ขอเชิญร่วมงาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว วันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณพ่อเสม พริ้งพวงแก้วเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิงคนแรก และแห่งเดียวในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลราชวิถี เป็นการวางรากฐานสร้างคุณภาพประชาชนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ดูแลสุขภาพแม่และเด็กอย่างครอบคลุม ด้านอาหารและการอนามัยต่าง ๆ ถือเป็นการมองการณ์ไกลอย่างยิ่ง แต่ท่านไม่เคยลืมภูมิปัญญาของการแพทย์แผนไทย ท่านมักกล่าวย้ำถึง “หมอคนแรกของเราก็คือแม่”
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลหญิงได้กลายเป็นต้นแบบการจัดการโรงพยาบาลสมัยใหม่ ท่านเห็นความสำคัญการสร้างคนและความรู้ ท่านจัดหาทุนและสถานที่เรียนต่างประเทศ แล้วส่งพยาบาลรุ่นแรก ไปเรียนวิชาการด้านต่าง ๆ เพื่อกลับมาสอน นำความรู้มาประยุกต์ สร้างความชำนาญด้านการพยาบาล จนเป็นแบบอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ เกิดการขยายงานแผนกใหม่ ๆ อาทิ แผนกธนาคารเลือดและน้ำเหลือง แผนกอาหารวิทยาและอาหารบำบัด ฯลฯ จนพยาบาลรุ่นหลัง ๆยังรู้จักท่าน เราต่างเรียกท่านว่า “คุณพ่อ” หรือ “คุณครู” ผู้ให้
+++++++++++++
คำว่า แฝดสยาม หรือ Siamese Twins ได้กลายเป็นคำเรียกทั่ว ๆ ไปสำหรับฝาแฝดที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเชื่อมติดกัน (หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Conjoined Twins) โอกาสของเด็กที่จะมีเกิดมาเป็นแฝดสยามได้มีเพียง ๑ ใน ๕๐,๐๐๐ ราย หรือ ๑ ใน ๑๐๐,๐๐๐ ราย และโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดชีวิตอยู่เพียงครึ่งเดียวของจำนวนเด็กที่คลอดออกมา ส่วนที่คลอดออกมาและรอดชีวิตอยู่มีประมาณร้อยละ ๒๕ เท่านั้น ฝาแฝดที่ทำให้คำว่า แฝดสยาม เป็นคำสามัญเรียกขานกันไปทั่วและคนไทยคงรู้จักกันแทบทุกคน คือฝาแฝดอิน-จัน ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๔-พ.ศ. ๒๔๑๗ ซึ่งต่อมาฝาแฝด อิน-จัน ได้ไปใช้ชีวิตอย่างไม่เคยแยกจากกัน ตราบจนวาระสุดท้ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่คนไทยคงจะลืมไปแล้วว่าในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ ในประเทศไทยได้มีข่าวของฝาแฝดสยามขึ้นหลายคู่ อาทิเช่น ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ พบเด็กหญิงที่เป็นแฝดสยามชื่อ นภิศและปริศนา ผลภิญโญ เกิดที่ ตำบลหัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ พ.ท.นพ.หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ออกไปตรวจราชการที่ขอนแก่น จึงได้ย้ายมารับการดูแลที่โรงพยาบาลราชวิถี (หรือ โรงพยาบาลหญิงในสมัยนั้น) โดยมาอยู่ที่โรงพยาบาลหญิงเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งต่อมาได้มีการนำไปทำการผ่าตัดแยกร่างที่ โรงพยาบาล Billing Hospital โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Chicago โดยมีนายแพทย์ Lester R. Dragstedt เป็นหัวหน้าคณะผ่าตัด เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การผ่าตัดประสบความสำเร็จ ฝาแฝดทั้งสองคนรอดชีวิตและมีชีวิตอยู่มาจนปัจจุบัน ถือเป็นแฝดสยามที่ผ่าตัดแยกร่างแล้วมีชีวิตรอดเป็นคู่แรกของไทย ส่วนที่ทำการผ่าตัดในประเทศไทยแล้วประสบความสำเร็จโดยคณะแพทย์ชาวไทยเอง ถือเป็นการริเริ่มของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว อีกเช่นกัน ต่อจากฝาแฝด นภิศ-ปริศนา โรงพยาบาลราชวิถีได้ทำการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามอีกคู่หนึ่งคือ วันดี-ศรีวัน ดวงแก้ว เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ และผ่าตัดคู่แฝด ปราจีน-บุรี เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
ความสามารถในด้านการศัลยกรรมของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ถือเป็นความสามารถอย่างพิเศษอีกด้านหนึ่งของท่านอย่างยากจะหาคนเทียบได้ เมื่อพิจารณาจาการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามได้เป็นผลสำเร็จในสมัยดังกล่าว แม้จะมีข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีก็ตาม และอาจถือได้ว่าเป็นการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามสำเร็จเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย
ท่านจึงเป็นแพทย์คนสำคัญที่มีฝีมือด้านผ่าตัดอย่างหาได้ยาก ด้วยความใฝ่ใจค้นคว้าทางวิชาการต่างประเทศ ไม่เพียงเป็นแพทย์ที่สนใจและทำงานด้านสังคมเท่านั้น
+++++++++++
เชิญชวนร่วมงานมาชมและแลกเปลี่ยนในงานอย่างกัลยาณมิตร
จากคุณูปการของ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ในวาระอายุครบ ๑๐๐ ปีของท่าน ที่จะมาถึง จึงมีกลุ่มบุคคล องค์กรต่าง ๆจากภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชน มารวมใจร่วมมือเตรียมการจัดงานให้ท่านในฐานะปูชนียบุคคลที่สังคมไทยต้องจดจำ เรียนรู้และสืบทอดแนวคิดและแนวปฏิบัติจากสิ่งที่ท่านนำทำไว้ให้ประจักษ์เป็นแบบอย่าง ซึ่งคนในสังคมรับรู้ได้ถึงจิตใจอันกว้างใหญ่นี้
งานที่จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้ ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีลูกศิษย์ กัลยาณมิตร อดีตคนไข้ของ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค บุคลากรสุขภาพรุ่นเก่าและใหม่ นิสิตนักศึกษา/นักเรียน/ประชาชนผู้รู้จักคุณงามความดีของท่าน มาร่วมงาน เพื่อประกาศเกียรติคุณ และสืบสานแนวความคิด วิถีชีวิตและการทำงานของ ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ที่มีต่อสังคมไทย สู่คนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
จึงขอเชิญท่านที่สนใจมาร่วมงานได้ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. ได้ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้
1.ชมสารคดีสั้นสะทอ้นชีวิตและงานของหมอเสม นักต่อสู้บุกเบิกและหยัดยืนต่องานสุขภาพและสังคมที่น่าตื่นเต้น นับแต่ถูกส่งไปปราบอหิวาต์ที่อัมพวาหลังจบใหม่ ไปบุกเบิกงานโรงพยาบาลหัวเมืองที่จังหวัดเชียงราย จนมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข 4 สมัย
2.ฟังบทกวีไพเราะจากศิลปินแห่งชาติ คนสำคัญ 2 ท่านคือ คุณอังคาร กัลยาณพงศ์ และคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
3.ร่วมฟังบทเพลงที่สร้างแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานของคุณพ่อเสม โดยการแต่งเพลงและขับร้องของ คีตาญชลี หงา คาราวาน และไก่แมงสาบ
4.ฟังปาฐกถาพิเศษ แสดงถึงบทบาทของคุณพ่อเสมที่สังคมไทยลืมไม่ได้จาก คุณอานันท์ ปันยา-รชุน ศ.นพ.ประเวศ วะสี
5. ฟังเสวนาจากวิทยากรคนทำงานสุขภาพและสังคมอีกหลายท่าน คือ รสนา โตสิตระกูล สว.
นายพิภพ ธงไชย นักพัฒนา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ แพทย์และนักคิดทางสังคมที่รู้จัก
กันจากหนังสือ สังคมปรนัย และนพ.ศุภชัย ครบตระกูล แพทย์จบใหม่ที่ทำกิจกรรมสังคมมาโดยตลอด
6. ชมนิทรรศการชีวิตหมอเสม และชมบูธนิทรรศการขององค์กรและหน่วยงานที่ทำงานด้านสังคม
และสร้างสุขภาวะสังคม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณสันตุสุข โสภณศิริ นักเขียนหนังสือ ประวัติชีวิตของ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้ทำงานทางสังคมและสุขภาพใกล้ชิดกับคุณพ่อเสมมากด้วย
7. ร่วมบันทึกลายมือและเสียง ถึงความทรงจำและความระลึกถึงคุณูปการถึงคุณพ่อเสม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่าน และสิ่งที่จะสืบสานทำต่อไปให้ประโยชน์กับสังคมอย่างที่ท่านทำให้ดูและรู้สึกได้
8. พบปะกัลยาณมิตร ลูกศิษย์ เครือข่ายคนทำงานสังคมและสุขภาพ นักศึกษาด้านสุขภาพ และบุคลากรสุขภาพที่เคยทำงานและรู้จักใกล้ชิดคุณพ่อเสม
ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ มีความสุขและเป็นกันเอง
“เสม พริ้งพวงแก้ว : หนึ่งศตวรรษ ยืนหยัดเพื่อสังคม”
(theme จากทีมงานประชาสัมพันธ์ งาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว)
จึงขอเชิญท่านที่สนใจมาร่วมงานได้ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. ได้ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น