่จริงๆ
           




ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เสียงจากสลัม โดย พี่น้องสลัม

เสียงจากสลัม  โดย พี่น้องสลัม
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

พี่ น้องสลัม

            ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของคุณสุวิทย์ วัดหนู เพื่อนมิตรกลุ่มหนึ่งก็ขะมักเขม้นในการเตรียมจัดงานเพื่อมิให้การจากไปครั้ง นี้สูญเปล่า ในการดำเนินงานนั้น การจัดทำหนังสือที่ระลึกถึงคุณความดี ที่คุณสุวิทย์ได้ก่อไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
            ทั้งที่เนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าวก็มิอาจเป็นอื่นไปได้ นอกเสียจากเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการต่อสู้ของพี่น้องคนยากคนจน ที่คุณสุวิทย์ได้คลุกคลีขณะยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2550 พี่น้องแกนนำชาวบ้านในขบวนการต่อสู้ของคนสลัม ที่เคยร่วมงานกับคุณสุวิทย์จึงได้นัดหมายเพื่อร่วมพูดคุยถึงคุณสุวิทย์ ในช่วงที่เคยร่วมงานกันมา หลายคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณสุวิทย์เป็นคนที่เข้าใจคนยากคนจน มีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษาหารือได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุมชน หรือเรื่องส่วนตัว ด้วยลักษณะนิสัยใจคอที่เป็นคนตรงไปตรงมากล้าเถียงทะเลาะและ มีประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนจนทั้งในส่วนชนบทและภาคเมือง คุณสุวิทย์มีความตั้งใจที่จะอยู่กับคนยากคนจน คนด้อยโอกาส เพราะแกเชื่อว่าคนจนหากมีโอกาสก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งทางการศึกษา ความคิด มันจะทำให้คนจนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นลักษณะความคิดพื้นฐานของการทำงานพัฒนา

            "ประทับใจ ที่แกไม่รังเกียจที่มาสัมพันธ์กับคนยากคนจนคนต้อยต่ำ แกช่วยเหลือตลอด" นั่นคือ คำกล่าวยืนยันของแกนนำกลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน
            นอกจากบุคลิกส่วนตัวในเรื่องดังกล่าวแล้ว ในเรื่องการทำงานคุณสุวิทย์ ก็มักจะเอาจริงเอาจัง คุณสุวิทย์เป็นคนที่มีข้อมูลลึกกว้าง ในการนำมวลชนมีการผ่อนหนักผ่อนเบา เรื่องไหนควรนำเรื่องไหนควรตาม คิดไว จับประเด็นเก่ง การเจรจาทุกครั้งต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน

            "ถ้าคุณทำงานกับชาวบ้าน หากไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจมวลชน คุณจะนำมวลชนไม่ได้" นี่คือสิ่งที่คุณสุวิทย์เน้นย้ำกับผู้นำอยู่เสมอ
           
            สิ่งสำคัญที่คุณสุวิทย์ มักจะกล่าวตักเตือนผู้นำอยู่ตลอดว่า ผู้นำชาวบ้านจะเสียคนได้ หากไม่ระวังในสามเรื่องสำคัญ คือ บทบาทหน้าตา เรื่องชู้สาว และท้ายสุดคือ เรื่องการเงิน แกมักจะเข้มงวดเรื่องการเงินขององค์กร ต้องตรวจสอบได้ ถามตลอดว่าทำไมมันอย่างนั้นอย่างนี้
            หลักคิดที่สำคัญของคุณสุวิทย์ อีกประการ ที่มักจะบอกกล่าวกับผู้นำว่า อย่าเอาแต่เรื่องของตนเอง ให้มองปัญหาของคนอื่นด้วย การเชื่อมโยงพี่น้องคนจนทั้งในเมืองและชนบท การเชื่อมคนจนทุกกลุ่ม รวมทั้งการสร้างการนำรวมหมู่ มีคนมาคิดร่วมกันแล้วขับเคลื่อนไปพร้อมกัน แเกชื่อว่าคนจนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน คนด้อยโอกาสต้องรวมกันเพื่อก่อรูปขบวนการประชาชนที่มีพลังและสามารถผลักดัน เชิงนโยบายได้

            แกเคยบอกว่า "คนเราถ้าตื่นเช้าขึ้นมา คิดเรื่องคนอื่น คนๆนั้นจะมีเพื่อนเยอะ คิดแก้ปัญหาให้ชุมชนนั้นชุมชนนี้ มันก็จะช่วยให้มีเพื่อนในขบวนเยอะ"
            ความฝันสุดท้ายขณะยังมีชีวิตอยู่ของคุณสุวิทย์ คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งแนวคิดของแกต้องการสร้างพรรคการเมืองทางเลือก โดยไม่เน้นการมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นพรรคที่ชูนโยบายคนจน และผลักดันปัญหาคนจนเข้าสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย "คุณสุวิทย์ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ แม้แกสิ้นบุญแล้ว แต่เนื้องานที่ทำไว้ ยังไม่ตาย และจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนไปตลอด " อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์รวมพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น...

ที่ มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สุวิทย์ วัดหนู ยังอยู่ โดย ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์

สุวิทย์ วัดหนู ยังอยู่ โดย ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
(ว่าด้วยความทรงจำและ การระลึกถึง)


ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์

            พี่สุวิทยืกับผม ไมได้ตั้งวงสุราร่วมกันหลายเดือนแล้ว คิดถึงบรรยากาศในวงสุราดังโก้วเล้งกล่าวไว้ "พบสหายรู้ใจ สุราพันจอกมิเมามาย" "วาจาหลังเมามายล้วนเป็นวาจาจากใจ"

            สภาสุราการเมือง สนทนาปัญหาสังคม และวิวาทะว่าด้วยบทบาทของคนทำงานทางสังคมในแต่ละช่วงเวลา หลายต่อหลายครั้งถูกจัดตั้งขึ้นโดยพี่สุวิทย์ สมาชิกมากหน้าหลายตาทั้งที่กินเหล้า กินน้ำเปล่าหรือกาแฟ ถูกพี่ของผมตามตัวมาสนทนา เรื่องราวจริงจังจริงใจ วิพากษ์ตรงไปตรงมา ชวนให้คิดต่อ ให้ได้สำนึก นำไปปรับปรุงการงานและตัวตน ของเหล่านักกิจกรรมทางสังคม เป็นวงเหล้าที่เครียดมากที่สุดของผม

            เมื่อพี่สุวิทย์จากไป หลายคนถามหาเหมือนพี่ยังอยู่ วงสนทนาทางการเมืองเหงาเศร้า หลายคนโหยหา ทั้งนักกิจกรรมในเมืองหลวง และพวกบ้านนอกอย่างผม
            พี่สุวิทย์เป็นพี่ชายของผม สบายใจที่ได้คุย ได้พบ ข้อหารือจะได้รับความเห็นตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นอย่างนี้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะกับประชาชน คนจน คนด้อยโอกาส พี่สุวิทย์ไม่เคยปฏิเสธภารกิจของประชาชนและยืนยันอย่างมั่นคงทุกครั้งว่า ต้องพูดเรื่องจริง ต้องบอกตรงไปตรงมา วิพากษ์เชิงเทคนิคกระบวนการของหลายคนที่ทำไปด้วยเหตุผลว่า เป็นการยกระดับการเรียนรู้ของประชาชน

            บางครั้งผมหงุดหงัดกับความตรงไปตรงมานี้ ผมเห็นว่า ชาวบ้านกำลังประสบปัญหาหนัก แล้วเขากำลังต่อสู้แก้ไขปัญหาอยู่ เราต้องให้เวลาเรียนรู้ยกระดับกลุ่มองค์กร ซึ่งพี่สุวิทย์เข้าใจและห่วงใยแต่ก็ยืนยันว่า ต้องขจัดทัศนะหวังพึ่งของมวลชน ต้องขจัดลักษณะของผู้ทำแทน ผู้ที่เป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาหรือลักษณะเห็นอกเห็นใจ ดูแลชาวบ้านเหมือนผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ ของเหล่านักกิจกรรมทางสังคม
            ดังที่ทุกคนทราบ ดังความจริงอันเป็นที่ประจักษ์ พี่สุวิทย์ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตกับการงานของประชาชน ชีวิตเลือกอยู่ข้างประชาชนผู้เสียเปรียบ หวังสร้างสังคมที่เป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสังคมแห่งชนชั้นสู่สังคมที่เท่าเทียม

            เวลาแห่งการต่อสู้เคลื่อนไหวยืนหยัดกว่า 35 ปี กับความหวังที่ดูยาวไกลยากที่จะบรรลุในชั่วชีวิตนี้ ไม่ได้ทำให้พี่สุวิทย์ ท้อถอย ขอแวะพักข้างทาง หรือเลี้ยวขวาไปโน่นหน่อยเดี๋ยวจะกลับมา
            พี่สุวิทย์ออกจากป่าปี 2530 หลังช่วงเวลาที่เรียกว่าวิกฤติศรัทธาหลายปี เพราะพี่สุวิทย์มีศรัทธา การตัดสินใจออกจากป่าเปลี่ยนสมรภูมิการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลว่า เหลือผู้คนอยู่กลุ่มสุดท้ายถึงเวลาจำต้องเปลี่ยนแปลง ลาภยศสรรเสริญ กินพี่ชายของผมคนนี้ไม่ลง ไม่มีทางลง พี่ชายผมไม่เคยยอมอ่อนให้กับความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ ทำงานอะไรขึ้นอยู่กับจุดยืนของตนเองเท่านั้น
           
            ผมเขียนถึงความรัก ความชื่นชม ความศรัทธา  ที่มีต่อพี่ชายของผมเป็นความจริงที่ผมรู้ ผมสัมผัส แต่พี่ชายผมก็มีด้านไม่ได้เรื่องเช่นกัน ข้อแรกเลยขี้เหล้า แต่หยุดเด็ดขาดในช่วงเข้าพรรษาซึ่งน่าเบื่อมากสำหรับผมเพราะขาดแกในวงเหล้า ตั้ง 3 เดือน
            ข้อสองนี่ พี่พิภพ ธงไชยว่านะ ผมแค่เห็นด้วยนิดหน่อย คือ ปากไม่ดี มีบ้างบางครั้ง ที่จริงก็หลายครั้งอยู่ที่ความตรงไปตรงมาทำให้ผู้คนขัดใจ ด้วยชีวิตมีหลายด้าน มีเข้มแข็งมีอ่อนแอ มีมุมมืดที่ก้าวผ่านยากลำบาก แต่พี่สุวิทย์ไม่ยอมประนีประนอมกับเรื่องราวเหล่านั้น เมื่อเกิดขึ้นกับพรรคพวกพี่น้องของแก ทำให้หลายครั้งเข้าลักษณะ ยอมหักไม่ยอมงอ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ผมเห็นว่า ความขัดแย้งในหมู่มิตรที่มีจุดยืนร่วมกัน ไม่ใช่ความขัดแย้งแตกหัก แตกต่างกับความขัดแย้งกับชนชั้นปกครอง หรือความขัดแย้งทางชนชั้น
            พี่สุวิทย์ไม่เห็นด้วย พี่พวกเรารวมทั้งผมไปทำงานร่วมในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แกบอกว่าทำให้เราใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของประชาชน  และทำให้เราอยู่ห่างจากมวลชน พี่สุวิทย์กำลังขับเคลื่อนจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ผมไม่เห็นด้วย แต่เราต่างเข้าใจว่า เรากำลังอยู่ในระยะผ่านทางประวัติศาสตร์ของสังคม เราประสงค์จะเห็นสังคมแห่งเหตุและผล ไม่ใช่สังคมแห่งอำนาจ ด้วยเหตุนี้องค์กรอิสระที่เราเลือกไปทำงานร่วมจึงเป็นองค์กรที่ไร้อำนาจ ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เหตุผล และความเห็นพ้องต้องกัน
   
            พี่สุวิทย์เป็นคนรักครอบครัว รับผิดชอบต่อภรรยา นี่เป็นหนึ่งในความภูมิใจ ความสุขของพี่สุวิทย์ ที่ไม่ว่าทำอะไร เมาอย่างไร ต้องกลับบ้าน มีภารกิจต้องรับส่งและทำการงานตามที่รับปากกับภรรยา ข้อนี้เราอาจเหมือนกันคือ ไม่กลัวเมียแต่เกรงใจ เมียว่าอะไร ตอบคำเดียวว่า "ครับ" เงียบไปเลย
            สุวรรณี วัดหนู นี่ก็เป็นคนจริง เรียบง่าย เข้มแข็ง สามีที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับคนยากไร้ ไม่ว่าการทำงานเพื่อแสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่มีครอบครัวที่อบอุ่น ต้องมีภรรยาผู้มีรักอันยิ่งใหญ่ ยืนหยัดร่วมทุกข์ร่วมสุข อย่างเข้าใจ อดทน และมั่นคง
            ผมไปร่วมงานละสังขารของญาติมิตร บรรยากาศความโศกเศร้าและการระลึกถึงผู้จากไป เป็นความดีของบุคคล ความรักในครอบครัว ความดีต่อบุตรหลานและญาติมิตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม แต่บรรยากาศงานละสังขารของพวกเราหลายคน มีเรื่องครอบครัว มีเรื่องของผู้คน มีการงานทางสังคม มีชีวิตและความใฝ่ฝันถึงโลกที่เป็นธรรม มีความรักที่แผ่กว้างจากครอบครัวสู่มวลชน

            พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ของชุมชนคนจนเมือง ชุมชนชนบท การต่อสู้เผด็จการ และการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย มีร่องรอย มีชีวิตของ สุวิทย์ วัดหนู เรื่องราวเดือนตุลาคม 16 ต่อเนื่องถึงตุลาคม 19 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การแสวงหาครั้งใหม่ของคนหนุ่มสาวหลังช่วงวิกฤติศรัทธาในช่วงปี 23-26 การหาความหมายครั้งใหม่ ในยคพัฒนาการขององค์กรพัฒนาเอกชน กระทั่งพฤษภาคม 35 และการขับไล่เผด็จการทุนนิยมผูกขาดเมื่อปี 48-49
            ผมรักและศรัทธาพี่ชายของผม ผู้ใช้ชีวิตอย่างยืนหยัด มั่นคง เคียงข้างประชาชนผู้ยากไร้ รอยทางแห่งการก้าวย่างเป็นแบบอย่าง เป็นความงาม เป็นตำราเล่มใหญ่ให้ศึกษา วันนี้พี่สุวิทย์ละสังขารรูปกายภายนอก แต่ จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ การรับใช้มวลชน คงอยู่อย่างหนักแน่น มั่นคง

            สุวิทย์ วัดหนู ยังอยู่
            ด้วยรักและศรัทธา
           
           

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัด ทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เพลงรำวงวิทยุ - อัลบั้ม วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน

"ศิลปะวัฒนธรรม เชิดชูประจำอยู่ทุกชุมชน
ทุกประเทศ ทุกเขตทุกตำบล ทั่วโลกสากลต้องยึดถือประเพณี
เรามาร่วมมือกันเถิด เลือกเปิดอิสระเสรี
ผูกมิตรผูกจิตไมตรี ร่วมสามัคคีด้วยพลังยึดมั่น"

บทเพลงสไตล์รำวงสนุกๆ เนื้อหาสื่อสารจากใจในแบบชาวชนบท

เพลงรำวงวิทยุ พลังแผ่นดิน เพื่อชุมชน อัลบั้ม วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน งานเพลงเพื่อเผยแพร่






นี่คือ อัลบั้มชุดพิเศษ เขียนถึงแนวคิด เรื่องราวของวิทยุชุมชน ทั้งอัลบั้ม โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต ได้จัดทำอัลบั้มชุดนี้ เพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้แด่ชาววิทยุชุมชน และผู้ฟังทั่วไป ซึ่งในอัลบั้มพิเศษ วิทยุชุมชน โดย ชุมชน เพื่อชุมชน ประกอบด้วย 10 บทเพลง ดังนี้
1. แหล่วิทยุ
2. เพื่อชุมชน
3. พลังชุมชน พลังแผ่นดิน
4. รำวงวิทยุ
5. รวมพลังใจ
6. สิ่งแวดล้อม
7. เขาว่าวิทยุเถื่อน
8. วิทยุสัมพันธ์
9. พลิกฟื้นวิถีไทย
10. วันของเธอ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เพลงอมพระมาพูด -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ

เพลงอมพระมาพูด -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ

เมื่อ 29 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์ มีหรั่ง ร็อคเคสตร้ามาตีกลองให้
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต


วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เพลงจดหมายถึงแม่-ไก่ แมลงสาบ 17 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เพลงจดหมายถึงแม่-ไก่ แมลงสาบ

บทเพลงที่เขียนขึ้น ก่อนขึ้นไปร้องบนเวทีในเวลาไม่กี่นาที
เมื่อ 17 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต เผยแพร่โดย บ้านศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน
http://thaibansinlapin.blogspot.com/

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

บทกวี อีกาบินข่มขวัญร่อนเหนือทำเนียบฯ - สุนทร พระจันทร์เสี้ยว2551

บทกวี อีกาบินข่มขวัญร่อนเหนือทำเนียบฯ - สุนทร พระจันทร์เสี้ยว2551

เมื่อ 29 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์ โดยบทกวีนี้ เป็นการพูด+บทกวี ที่มีสีสันของอารมณ์ ประกอบเสียงดนตรี สะท้อนความจริงของสังคมการเมืองที่เน่าเฟะ ในเชิงเปรียบเปรยที่มีความแหลมคมในเนื้อหา

ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต

เพลงขังลืม -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ 30 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เพลงขังลืม -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ

เมื่อ 30 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์ เป็นเพลงที่แปลงมาจากบทเพลงของวงสามโทน เนื้อหาเปรียบเปรยกับการกระทำของทักษิณและรัฐบาลของเขา แบบนี้สมควรจะเป็นยังไงต่อไป

ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต


เพลง 37 วันยังดื้อ -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ 30 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เพลง 37 วันยังดื้อ -ศรัญญู วงศ์กระจ่าง-ไก่ แมลงสาบ


กับบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลง 30 ยังแจ๋ว มาใช้เป็นทำนอง ใส่เนื้อร้อง โจมตี นพดล และ ครม.
เมื่อ 30 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต

เพลง นพดวย - วงบิณฑบาตร 23มิย2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เพลง นพดวย - วงบิณฑบาตร 23มิย51

เมื่อ 23 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์
โดยวงบิณฑบาตร เนื้อหาสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น เรียกร้องให้ ไม่ขายแผ่นดิน กรณีปราสาทพระวิหารกับเขมร ที่ต้องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่กลับรุกล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินไทย

ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต




เพลงไฟป่า - วงบิณฑบาตร 23มิย51

เพลงไฟป่า - วงบิณฑบาตร 23มิย51

เมื่อ 23 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์
กับการเล่นดนตรี 3 คน สดๆ บนเวทีในยามบ่าย
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต เผยแพร่โดย บ้านศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน
http://thaibansinlapin.blogspot.com/



-

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ถึงร่างกายจะมอดไหม้ โดย วิไลวรรณ แซ่เตีย

ถึงร่างกายจะมอดไหม้ โดย วิไลวรรณ แซ่เตีย
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึก ถึง)

วิไลวรรณ แซ่เตีย


ความดีที่จำไว้ยังคงอยู่

            พี่สุวิทย์ วัดหนู ทำงานกับคนจนมาโดยตลอด โดยเฉพาะชาวชุมชนแออัดและคนไร้บ้าน รู้จักกับพี่สุวิทย์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยสนิทกัน เมื่อช่วงสถานการณ์ทางการเมือง ปี 2549 ที่ต้องทำงานร่วมกันในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจอกันทุกคืนบางคืนพวกเราอยู่ด้วยกันจนสว่าง ที่ท้องสนามหลวงและทุกที่ที่มีเวทีพันธมิตร
            บางครั้งพี่สุวิทย์ก็มีเรื่องคุยให้สนุกในสถานการณ์ที่เครียด เวลาประชุมร่วมกัน พี่สุวิทย์ก็จะประเมินสถานการณ์ในมุมต่างๆ อย่างรอบคอบและใจเย็น พี่สุวิทย์เป็นโฆษกคู่กับคุณสาวิทย์ แก้วหวาน บางคืนเสียงก็หายไป  ดีฉันและเพื่อนอยู่หลังเวทีเราจะช่วยกันหากาแฟ ขนม ข้าว กินด้วยกัน ความผูกพันที่เราได้ร่วมกันในช่วงหลายเดือนบนถนนการต่อสู้ในระบอบทักษิณ ไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อยหรือท้อเมื่อก้าวต้องเดินหน้าต่อไป

            พี่สุวิทย์ยึดโยงอยู่กับเวทีตลอด บางคืนตาแดงก่ำเพราะไม่ได้นอนหลายคืน เราได้แต่มองหน้าและเข้าใจถึงความรู้สึกของทุกคนดีในช่วงนั้น หลังปิดม็อบแล้ว แต่เราก็ไปเจอกันเสมอตามงานสัมมนาและพวกเราคุยกันช่วงตำรวจรังควานพันธมิตร พี่สุวิทย์และอีกหลายคนถูกหมายจับ ส่วนตัวดิฉันถูกหมายเรียกให้เป็นพยาน พวกเราเจอกันก็คุยกัน พี่สุวิทย์บอกว่า อยากจับก็จับเลย ไม่หาคนประกัน น้ำเสียงหนักแน่นของพี่สุวิทย์ แต่ก็เปลี่ยนสีหน้าเป็นเศร้าและพุดต่อว่า เป็นห่วงความรู้สึกของแม่มาก และบ่นว่าเห็นใจและเป็นห่วงพี่รสนา             เพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่ผู้ชายทั้งหมด ถ้าถูกจับไปแล้วจะอยู่อย่างไร ความรู้สึกที่ดีที่มีต่อคนอื่นเสมอ กิจกรรมต่างๆของแรงงาน กลุ่มของพี่สุวิทย์ วดัหนู เราจะรวมกันเสมอ วันแรงงานปี 2549 สลัม 4 ภาค ที่ร่วมกันเสนอปัญหาต่อรัฐบาล พี่สุวิทย์ยืนอยู่ข้าง และบอกว่าดีใจที่เคนมาเยอะ ดิฉันคุยกับพี่สุวิทย์ให้ขึ้นพูดบนเวที พี่สุวิทย์บอกว่าไม่ได้มาพูด มาให้กำลังใจพวกเรา พุดแล้วหัวเราะอย่างมีความสุข ในช่วงที่เราเคลื่อนไหว

            เจอพี่สุวิทย์ ครั้งสุดท้ายในงานครบรอบ 6 เดือนวิทยุเสียงกรรมกร วันที่ 24 ธันวาคม 2549 ในช่วงบ่ายมีกิจกรรมในการแข่งขันกีฬาหลายประเภท พี่สุวิทย์ สุริยะใส ไผ่ ตั้ม พี่วสันต์ และอีกหลายๆคน ลงแข่งขันฟุตบอลในทีมพันธมิตร และแข่งกับทีมวิทยุเสียงกรรมกร คุณสาวิทย์ แก้วหวานเป็นหัวหน้าทีม การแข่งขันเริ่มขึ้น กองเชียร์ข้างสนามร้องเพลงสู้อย่างสนุกสนาน พี่สุวิทย์ถุกแซวจากกองเชียร์ เพราะวิ่งไม่ไหว

            หลังจากแข่งบอลเสร็จ ในช่วงตะวันเริ่มตกอากาศเริ่มเย็น  พวกเราเอาสื่อมาปูนั่งล้อมวงกินข้าว มีกิจกรรมอย่างสนุก  หลังจากวันนั้นมาก็ไม่เจอพี่สุวิทย์อีกเลย
            เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 เวลา 07.00 น.  เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อเปิดรับเสียงที่พูดตามสายบอกถึงความเสียใจ ไผ่ เสน่ห์ พูดว่า พี่วิ พี่สุวิทย์ วัดหนู ตายแล้ว พวกเราทุกคนเสียใจที่ต้องสูญเสียนักต่อสู้เพื่อคนจนที่มีอุดมการณ์ และจุดยืนไม่เคยเปลี่ยน พวกเรานับถือพี่สุวิทย์เหมือนพี่ เพราะเป็นคนที่มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่นเสมอทุกครั้งที่เจอกัน พี่สุวิทย์จะเรียกติดปากว่า ป้าวิ เหมือนทุกคน

            ไปงานศพพี่สุวิทย์ที่วัดสามัคคีบรรพต เจอคุณสุวรรณี ภรรยาพี่สุวิทย์ พูดด้วยน้ำเสียงที่เศร้าบอกว่าคิดถึง วันที่เราไปงานรถไฟแข่งฟุตบอลในวันนั้น เรื่องราวที่พูดถึงพี่สุวิทย์ คือ ความรู้สึกที่ดีที่ดิฉันและเพื่อนๆคงจะจดจำไว้ในความทรงจำตลอดไป  และจะไม่ลืมนักต่อสู้เพื่อคนจนที่ชื่อ สุวิทย์ วัดหนู

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เพลง สุวิทย์ วัดหนู - ไก่ แมลงสาบ 29 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เพลง สุวิทย์ วัดหนู - ไก่ แมลงสาบ 29 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์

เมื่อ 29 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์
บทเพลงที่เขียนขึ้น เพื่อรำลึกถึงการจากไปของสุวิทย์ วัดหนู ที่เป็นทั้งครู เพื่อน พี่ เป็นบทเพลงพิเศษแด่ผู้เสียสละ และบทกวีสดๆบนเวที

ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต



วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สร้างนวัตกรรมใหม่แทนสุวิทย์ วัดหนู โดย จำนง จิตรนิรัตน์

สร้างนวัตกรรมใหม่แทนสุวิทย์ วัดหนู โดย จำนง จิตรนิรัตน์
(ว่าด้วยความ ทรงจำและการระลึกถึง)

จำนง จิตรนิรัตน์ - 27 เมษายน 2550 อุบลราชธานี

            ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง การสร้างความมั่นคงของชีวิตตัวเอง คือ ภารกิจหลัก มีน้อยคนที่ทุ่มเทช่วงเวลาของชีวิตเพื่อคนอื่น เพื่อเป็นสาธารณะ การทุ่มเทนี้คือ อุดมการณ์เพื่อสังคม และยังมีน้อยคนลงไปอีกที่การทุ่มเทเพื่อสังคมนั้นมีความยินยอมถึงขั้นแลก ชีวิต คิดค้นสิ่งใหม่ สร้างนวัตกรรมให่ทางสังคม ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อมนุษยชาติ เพื่อตรวจสอบชีวิตตัวเราเอง ศึกษาได้จากชีวิตของ สุวิทย์ วัดหนู

            การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ในสังคมไทยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงคือ ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 - พฤษภาคม 2535 และกันยายน 2549

            ทุกขบวนการเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งสิ้น มีคนจำนวนมากเรือนแสนที่เข้าร่วมอยู่ในขบวนการ เฉพาะ 14 ตุลาคม 2516 เฉพาะ พฤษภาคม 2535 หรือเฉพาะกันยายน 2549

            แต่สุวิทย์ วัดหนู อยู่ร่วมทุกขบวนการในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ในทุกช่วงสถานการณ์สำคัญ กับเพื่อนพ้องน้องพี่อีกจำนวนนับได้ที่เป็นแบบเดียวกัน ความต่อเนื่องทางอุดมการณ์ดังกล่าวเกิดจากอะไร?

            คำตอบ ก็คือเนื่องจากปี 2516-2550 ประเทสไทยเรายังถูกครอบงำจากเผด็จการ จากเผด็จการทหารถึงเผด็จการทุน นักต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ จากการต่อสู้ในเมืองในวิถีสันติวิธี พวกเขาเหล่านี้ได้นำขยายสู่การรับรู้ของประชาชนยากจน เราจึงพบว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมทั่วประเทศ จากชาวนาชาวไร่

            สุวิทย์ วัดหนู นำโอกาสการวิเคราะห์รับรู้ข้อมูลลงสู่ชาวบ้านมาบปะชันที่ถูกไล่ที่เพื่อ สร้างอ่างเก็บน้ำ จ.ชลบุรี บ้านเกิด ขณะเพื่อนพ้องกระจัดกระจายสู่พื้นที่อื่นๆ กลุ่มหนึ่งขึ้นไปทางภาคเหนือร่วมกับชาวไร่ แก้ปัญหาราคาจากพ่อค้าคนกลาง บางส่วนไปทำงานร่วมกับชาวนาภาคกลาง

            บางส่วนลงใต้ เช่น โกมล คีมทอง และหลัง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งนิสิตนักศึกษา ทั้งผู้นำชาวนาชาวไร่ต่างถูกสังหาร ตามล่า พวกเขาที่เหลือรอดต่างหลบภัยเข้าเขตป่าเขา หยุดการต่อสู้ด้วยสันติวิธี จับปืนประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

            สุวิทย์ วัดหนูลงใต้...ชุมพร - สุราษฎร์ธานี....

            นอกจาก งานด้านการทหารเขาได้ทำหน้าที่สร้างงานมวลชนในพื้นที่ใหม่หลายแห่ง เป็นความสัมพันธ์กับมวลชนที่ลึกกว่า เป็นงานในหน้าที่แม้ภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2523 เป็นต้นมา นักต่อสู้ส่วนใหญ่กลับคืนภูมิลำเนาเดิม แต่สุวิทย์ ยังอยู่กับมวลชนที่นั่นอีกนาน จนถึงปี 2528
            ชาวบ้านเหล่านั้นปลูกกาแฟ ข้าว ยางพารา ถูกรังเกียจ หยามเหยียด เมื่อสงครามปฏิบัติพ่ายแพ้ และถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ และนั่นคือ งานมวลชนรอบใหม่ของสุวิทย์ในพื้นที่เดิม เราพบว่ากลุ่มชาวบ้านเหล่านั้นค่อยๆ ก่อรูปเป็นขบวนการชาวบ้าน เพื่อต่อสู้เรียกร้องตามสถานะความไม่เป็นธรรมของเขาเองในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
           
            ผมเคยไปเยี่ยม "เขตงาน" เก่าของ สุวิทย์ วัดหนู หลายครั้ง ในหลายพื้นที่ หลายอำเภอ  พบคนมากหน้าหลายตา  หลายระดับที่เคยคบหาเป็น "มวลชน" ซึ่งกันและกัน เห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่ผูกพันเสมือนลูกหลานเพื่อนแท้ ส่งข่าว ช่วยเหลือ ฝากสะตอ มังคุด ทุเรียน ฝากลูกเรียนต่อ หรือช่วยเหลือเงินทองยามฉุกเฉิน เด็กหนุ่มสาวบางคนที่จดจำบทบาททหารป่าที่ปกป้องครอบครัวของเขาให้พ้นกับ อำนาจรัฐ วันนี้เติบโตและแต่งงาน เขาเข้ามากราบสุวิทย์ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง

            เมื่อฉุกเฉินจากเหตุการณ์บ้านเมือง เช่น หลังการปราบที่ราชดำเนินคืน 17-18 พ.ค.ปี 2535 เรากลุ่มหนึ่งต้องหาที่หลบซ่อนชั่วคราว สุวิทย์คิดอยู่ทุกลมหายใจว่าต้องไปถึงชุมพรแล้วเขาจะรอด นี้คือความมั่นใจในมวลชนในพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย (ในงานศพสุวิทย์ ที่บางเสร่ คนเหล่านั้นมากันครบครันพร้อมหน้า) หลายคนในนั้นเป็นสหายร่วมรบ เขาเคยพาผมไปทัวร์ย้อนรอย... "โรงพักนี้เราใช้เวลานิดหน่อยก็ยึดได้" ... "เราข้ามป่าตรงนี้" .. ปีนเขาตรงนั้น... ตีฝ่าตรงนี้ เราเสียสละไป 3 แลกกับ 11 .. หลายเหตุการณ์ รวมทั้งเกี่ยวกับขบวนรถไฟขบวนหนึ่ง ...ที่มีทั้งงานการทหารและงานโฆษณา
            กาลต่อมา สุวิทย์ลาจากพื้นที่ขณะดำรงความเป็นเพื่อนพี่น้องไว้อย่างแน่นแฟ้น ลาจากมาเพื่อเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบใหม่และเริ่มต้นการต่อสู้ครั้งใหม่ในเมือง ยุคบุฟเฟ่คาบิเนต -รสช. ในบทบาทของนักพัฒนาชุมชนในสลัม ทำงานร่วมกับคนจนเมือง จากนักรบนักการทหาร (ป่า) มาเป็น organizer  อยู่ตามชุมชนกองขยะ ผู้ติดเชื้อ ผู้เสพยา ในป่าคอนกรีต เขามีเป้าหมายอะไร?

            เมื่อเราติดตามเส้นทางอุดมการณ์ของสุวิทย์พบว่า ยุทธศาสตร์เป้าหมายของเขาต่องานครั้งใหม่  ในเมือง คือ "การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" สู้ทุกรูปแบบ ทุกสถานการณ์ตามเงื่อนไขความเป็นจริง
            เขาไม่เห็นด้วยกับการฟื้นพรรคเขียวพรรคแดงขึ้นมาใหม่ เขาโต้เถียงกับ "ลุง" หลายท่าน ที่คิดรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์ และต้องการจัดตั้งเขาอีกรอบ เขาพูดเสมอว่า "ลุง" เหล่านั้นมีคุณูปการสูงส่ง การเคารพความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและลุง ยังคงอยู่แต่ไม่ใช่ฐานะจัดตั้ง

            วันนี้ลูกหลานต้องคิดการใหม่ เขาจึงมุ่งหน้าทำงานจัดระบบชุมชน รวมกลุ่ม ทำงานความคิด ต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน เชื่อมโยงให้คนจนได้เห็นหมู่พวกช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขณะเดียวกันกับรวมตัวกันตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ หน่วยงานดูแลที่ดิน หน่วยงานที่ดูแลระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น เพื่อให้ชาวบ้านที่เขาทำงานได้ใช้สิทธิ์ฯ ในที่ดินหรือได้รับสวัสดิการจากรัฐเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม เป็นกระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ขบวนพัฒนามียุทธศาสตร์สำคัญ คือ ให้การศึกษาถึงสิทธิประชาชน และอำนาจรัฐไปด้วย

            จากปี 2528 กระทั่งถึงปี 2534 ถึง พ.ศ.2535 (รสช.) และอีกครั้งในช่วงปี 2541-2549 (ยุคทักษิณ) กลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มประชาชนจำนวนมาก แม้กระทั่งคนชั้นกลางในเมืองก็ได้ร่วมกันล้มเผด็จการทหาร (ปี 2535) ทุน (ปี 2549-2550) อีกครั้ง และสุวิทย์ หมู่มิตรในกระบวนการพัฒนาพร้อมองค์กรชุมชน ที่เป็นผลิตผลการทำงานจัดระบบชุมชน ก็ได้เข้าร่วมล้มเผด็จการอีกครั้ง นับเป็นสถานการณ์ทางการเมืองสำคัญครั้งที่ 5 (ทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าเขา)

            ในปี 2535 สุวิทย์ เป็นคนหนึ่งที่ประเมินว่าไม่เกิดการนองเลือด เขาจึงไปดูงานต่างประเทศ กลับมาเกิดเหตุการณ์แล้วและเขาได้เข้าร่วมทันทีในพื้นที่แนวหน้า
            ใช่แล้ว "พื้นที่แนวหน้าคือพื้นที่ที่สุวิทย์ ยืนอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเขา ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ"

            พื้นที่แนวหน้าสำหรับสุวิทย์ ยังไม่ได้ปิดฉากลงตามเผด็จการทหาร รสช. ช่วงปี 2547-2548 เมื่อขบวนการเมืองภาคประชาชนประเมินถึงอำนาจทุนในระบบรัฐสภา การคิดค้นต่อสู้ในรูปแบบใหม่ คือ การก่อตั้งพรรคการเมืองประชาชนสู้ ก่อนจะเข้าร่วมล้มเผด็จการทุน ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2549-2550 และเขามีข้อสรุปว่า

            เผด็จการมาแล้วมาอีก เราล้มไปแล้วมาใหม่ไม่จบสิ้น องค์กรประชาชนเกิดแล้งก็ล้มไปตามประเด็นปัญหา ต้องทำงานใหม่จัดระบบชุมชนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
            ขณะที่ในทางการเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดทรัพยากร กุมระบบทุกอย่าง ไม่ทหารก็ทุนหรือสถานบันอื่นใช้ประโยชน์ครอบงำอยู่ตลอดเวลา
          
            พลังประชาชนจะยกระดับไปมากกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นได้หรือไม่ ได้อย่างไร? เป็นอะไร?
            เขาจึงมีการนัดหมายกับเพื่อนพ้องในหลายแห่ง รวมทั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขยายความคิดนี้ เขามีร่างของพรรคเพื่อนำเสนอพูดคุย เขาขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อใช้เป็นค่าเดินทาง ค่าก่อตั้ง "พรรค" ที่เขาคิด ที่อุบลราชธานีมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า 5-10 วันก่อนเสียชีวิต ถ้าได้มีการพูดคุยปรึกษากันจริง เราอาจได้ถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้          
            พรรคมีงานพื้นที่ทำงานจัดตั้งกลุ่ม ทำงานความคิดชาวบ้าน ประกาศเลยว่าไม่ใช่ NGOs แต่เป็นพรรค
           
            พรรคเสนอโครงสร้าง สัดส่วน ส.ส./ส.ว. ใหม่ตามกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย จีน มลายู ชนเผ่าที่สูง ทะเล กุย เป็นต้น เวียดนามก็มีแบบนี้ทำไมไทยเป็นไม่ได้
            พรรคสนับสนุนให้แต่ละชุมชนหมู่บ้านดูแลจัดสรรทรัพยากรตามแผน กติกาของชุมชน ซึ่งถือเสมอเหมือนรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัย มีปัจจัย 4 มีที่ทำกินพอควร ไม่มีใครมีที่ดินมาเกินไป จะมีการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ทั้งในเมืองและชนบท
            ยกย่อง เชิดชู วัฒนธรรมของทุกชนเผ่า ให้ดำรงอยู่ได้ ปราศจากการแทรกแซงรุกล้ำทางวัฒนธรรม ประกาศเขตชุมชน เขตที่อยู่อาศัยถาวร เขตที่ทำกิน ร่วมกับชุมชน เขตเหล่านี้ถือว่าได้รับการคุ้มครองพิเศษ เพราะถือเป็นรากฐานของสังคมไทย

            พรรคจพยกเลิก อพท. แต่สนับสนุนให้มีการจัดการท่องเที่ยวของท้องถิ่น โดยองค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการโดยมี อบต. อำเภอ จังหวัด เป็นผู้สนับสนุนและได้รับงบประมาณจากรัฐโดยตรงทุกปี
            สนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่มุ่งเน้นหลักสูตร คุณธรรม-สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-ศิลปะ โดยใช้งบประมาณของรัฐเต็มที่และอยู่ในการดูแลของระบบชุมชนและให้มีอย่างน้อย จังหวัดละ 2 แห่ง

            พรรคส่งคนลงสมัครตำแหน่งทางการเมือง และทำงานการเมืองต่อเนื่องในฐานะผู้ตรวจสอบรัฐ ให้การศึกษาประชาชน พรรคไม่ใช่ระบบหัวคะแนน แต่พรรคจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรประชาชนที่เห็นด้วยในนโยบาย
            และพรรคไม่รีบร้อนเติบโต จะไม่กว้านซื้อ ส.ส.เก่าเน่าเหม็นที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ กินโกงชาติ ข้าราชการที่ทำตามนักการเมืองทุกชนิด มาเป็นสมาชิกพรรค (สมาชิกพรรค-คนที่จะลงสมัครมาจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์) เราจะค่อยๆ สะสมพลังประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ทำกิจกรรมพัฒนาสังคมในพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รวมผู้รักความเป็นธรรมทุกมิติ ทุกประเภทไว้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวันข้างหน้า หรือตรวจสอบอำนาจรัฐแบบกัดไม่ปล่อยในวันนี้ โดยความร่วมมือของมวลประชาชนกับพรรค ...เป็นต้น
           
            แต่วันนี้ สุวิทย์ ได้จากไปเสียแล้ว
            ผมเชื่อว่าจะมีคนทำงานการเมืองทางเลือก ในทิศทางแบบนี้แน่นอนในวันข้างหน้า

            "คนคิด อาจไม่ได้ทำ แต่คนจะทำได้คิดต่อ" จากจุดของคนทำงานชุมชนเมือง พวกเราไม่เคยคิดเรื่องพรรคการเมืองกันมาก่อน พวกเราทำงานมาหลายสิบปี ขบวนประชาชนนี้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นหลายด้าน สุวิทย์ มาร่วมและคิดค้นเชื่อมโยง ยกขึ้นสู่รูปแบบที่เป็น "องค์รวม" ไม่ใช่เป็นประเด็น
            เมือง ชนบท ผู้บริโภค เอดส์ หรือ เด็ก สตรี ไม่ใช่ NGOs ไม่ใช่ กป.อพช. และไม่ใช่พรรค ปชป. ทรท. ชท. ภายใต้กระบวนการทำงานร่วมคิดค้นท่ามกลางปฏิบัติ ทำพร้อมพูด
            การยกระดับงานขึ้นสู่องค์รวม จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ของการเมืองภาคประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้

            ใครที่คิดแบบอื่นก็ให้ว่ามา...แบบไหน?
            ใครจะต่อยอดจากสุวิทย์ วัหนูก็ให้ลงมือ
            สุวิทย์...คุณทำเต็มที่แล้วและทิ้งโจทย์ใหม่ -ใหญ่ไว้ให้นักอุดมการณ์เพื่อสังคมทำการบ้านต่อ
            ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เรา-ท่านที่ยังอยู่ คงได้ตรวจสอบวิถีชีวิตตัวเองบ้างว่าวันนี้ จะสร้างนวัตกรรมใหม่ต่อสังคมอย่างไร?



ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เพลงกำลังใจจากฟากฟ้า - วงฆราวาส

เมื่อ 14 มิ.ย.2551 สะพานชมัยมรุเชษฐ์ มีหรั่ง ร็อคเคสตร้ามาตีกลองให้
ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมพลังพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ
โดย กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551

อาลัย พี่สุวิทย์ วัดหนู by วิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าฯ

อาลัย พี่สุวิทย์ วัดหนู
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

วิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าฯ - 6 มิถุนายน 2550

            พี่สุวิทย์ที่ผมรู้จัก เป็นคนเรียบง่ายกันเองกับทุกๆคน และมากด้วยน้ำใจ เมื่อเรามีปัญหาหรือมีความทุกข์พี่สุวิทย์ก็จะอยู่เคียงข้างทุกคนเพื่อให้ กำลังใจ

            ผมรู้จักพี่สุวิทย์ เพราะหมี สุริยันต์ ทองหนูเอียด พาไปแนะนำให้รู้จัก ทราบว่า พี่สุวิทย์ เป็นที่เคารพรักของหมีและพี่สุวิทย์เองก็รักหมีมากเช่นกัน เลยทำให้ผมในฐานะเป็นเพื่อนหมี ได้รับความเอ็นดูได้รับความเห็นใจจากพี่สุวิทย์ด้วย ช่างโชคดีเหลือเกินจริงๆ

            ผมรู้จักพี่สุวิทย์ ว่าชั่วชีวิตของพี่สุวิทย์ ไม่เคยทอดทิ้งอุดมการณ์ที่จะยืนหบัดอยู่เคียงข้างคนยากคนจน คนชายขอบมาโดยตลอด มุ่งมั่นกอบกู้และปลดปล่อยให้คนยากคนจนหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้โดยไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยยากเลย เพียงแต่แนะนำเรา ว่าถ้าเหนื่อยนักก็พักซะ เมื่อหายเหนื่อยก็เริ่มต้นใหม่
           
            พี่สุวิทย์เป็นที่รู้จักของคนกลุ่มต่างๆ เกือบทุกวงการ นับตั้งแต่คนเล็กคนน้อยจนถึงคนระดับใหญ่โตที่เป็นถึงรัฐมนตรี เลยทำให้เป็นที่รู้จักและมีเพื่อนฝูงมากมาย แต่พี่สุวิทย์ก็เลือกคบคนเล็กคนน้อยมากกว่า ยิ่งทำให้เรารู้จักตัวตนพี่สุวิทย์ดีขึ้นว่าพี่สุวิทย์คือใคร
            ผมไม่สามารถบรรยายคุณงามความดีของพี่สุวิทย์ได้หมดภายใต้กระดาษแผ่นเดียว เพราะมีมากมายเกินกว่าบรรยายหมด หากชมก็ไม่กล้าหยิบยกคำพูดใดที่เหมาะสมที่สุดได้ ไม่กล้าตั้งคำถามแม้แต่คำเดียว เพราะกลัวว่าจะไปสะเทือนความศรัทธาที่ผมมี เลยขอเก็ยไว้ในใจส่วนลึก เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
           
            วันนี้ พี่สุวิทย์ จากพวกเราไปแบบไม่มีวันกลับ ช่างอาลัยยิ่งนัก พักซะเถอะครับ อุดมการณ์ของพี่ที่มีอยู่จะไม่มีวันตาย หรือสูญสลายไป เชื่อว่าน้องๆของพี่สุวิทย์ทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจแล้วเช่นกัน ว่าควรจะทำอย่างไร

            เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ



ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วัน ที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551

ขอสดุดีดวงวิญญาณน้องสุวิทย์ by สม ศักดิ์ โกศัยสุข

ขอสดุดีดวงวิญญาณน้องสุวิทย์
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

สม ศักดิ์ โกศัยสุข

ผู้บรรจงชีวิต แด่ชนชั้นผู้ยากไร้
            ผมผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 62 ปี ได้ศึกษาฝึกฝนผ่านประสบการณ์จริง ที่ทำความเข้าใจ เรื่องโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ถึงสัจธรรมแห่งชีวิตของมนุษย์มาพอสมควร และเคยสูญเสียมิตรสหายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ รวมทั้งบิดา มารดา ฐาติ พี่น้องและบุตร และเข้าใจถ่องแท้ว่า การเกิดแก่เจ็บตายย่อมเป็นอนิจจัง และเกิดขึ้นกับทุกชีวิต ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา โดยไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ และแล้วมันก้เกิดขึ้นอีกครั้งกับน้องสุวิทย์ วัดหนู ในช่วงที่กำลังมีวาระสำคัญในการยกระดับการต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้ น้อง สุวิทย์ ได้จากขบวนการต่อสู้ของชนชั้นผู้ยากไร้อย่างไม่มีวันกลับ

            เมื่อเสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ประมาณตีหนึ่งของคืนวันที่ 11 มีนาคม 2550 ปลุกให้ผมตื่นขึ้นหลังจากล้มตัวลงนอนประมาณ 30 นาที เมื่อกดรับ เสียงสุริยะใสกรอกเข้าหู พี่สมศักดิ์ครับพี่สุวิทย์ตายแล้ว ผมยังคิดว่าเป็นการล้อเล่น เพราะตลอดเวลา 20 ปี ที่ผมใกล้ชิดกับน้องสุวิทย์ เขาไม่เคยบ่นหรือแสดงอาการอ่อนแอ เกี่ยวกับสุขภาพความเจ็บป่วยให้ผมได้ยินแม้แต่ครั้งเดียว ในระยะหลังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาเพียงบ่นเป็นห่วงสุขภาพของน้องวรรณ ศรีภรรยาที่แสนดีของเขาเท่านั้นและบางครั้งต้องขอตัวไปรับไปส่งภรรยา ในการไปกลับจากการทำงานที่มูลนิธิดวงประทีป

            การจากไปอย่างกระทันหัน และรวดเร็วกว่าที่มิตรสหายจะคาดคิดถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง หนึ่งของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมของชนชั้นผู้ถูกกด ขี่ขูดรีด
            ผมขอสารภาพว่า ที่แท้ ผมก็คือปุถุชนธรรมดา ที่รู้สึกสะเทือนใจ และตอกย้ำความรู้สึกเจ็บปวดของคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม มันลึกลับซับซ้อนเหลือเกิน สำหรับผู้ที่อุทิศตนอย่างแน่วแน่ ต่อสู้เพื่อชนชั้นผู้ยากไร้ที่ต้องสูญเสียกำลังสำคัญในสถานการณ์ที่ขบวนการ ต่อสู้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีนักสู้ที่ผ่านประสบการณ์ มีจุดยืนหนักแน่นเหมือนภูผา เฉกเช่นน้องสุวิทย์ วัดหนู

            น้องสุวิทย์คือผู้ที่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งที่เขาทำงานเหมือนปิดทองหลังพระมา โดยตลอด ไม่เคยโชว์ฟอร์ม อยากเด่น อยากดัง และแสวงหาผลประโยชน์ในทุกด้าน ทั้งที่เขามีความสามารถสูงกว่าบุคคลที่สังคมรู้จักผิวเผินหลายคน ในแวดวงสังคมนักต่อสู้ในปัจจุบัน  เขาเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในแวดวงของผู้ทุกข์ยาก ไม่ว่าพี่น้องชุมชนสลัม คนไร้บ้าน กรรมกร ชาวนา ปัญญาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ

            ในสถานการณ์ก่อนเสียชีวิต เขารับบทบาทสำคัญที่ทำหน้าที่ประสานกับทุกฝ่าย เพื่อยกระดับการต่อสู้ของประชาชนผู้ยากไร้ ล่าสุดน้องสุวิทย์ได้รายงานข้อมูลต่างๆให้ผมทราบก่อนเสียชีวิตประมาณ 3 สัปดาห์ เกี่ยวกับภารกิจในการประสานงานมวลชน เพื่อยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง น้องสุวิทย์มีความสามารถสูง มีความคิดแหลมคมในการพูดคุยทางวิชาการและเมื่อมีการประชุมเพื่อเคลื่อนไหว ของมวลชน และในการต่อสู้จริงในภาคสนาม ทั้งในเมืองและชนบท

            ในเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ในการต่อสู้ขับไล่เผด็จการ รสช. เขาคือเพื่อนเป็นเพื่อนตายของผมตลอดเวลาของการเคลื่อนไหวที่ต้องตัดสินร่วม กันทุกครั้ง และเราจะยืนคู่กันเสมอในยามวิกฤติ และไม่แตกต่างกันในเหตุการณ์ขับไล่ระบอบทักษิณ ที่ขบวนการประชาชนได้เข้าร่วมจัดตั้งองค์การพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 น้องสุวิทย์ต้องรับบทบาทอันหนักหน่วงคือ การประสานงานโฆษกบนเวที และการควบคุมมวลชน และเข้ามารับบทบาท ในช่วงตี 2 ตี 3 เป็นประจำของการชุมนุมแต่ละครั้ง จนกระทั่ง คปค.ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ วันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อนที่พันธมิตรจะจัดชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อในวันที่ 20 กันยายน 2549

            น้องสุวิทย์ ได้เปรยกับผมว่า "ครั้งนี้ต้องเตรียมกำลังให้ดีอาจถูกปราบปรามได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเราไม่สามารถทิ้งประชาชนได้" ภายหลังจากได้ร่วมกันประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ครั้งสุดท้าย ก่อนการจัดการชุมนุม 7 วัน

            นี่คือจุดยืนอันยิ่งใหญ่ในดวงใจของเขา ตลอดเวลาที่ทำงานใกล้ชิดกัน 20 ปี การดำรงชีวิตของน้องสุวิทย์ คงเส้นคงวา เขามีสัมมาคารวะอย่างสูงต่อคนทั่วไป สุภาพอ่อนโยน รักเพื่อนฝูง วิพากษ์วิจารณ์มิตรสหายตรงไปตรงมาซึ่งหน้าเสมอ มีวินัยสูงในการทำงานกับมวลชน รับผิดชอบสูงมาก รักครอบครัว ไม่เคยมีความประพฤติเสื่อมเสียในทุกๆด้าน มีความเป็นสุภาพบุรุษและเก็บความรู้สึกได้อย่างยอดเยี่ยม บางครั้งเขาถูก NGOs สายแรงงานบางคนทรยศหักหลัง น้องสุวิทย์ไม่เคยกล่าววาจาโจมตีบุคคลเหล่านั้น เขาเพียงเล่าความจริงให้ผมฟังและสรุปว่าพี่อย่าไปรู้มันเลย ขอให้รู้ว่าคนคนนี้ใช้ไม่ได้ นี่คือคำพูดที่ถือว่ารุนแรงแล้วสำหรับเขาที่ผมเคยได้ยิน

            วันที่ 24 ธันวาคม 2549 สถานีวิทยุเสียงกรรมกร Worker' Radio Fm 98.25 MHz. ได้จัดกิจกรรมสมานฉันท์ระหว่างพันธมิตรทั้งหลายรวมทั้งพี่น้องสื่อมวลชน กรรมกร พี่น้องสลัม 4 ภาค ครป. กลุ่มเพื่อนประชาชน ฯลฯ แข่งกีฬากระชับความสัมพันธ์ และผ่อนคลายความเครียด ณ สนามสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ เนื่องในโอกาสเปิดสถานีวิทยุครบรอบ 6 เดือน

            น้องสุวิทย์ได้ร่วมเล่นฟุตบอล ตกกลางคืนก็มีการสังสรรค์กันแบบวิถีชีวิตของคนจน นั่งรวมกันที่บริเวณสนามบาสเกตบอล น้องสุวิทย์ได้พูดกับผมว่า "วันนี้ผมมีความสุขมากที่มานั่งสังสรรค์กันที่สนามบาสเกตบอล ทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศในอดีตขณะเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทยในเขตป่าเขา ขณะนั้นเมื่อมีการออกกำลังกาย เล่นบาสเกตบอล ก็จะนั่งสังสรรค์กับสหายคล้ายกับบรรยากาศในวันนี้"

            เขาสบตาผมด้วยแววตาเป็นประกาย ใบหน้าแดงระเรื่อดูมีความสุข และอิ่มเอิบ นี่คือความสุขเล็กๆน้อยๆช่วงสั้นๆ ที่น้องสุวิทย์แสดงให้ปรากฎ แต่ความคาดหวังของน้องสุวิทย์คือ เขาอยากเห็นสังคมที่ยุติธรรม สังคมที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด มีทั้งภราดรภาพ เสรีภาพ และเสมอภาค เขาจึงกำหนดวิถีชีวิตของเขาเพื่อผู้ยากไร้ จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต น้องสุวิทย์ทำดีไว้มาก มีบุญญาบารมี แม้วิธีการลาโลกของน้องสุวิทย์ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น และยังทำหน้าที่งดงามต่อภรรยาอันเป็นที่รักของเขา ขอสดุดีดวงวิญญาณของน้องจงไปสู่สุขคติ ในสัมปรายภพเถิด ขอฝากมิตรสหายทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ หากรักและศรัทธาน้องสุวิทย์ จงคิดสามัคคีกันต่อสู้เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์น้องสุวิทย์อย่างจริงจังต่อไป นี้คือการแสดงความรักที่แท้จริงต่อมิตรที่รักและศรัทธา

            ด้วยจิตคารวะ

ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะ จัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

คนสามัญผู้มั่นคงถึงขั้นสูงสุด

คนสามัญผู้มั่นคงถึงขั้นสูงสุด
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

นิกร จำนง

            รู้จักพี่สุวิทย์ วัดหนู ในงานการเรียร้องกรณีโรงไฟฟ้าที่ภาคเหนือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  บรรหาร ศิลปอาชา ครั้งนั้นได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด จนปัญหาได้คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่ง ละได้มีบางอย่างเกิดขึ้น คือ ความเคารพกันในฐานะคนทำงานด้วยกัน และความสัมพันธ์นั้นได้พัฒนามากขึ้น จนเป็นพี่น้องที่สนิทสนมกลมเกลียวกันตลอดมา

            ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมือง ทางสังคมของประเทศซึ่งไม่เคยแน่นอนจะเป็นเช่นไร มิใยว่าสภาวะทางเศรษฐกิจในเชิงบุคคลจะเสมอตัวหรือตำต่ำ แต่ความมั่นคงของคนทำงานที่ถูกเรียกขานว่า "สุวิทย์ วัดหนู" ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

            ในช่วงเวลา 10 ปีกว่าที่รู้จักกันมา ทั้งในฐานะทำงานร่วมกัน ทั้งในฐานะเป็นพี่เป็นน้องที่รักนับถือกัน ตามประสาสามัญชนคนธรรมดา ได้ค้นพบแก่นแกนของความเป็น "สุวิทย์ วัดหนู" อย่างชัดเจน มาตั้งนานแล้ว ความคงเส้นคงวาของบุคคลผู้นี้ต่อหน้าที่รับผิดชอบนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งๆที่รู้ว่า เป้าหมายนั้นไม่มีทางที่จะไปถึงได้ เช่น การแก้ปัญหาของคนจนเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนเงาของทุกเมืองมีเมืองก็ต้องมีคนจนเมือง หรือสลัมอยู่เสมอ พี่สุวิทย์สู้เพื่อสิ่งนี้ จนกลายเป็นเงาของตัวเอง มีสุวิทย์ที่ไหนก็ต้องมีภาระเกี่ยวกับคนจนเมืองอยู่บนบ่าเสมอไป ไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยท้อถอย จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

            ในความเป็นคนแบบพี่สุวิทย์ ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะละวางสายใยสัมพันธ์ของมิตรสหาย ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ฟากไหนของฝั่งแห่งแนวคิดตามอุดมการณ์ที่ไม่รู้จบของ บรรดาเหล่านักคิด นักฝัน นักปฏิบัติผู้ร่วมสมัย ความขัดแย้งระหว่างกันและกันถูกสายใยแห่งมิตรภาพความปรารถนาดีของพี่สุวิทย์ ยึดโยงรวบรัดเข้ามาหากัน จนกลับมาจับมือกันได้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และผลสืบเนื่องจากการนั้น มักนำไปสู่คณูปการต่อสังคมเสมอมา ไม่ใช่เพราะพี่สุวิทย์เป็นคนไร้ซึ่งความรู้สึก ไม่ว่าจะโกรธ เกลียด หรือน้อยอกน้อยใจ หากแต่ว่า ด้วยหัวใจดวงใหญ่ที่เปิดกว้าง และมีความรักในพี่น้องและเพือนๆอย่างจริงใจ ทุกคนจึงต้องยอมละวางอารมณ์ของตนให้กับพี่สุวิทย์ ในยามที่ถูกร้องขอเกือบทุกครั้งไป

            บัดนี้พี่สุวิทย์ วัดหนู ได้จากไป ลึกๆแล้วทุกคนที่รู้จักมักคุ้นย่อมโศกเศร้าเสียใจ แต่ลึกลงไปกว่านั้นเชื่อได้เลยว่า มิติความเป็น "สุวิทย์ วัดหนู" จะฝังลึกอยู่ในใจของทุกคนอย่างมั่นคงตลอดไป แม้ว่าแนวร่วมผู้ทำงานเพื่อสังคมด้านนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในสภาวะเปรียบเหมือนเรือที่สมอขาด อาจเคว้งคว้างอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าต่อไป สู่ฝั่งแห่งสังคมที่ดีกว่าซึ่งทุกคนเชื่อว่ามี แบบเดียวกับที่ "สุวิทย์ วัดหนู" คนสามัญผู้มั่นคง ตั้งใจว่าจะไปให้ถึง



ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551

แบบอย่างของนักสู้สามัญชน

แบบอย่างของนักสู้สามัญชน
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)

ชัย วัฒน์ สุรวิชัย - พฤษภาคม 2550

            "สุวิทย์ วัดหนู แบบอย่างของนักสู้สามัญชน แนวทางมวลชน"
            ผมตั้งใจจะไปร่วมงานศพของเพื่อนและน้องร่วมอุดมการณ์ นาม "สุวิทย์ วัดหนู" ที่วัดบางเสร่ บ้านเกิด แต่ก็ไม่ได้ไปเพราะติดงานมวลชน
           
            ถึงแม้ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่ก็เหมือนไปร่วม เพราะผมต้องไปร่วมงานบนเวทีประชาธิปไตยกับผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน ที่จังหวัดลำปาง ตามคำเชิญที่กะทันหันของคุณศรีสะเกษ สมาน

            ผมเริ่มต้นคำพูดที่ประชุมว่า "งานนี้เพื่อสืบทอดอุดมการณ์ของ "คุณสุวิทย์ วัดหนู" แบบอย่างนักสู้สามัญชน แนวทางมวลชน ที่แม้จะ "เสียสละ" ร่างกายไปแล้ว แต่ "ผลงานและอุดมการณ์" ยังคงอยู่คู่ชุมชน สังคมและเพื่อนมิตรสหายที่ยังคงมีแรงและลมหายใจ ที่จะเดินบนเส้นทางของประชาชนต่อไป แม้หลายคนจะเปลี่ยนเส้นทางเดินไป

            ถ้าสุวิทย์สามารถรับรู้ได้ คงจะเข้าใจและเห็นด้วย เพราะเส้นทางชีวิต เส้นทางเดิน "เรา" เดินไปด้วยกันบนทางสายเดียวกันมาตลอด 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535, 11 ตุลาคม 2540 (ขบวนการธงเขียว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน) และกรณีคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ปี 2549 เผด็จการภายใต้ประชาธิปไตยเลือกตั้ง

            ผมได้มีโอกาสดี ที่ได้รู้จักอดียนายกสโมสร มศว.บางแสนคนนี้ ในช่วงปลายปี 2517 ในขณะที่ทำงานฝ่ายมวลชน ของกลุ่ม ปช.ปช. (กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ซึ่งเป็นงานสืบเนื่องของกลุ่มเรียกร้องรับธรรมนูญ สมัยปี 2516 และในปี 2518 ขณะที่ทำงานด้านมวลชนของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย
           
            โอกาสแรกและงานแรกที่ผมได้ร่วมงานกับคุณสุวิทย์ วัดหนู และคุณสมภพ บุนนาค เป็นงานที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ กรณีชาวบ้านและพระภิกษุคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จ.ชลบุรี กับกรมชลประทานที่เวนคืนที่ชาวบ้านและวัด เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรม เราได้ประสบการณ์ครั้งแรกร่วมกัน คือ "การถูกลอบยิง" ขณะที่เรากำลังพูดคุยกับเจ้าอาวาสในคืนวันหนึ่งในช่วงนั้น

            งานสลัม และขบวนการต่อสู้อำนาจรัฐ ในบทบาทของการเป็นผู้นำ "การเป็นโฆษก ที่ปลุกกระแส และควบคุมเวที" เป็นภาพที่มวลชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า "การปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนจนคนด้อยโอกาส" และ " การคัดค้านอำนาจรัฐที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม" เป็นสิ่งที่ต้องทำ ได้ทำ และไม่เคยท้อถอยเลย แต่อีกภาพหนึ่ง ที่เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ต่อการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะการควบคุม และคุมเวทีการชุมนุม ที่หลายคนไม่เคยทราบคือ

            สุวิทย์จะตระเวนไปขอความคิดเห็น คำแนะนำ จากเพื่อนๆพี่ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์และมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ ผมก็เคยได้คุยแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่อง ข้อมูล ข่าวสาร และแนวโน้มของสถานการณ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ "ของการวิเคราะห์สถานการณ์ในสถานการณ์การต่อสู้" เพราะส่วนใหญ่เกือบทุกฝ่ายมักจะเลือกฟังข้อมูล เฉพาะที่ตรงกับความคิดเห็นของตน และตัดทิ้ง หรือ ไม่ให้ความสำคัญ หากข้อมูลนั้นเป็นไปอีกทางหนึ่ง แต่ "สุวิทย์" จะรับฟังทุกข้อมูล และความเห็นที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ "สุวิทย" สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีทุกเวที นอกจากประสบการณ์ ความสุขุม ใจเย็นและความรับผิดชอบของเขา

           "สุวิทย์ วัดหนู" จะเลือกข้างถูกเสมอ ครั้งล่าสุด "กรณีคดี อดีตนายกทักษิณ" เผด็จการในคราบของประชาธิปไตยเลือกตั้ง เพราะเขาเลือก "เอาผลประโยชน์ของประชาชน" เป็นที่ตั้ง แม้อาจต้องยืนอยู่ตรงกันข้าม อยู่คนละฝั่ง กับมิตรสหายที่เคยร่วมอุดมการณ์ ที่ไปอยู่ล้อมรอบอดีตนายกทักษิณที่ใช้ข้ออ้างว่ามาจากประชาธิปไตย มาจากเลือกตั้ง ทั้งๆที่รู้กันดีว่า ได้อำนาจรัฐมาจากการซื้อ และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม

            อีกเรื่องหนึ่งที่ "สุวิทย์ วัดหนู" ให้ความสำคัญยิ่ง คือ การจัดตั้ง "พรรคการเมืองของประชาชน" "สุวิทย์" ให้เวลามากกับเรื่องสำคัญนี้ ผมรู้สึกถึงอารมณ์ในเรื่องนี้ของสุวิทย์ ทันทีที่ได้รับโทรศัพท์

            โอกาสการจัดตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน ในภาววิสัยของสังคมไทยในยุคนี้ ค่อนข้างยาก และเป็นจริงไม่ยากเลยในทัศนะและประสบการณ์ของผม ที่ยึดหลัก "หาสัจจะจากความเป็นจริง"

            แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผมต้องไปหาสุวิทย์ ที่สำคัญคือ "สุวิทย์" พยายามหาทางออกของสังคม หาทางออกให้กับมวลชนที่ทุกข์ยาก เป็นสิ่งแรกและสิ่งเดียวที่หัวใจสุวิทย์มีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเคารพความยิ่งใหญ่ของสุวิทย์มาตลอด และตลอดไป

            มีครั้งหนึ่งที่ผมได้รับน้ำใจ จากสหายรุ่นน้องที่ผมนับถือ ในช่วงปี 2517 ที่ผมรับราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ผมถือและใช้โอกาสนี้ลาบวชเพื่อเป็นการพักผ่อนทางกาย ที่มีชีวิตที่สอง หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมา และรักษาเสริม "ใจ" ให้ใฝ่และเข้าใจ "ธรรม" ให้มากขึ้น โดยผมไปบวชที่ วัดเชียงราย  จ.ลำปาง เพื่อตอบแทนให้คุณพ่อ คุณแม่ ได้ชื่นใจ หลังจากที่ผมทำให้บุพการีต้องทนทุกข์ นอนไม่หลับตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2516 วันที่ 13 คน ถุกเผด็จการถนอม ประพาส ณรงค์ สั่งจับ ตั้งข้อหากบฎในราชอาณาจักร, คอมมิวนิสต์ ฯลฯ และ  เดินทางมาจำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์กับท่านปัญญานันทภิกขุ

            คุณสุวิทย์ วัดหนู และคุณสมภพ บุนนาค ได้มาเยี่ยมถามสารทุกข์สุข ของ "พระชัยวัฒน์ อิสรธัมโม"

            ผมจำไม่ได้ว่าได้คุยหรือได้เทศน์ในเรื่องอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญคือ การมีใจรักและเป็นห่วงเพื่อนของ "สุวิทย" ซึ่งหลายคนต่อหลายคนคงได้รับน้ำใจจากสหายของ สุวิทย์ วัดหนู สิ่งที่ผมจะแสดงความเคารพรักต่อสหายสุวิทย์ วัดหนู คือ การให้คำมั่นสัญญาต่อตัวเองว่า "เส้นทางสายประชาชน ที่สุวิทย์ก้าวเดิน และร่วมเดินทางสายนี้มาตลอด ผมจะเดินต่อไป จนกว่าแผ่นดินจะกลบหน้าจนกว่าผมจะเดินตามสุวิทย์ไป"


ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่ง ชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน