วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

คำไว้อาลัย มนัส โอภากุล จาก กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน..

อำลา..อาลัย มนัส โอภากุล




        ในโลกหล้า ผู้ผ่านมาต้องจากไป
        คงเหลือไว้สิ่งงดงาม      นามคุณค่า
       ให้ลูกหลานสืบสาน         ธารศรัทธา
        กตัญญูตา ต่อตัวท่าน     นิรันดร์ไป

      ขอไว้อาลัยนายมนัส โอภากุล

 และแสดงความเสียใจ ต่อน้าแอ๊ด คาราบาว และครอบครัวโอภากุลครับ

           ไก่ แมลงสาบ
กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน
        8 มกราคม 2554






รายละัเอียดของข่าว

           นายมนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของ จ.สุพรรณบุรี บิดาของ แอ็ด คาราบาว เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 4 ม.ค. 54 ด้วยวัย 97 ปี ที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โดยมีพิธีรดน้ำศพนายมนัสที่ วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 4 พร้อมจะมีการสวดพระอภิธรรมไปทุกคืนจนถึงวันที่ 8 ม.ค. และมีกำหนดฌาปนกิจศพ ในวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2554 เวลา 17.00 น. ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นลำดับต่อไป

            บรรยากาศงานรดน้ำศพ ”นายมนัส โอภากุล” มีเหล่าศิลปินวงคาราบาว มากันครบหน้า พร้อมแขกผู้มีเกียรติ ผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดสุพรรณบุรี มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง พร้อมด้วย วินิจ เลิศรัตนชัย , ”ปาน-ธนพร”, อี๊ด โอภากุล แฝดผู้พี่ แอ๊ด คาราบาว , อู๊ด เป็นต่อ , จ้อ นินจา เป็นต้น ในการนี้ สวธ. ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีผลงานดีเด่น เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศล 10,000 บาท และจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่จำนวน 80,000 บาท

             สำหรับ งานศพของนายมนัส ก็จะมีการสวดอภิธรรมเป็นเวลา 6 วัน ส่วน วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม ก็จะเป็นพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งถือว่ายังความปลาบปลื้มและสุดซึ้งต่อพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น และหาที่เปรียบมิได้

             แอ๊ด คาราบาว เผยถึง การสูญเสียบิดาว่า ”ผมในฐานะลูก ก็ถือว่าเป็นการสูญเสียอีกครั้ง จากที่เมื่อไม่นานนี้ได้สูญเสียคุณแม่ไป ผมเสียใจอย่างสุดซึ้ง เกินคำบรรยาย ก็ขอให้ เตี่ย นอนหลับฝันดี นอนหลับให้สบาย ผมและพี่น้องทุกคน จะขอสืบสานและทุกเจตนารมณ์ของเตี่ย ตราบที่ผมและทุกคนจะสิ้นลมครับ และขอให้เตี่ยมีความสุขกับภพที่พบและประสบใหม่ จากใจลูกชาย ผมแอ๊ดและอี๊ด และตัวแทนทุกคนครับ” แอ๊ดกล่าว







           นายมนัส โอภากุล (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 - 4 มกราคม พ.ศ. 2554) หรือชื่อที่ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกติดปากว่า "อาจารย์มนัส" เป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเป็นบุตรชายของ นายติ๊มเข่ง แซ่โอ ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2469 เริ่มเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2478-พ.ศ. 2483 ต่อมาได้เป็นเสมียนและผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทสุพรรณบุรี จังหวัดพาณิชย์ จำกัด ระหว่างปี พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2487 ภายหลังเปิดร้านค้าเป็นของตนเอง ชื่อ "ร้านมนัสพาณิชย์" ตั้งอยู่ที่เลขที่ 770 ตลาดทรัพย์สินซอย 4 อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ขายเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬา

            นายมนัส โอภากุล มีความสนใจและรักในการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของ จังหวัดสุพรรณบุรี จนมีความรู้อย่างละเอียดและแตกฉาน ได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา จนเป็นที่ยอมรับไปทั่ว และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณในจังหวัดสุพรรณบุรี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา โดยเฉพาะความรู้ความสามารถทางด้านพระพุทธรูปและพระเครื่องชนิดต่าง ๆ เช่น พระผงสุพรรณ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นนักสื่อสารมวลชนท้องถิ่นที่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของสุพรรณบุรี คือ “หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ”

             นอกจากนี้แล้ว ยังเคยเป็นผู้จัดการวงดนตรีลูกทุ่ง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีสากลวงแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยในปี พ.ศ. 2480 ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นในนามของ วงดนตรีโรงเรียนเทศบาลวัดปราสาททอง แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวง “มนัสและสหาย” ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 วงมนัสและสหายได้เข้าสังกัดสมาคมชาวสุพรรณ จึงได้ชื่อวง “ช.พ.ส.” "หนึ่งในสมาชิกของวงคืออาจารย์สุเทพ โชคสกุลเจ้าของบทเพลงที่โด่งดังและเป็นอมตะจนถึงปัจจุบันเช่นเพลง"แม่พิมพ์ ของชาติ" "มนต์การเมือง" "พระคุณที่สาม"เป็นต้น และเพลงที่ใช้ในวงการลูกเสือเช่น "ความเกรงใจ""ความซื่อสัตย์""ตรงต่อเวลา"รวมทั้งเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ เรื่อง"ครูบ้านนอก"อีกหลายเพลง นับได้ว่าท่านได้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสแก่สมาชิกในวงดนตรีของท่านจน มีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติและได้รับเกียรติอันยิ่ง ใหญ่ให้แสดงหน้าพระที่นั่งในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาจังหวัดสุพรรณบุรีสมาชิกของวงทุกท่านได้รับพระทานถุงทองบรรจุเหร๊ยญ 1 ตำลึงซึ่งเป็นเกียรติแก่วงตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

         ชีวิตส่วนตัว นายมนัส สมรสกับ นางจงจิน มีบุตรด้วยกันหลายคน และมีบุตรชายฝาแฝดที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ยืนยง (แอ๊ด คาราบาว) และ ยิ่งยง โอภากุล นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง

          จากผลงานการทำงานด้านสังคม ศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้นายมนัส โอภากุล ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (อนุรักษ์และเผยแพร่) ประจำปี พ.ศ. 2530 เป็นผู้มีผลงานดีเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2552

          นายมนัส โอภากุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554 มีอายุได้ 97 ปี



คลิปวิดีโอ เพื่อรำลึกถึงท่านอาจารย์ มนัส โอภากุล
------------------
อาจารย์มนัส โอภากุล เล่าเรื่องเื่มืองสุพรรณ




คุณตามนัส เล่าเรื่องที่มาของตลาดวัดจำปา ตลาดเก่าแก่ของเมืองสุพรรณ



คุณตามนัส เล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุ­บันของเมืองสุพรรณ


คุณตามนัส เล่าเรื่องการดูแลสุขภาพ กับพรสวรรค์ทางด้านกีฬาตั้งแต่วัยหนุ่มถึง­ปัจจุบัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 มกราคม 2554 เวลา 18:02

    สิ้นคนดี กวีเมืองสุพรรณไปอีกคน เสียใจจริงๆ ครับ

    ตอบลบ

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน