วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

คัดค้าน! การจัดเวทีสร้างภาพสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช

          จากเหตุการณ์ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับบริษัทโปแตช ได้จัดฉากจ้างชาวบ้านให้ไปร่วมเวทีประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเซ็นทารา จ.อุดรธานี แล้วโกหกว่า ได้มีการชี้แจงเรื่องการปักหมุดรังวัดให้กับประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว พอรุ่งเช้าก็เร่งรีบทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้ 4 แปลง พื้นที่ 26,446 ไร่ (ครอบคลุมเนื้อที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม) ทันที ทั้งๆ ที่ในเวทีเป็นการประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 และเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ใช่การประชุมเพื่อการชี้แจงปักหมุดรังวัดตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรแต่อย่างใด ดังนั้นปักหมุดรังวัดในครั้งนี้จึงไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมาย กลุ่มชาวบ้านจึงไม่ยอมรับและออกมาคัดค้าน ตามที่เป็นข่าว

            หลังจากนั้นบริษัทโปแตช ก็ได้หลอกชาวบ้านซึ่งอ้างว่ามีที่ดินในเขตเหมือง ให้นำเอาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไปแลกกับเงินค่าลอดใต้ถุนไร่ละ 1,000 บาท เพื่อบริษัทฯ จะได้เอาไปประกอบเป็นหลักฐานยื่นขออนุญาตประทานบัตร และนำรายชื่อไปแอบอ้างว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนเหมืองและเห็นชอบกับการปักหมุดรังวัดแล้ว ซึ่งในพื้นที่ที่เราเคยอยู่กันอย่างสงบสุขฉันพี่น้อง ณ เวลานี้พบว่าได้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และทะเลาะกันอย่างรุนแรง บางรายถึงขั้นถูกขโมยเอาโฉนดที่ดินไปเพื่อยื่นขอเงินกับบริษัทฯ โดยที่เจ้าของไม่รู้และไม่ยินยอมด้วยเลย แต่คนทำงานให้กับบริษัทฯ ที่ได้ชักชวนพี่น้องให้ไปร่วมเวที และออกหาล่าเอาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านกลับได้ราคาค่าหัวคิวแบ่งกันกินอย่างอิ่มเอม
ในวันที่ 5 เมษายน นี้ ที่เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยในความเป็นจริง การจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร หรือตามกฎหมายแร่ แต่บริษัทโปแตชกำลังจะสร้างภาพให้แลดูดีว่าเหมืองมีความรับผิดชอบต่อชุมชน และเป็นอีกครั้งที่บริษัทโปแตช จะมาหลอกจ้างชาวบ้านเพื่อไปร่วมรับฟัง แล้วให้ยกมือสนับสนุนการปักหมุดรังวัด และโครงการเหมืองแร่โปแตช

          ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ได้เรียกร้องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อให้ กพร.และบริษัทโปแตช ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ (การมีส่วนร่วมไม่ใช่จ้างคนมาฟังแล้วให้ยกมือเห็นด้วย) ให้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ตามมาตรา 88/9 ในขั้นแรกของการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ตามพ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ.2545 และให้มีองค์กร หรือคณะทำงานที่มีความเป็นกลางทำการศึกษาศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ฯลฯ กลับไม่ยอมปฏิบัติ ซ้ำยังถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ เห็นชัดเจนที่สุดจากกรณีการปักหมุดรังวัด ซึ่งมีการหมกเม็ดกันระหว่างบริษัทฯ กับข้าราชการที่คอยเอื้อประโยชน์ให้ จึงสร้างปัญหาความแตกแยกให้กับชาวบ้านในพื้นที่มาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงต้องคัดค้าน การจัดเวทีสร้างภาพหลอกลวงของบริษัทโปแตช ในวันที่ 5 เมษายน นี้ และพี่น้องในพื้นที่ขออย่าได้ตกเป็นทาสของนายทุนให้เขาเข้ามาขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านเราไปขาย จงพร้อมใจกันเห็นความสำคัญและลุกขึ้นมาปกป้องถิ่นฐานบ้านของตน ก่อนที่ภัยพิบัติจะมาถึงเหมือนต่างประเทศ.

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
2 เมษายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน