วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พก.และสภาคนพิการฯ เยี่ยมศูนย์พักพิงคนพิการที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา 12 พฤศจิกายน 2554

           เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๔๕ น. คณะผู้แทนสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) และสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำโดย นางนภา เศรษฐกร เลขาธิการ พก. และนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานสภาฯ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวผู้ประสบภัยจากเหตุน้ำท่วม (ศชพน.) ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ๔๔๐ ม.๙ ถ.สุขุมวิท-พัทยา กม.๑๔๕ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ๒๐๒๖๐ โดย บาทหลวงภัทรพงศ์ ศรีวรกุล ประธานมูลนิธิคุณพ่อเรย์ นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ นายอุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา และนายสุเมธ พลคะชา ผู้ประสานงาน ศชพน. ให้การต้อนรับ

             ก่อนการเยี่ยมชม ศชพน. นายอุดมโชค ได้นำเสนอการดำเนินงานของมูลนิธิคุณพ่อเรย์ ว่า ก่อตั้งขึ้นหลังจากที่คุณพ่อเรย์จากเราไปเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ เพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานที่คุณพ่อเรย์ได้ทำไว้ รวม ๙ งาน ได้แก่ ๑) โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒) มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ๓) โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ๔) ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ ๕) ศูนย์พัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ๖) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่ พัทยา ๗) หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์ ๘) บ้านเด็กพระมหาไถ่ พัทยา และ ๙) บ้านแรกรับและงานภาคสนามเพื่อเด็กและเยาวชนพระมหาไถ่ พัทยา รวมถึงการเปิดสาขาโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ที่จังหวัดหนองคาย

           ส่วนโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา เปิดสอนนักเรียนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อน ไหวจากทั่วประเทศ ใช้เวลาเรียน ๒ ปี ประกอบด้วยหลักสูตรวิชาชีพ ๔ หลักสูตร ได้แก่ ๑) หลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศ ๒) หลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ ๓) หลักสูตรคอมพิวเตอร์และการจัดการธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ และ ๔) หลักสูตรเทคโนโลยีการเขียนแบบแม่พิมพ์ นอกจากนั้นยังได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบการศึกษานอกโรงเรียน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน เช่น การแข่งขันทางวิชาการ การอบรม นันทนาการ การเสริมทักษะชีวิตในสังคม การฟื้นฟูสมรรถภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ และการส่งเสริมความเป็นครอบครัว เป็นต้น สำหรับคนพิการระดับรุนแรงซึ่งไม่สามารถช่วยตนเองในชีวิตประจำวันได้ โรงเรียนฯ ได้จัดจ้างผู้ช่วยคนพิการให้ความช่วยเหลือตามหลักการ “การดำรงชีวิตอิสระ” ซึ่งส่งผลให้นักเรียนสามารถจบการศึกษาและประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นอย่างดี ดังนั้น โรงเรียนจึงขอเสนอให้ พก.พิจารณาปรับระบบ และค่าตอบแทนผู้ช่วยคนพิการ รวมทั้งค่าเดินทางเพื่อให้สามารถช่วยคนพิการระดับรุนแรงอย่างมีประสิทธิผล

               อนึ่ง โรงเรียนได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยจัดให้นักเรียนบริการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เป็นประจำ เช่น การออกหน่วยบริการร่วมกับเมืองพัทยาเดือนละ ๒ ครั้ง ทั้งนี้ หลังน้ำลดจะจัดกิจกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย

           ต่อจากนั้น นายสุเมธ ได้นำเสนอการดำเนินงานของ ศชพน. ว่า เริ่มให้บริการตั้งแต่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ ปัจจุบันมีผู้พักพิงรวม ๒๑๕ คน นอกจากการให้บริการดูแลทั้งที่พักและอาหารแล้ว ศชพน.ได้จัดบริการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจัดกิจกรรมนันทนาการ ฝึกอาชีพ และท่องเที่ยว

             นายสุภรธรรม เพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ จะจัดทำโครงการถึงตัวถึงใจ เพื่อวันใหม่ของคนพิการ โดยการเก็บข้อมูลเชิงลึกของคนพิการทั้งที่ ศชพน. ศูนย์พักพิงจังหวัดชลบุรี และศูนย์พักพิงอื่นๆเพื่อประสานสภาคนพิการฯ ให้การเยียวยาช่วยเหลือคนพิการหลังน้ำลด

            นางนภา ได้กล่าวชื่นชมสถานที่ของโรงเรียนฯ ว่าน่าอยู่และเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิง สำหรับวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ นอกจากต้องการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจผู้พักพิงแล้ว ยังต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การบริหารจัดการและการดูแลคนพิการในศูนย์พักพิง เปรียบเทียบการดูแลคนทั่วไป คนพิการปานกลาง และคนพิการรุนแรง ตลอดจนการประสานงานกับจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนทุนทางสังคม และทรัพยากรต่างๆ อันจะเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันในการดูแลคนพิการซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ พก.ยินดีสนับสนุน ศชพน.อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดบริการต่างๆ ให้ผู้พักพิง เช่น การซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่ชำรุดหรือสูญหาย การพักชำระหนี้กองทุนฯ การจ้างผู้ช่วยคนพิการ และการฝึกอาชีพ เป็นต้น จึงขอให้ ศพชน.ประสานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พมจ.)ชลบุรี เพื่อให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งบัตรใหม่ และบัตรแทนบัตรเก่าที่ชำรุดหรือสูญหาย พร้อมทั้ง รับ แลกเปลี่ยน และกระจายข้อมูลร่วมกันด้วย

             ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ให้ข้อเสนอแนะว่า ศชพน.ควรดูแลผู้พักพิงให้ได้รับสิทธิต่างๆ จากการประสบภัยน้ำท่วม เช่น เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท การตัดหนี้สูญ และค่าเสียหายในการซ่อมบ้าน เป็นต้น โดยประสานขอให้ ศชพน.เป็นหน่วยรับรองการเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม นอกจากนั้น ควรขอใช้สิทธิจ้างอาสาสมัครช่วยผู้พักพิงตามอัตราส่วนคนพิการ ๕ คน ต่ออาสาสมัคร ๑ คน (ค่าตอบแทน ๒๐๐ บาท/คน/วัน) ส่วนข้อเสนอของ ศชพน.เรื่องการจ้างผู้ช่วยคนพิการ ควรมีหนังสือขอผ่อนผันถึง พก. โดยขอให้ผู้อำนวยการจินตนา จันทร์บำรุง ช่วยประสาน

            นายชูศักดิ์ ให้ความเห็นว่า การจัดตั้ง ศชพน.โดยที่ยังไม่มีอะไรรองรับชัดเจน นับเป็นนวัตกรรมที่องค์กรของคนพิการ องค์กรเพื่อคนพิการและผู้นำคนพิการควรศึกษากระบวนการจัดการและขยายผลไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์พักพิงคนพิการในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น เพื่อให้ครอบครัวสามารถดูแลคนพิการอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ควรประสานกับศูนย์พักพิงระดับจังหวัดเพื่อใช้ทรัพยากรของภาครัฐ พร้อมกันนั้น ศชพน.ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือคนพิการเมื่อต้องกลับบ้านหลังน้ำลดด้วย

            นางสุนีย์ สายสุพัฒน์ผล ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แนะนำว่า โดยที่ จังหวัดชลบุรี ได้รับรองให้ ศชพน.เป็นศูนย์พักพิงของจังหวัดแล้ว ฉะนั้น ศชพน.ควรประสานขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และค่าสาธารณูปโภคจากภาครัฐให้ชัดเจนขึ้น รวมถึง การขอใช้ประโยชน์จากระบบที่รัฐบาลกำหนดให้จังหวัดที่น้ำไม่ท่วมช่วยจังหวัดที่น้ำท่วม นอกจากนั้น ควรเตรียมแผนรองรับน้ำท่วมในปีหน้า

พก.และสภาคนพิการฯ เยี่ยมศูนย์พักพิงคนพิการที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา

          หลังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าวข้างต้น คณะ พก.และสภาคนพิการฯ ได้มอบผ้าเช็ดตัวให้ผู้พักพิงผ่านบาทหลวงภัทรพงศ์ พร้อมทั้งเยี่ยมชมและพูดคุยกับผู้พักพิง ซึ่งต่างกล่าวว่า มีความพึงพอใจบริการของ ศชพน.อย่างไรก็ตาม หากน้ำลด ก็อยากรีบกลับไปอยู่บ้าน

ต่อจากนั้น คณะ พก.และสภาคนพิการฯ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเรียนการสอน การดำเนินงานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ การจัดธุรกิจเพื่อสังคม เช่น เฟรนด์คาเฟ่ คอลเซ็นเตอร์ และห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์คนพิการ

อนึ่ง ศชพน.ยังต้องการความช่วยเหลือผู้พักพิง เช่น อาหาร, อุปกรณ์ทำความสะอาดห้องพักและห้องน้ำ อุปกรณ์ในการนอน, ผ้าอ้อมสำเร็จรูป นมกล่อง และนมผง เป็นต้น และพร้อมรับคนผู้พิการเข้าพักพิงเพิ่มขึ้น (มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๑ พ.ย.๒๕๕๔)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน