(23 มิถุนายน) เวลาประมาณ 13.00 น. ณ ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เชิญตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย(กฟผ.) คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.) รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พนักงานอัยการ ปลัดอำเภอเมือง และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี เพื่อประชุมติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ คชส.ได้ทำหนังสือร้องเรียนไป
การจัดเวทีของ คณะกรรมการสิทธิฯ ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 ต่อการติดตามแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กฟผ. กับ กลุ่มชาวบ้าน อันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการแนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์(KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 พาดผ่านที่ดินทำกินของชาวบ้าน จึงรวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการของ กฟผ. ด้วยเหตุผลที่ละเมิดสิทธิชุมชน และกังวลใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ แต่สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่เหตุการณ์ กฟผ. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมชาวบ้านและนักศึกษา จำนวน 15 คน ที่ร่วมกันปกป้องสิทธิชุมชน ในวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้จัดเวทีเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“กรรมการสิทธินั้นมีบทบาทหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงอยากให้ กฟผ. และชาวบ้านได้มีทางออกของปัญหาร่วมกัน ซึ่งกรรมการสิทธิไม่ได้มีหน้าที่ในการคิดแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ให้ได้ข้อสรุปร่วมกันมันถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นแล้วการดำเนินการของ กฟผ. ก็จะเป็นไปได้ยาก ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็จะร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิฯ อีก ปัญหาก็จะไม่ยุติสักที”
ด้าน นายสุเทศ จารุสาร หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินขยายระบบส่งไฟฟ้าที่ 10 ได้ชี้แจงการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า
“เรื่องของคดีความหลังจากเวทีประชุมที่คณะกรรมการสิทธิในครั้งที่แล้ว ท่านผู้กำกับสถานีตำรวจกุมภวาปีได้มามาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยทาง กฟผ. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนแล้วว่าไม่ประสงค์จะให้ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ได้รับโทษ ส่วนการดำเนินงานของ กฟผ. นั้น ได้ทำการลงสำรวจที่ดินและทรัพย์สินที่แนวสายส่งพาดผ่านแล้วเสร็จ และจะส่งข้อมูลให้กับชาวบ้านเจ้าของที่ดิน ซึ่งชาวบ้านเจ้าของที่ดินก็ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของ กฟผ. ด้วยดี อย่างไรก็ดี เมื่อพูดคุยกันเสร็จในวันนี้ กฟผ.ก็จะขอลงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างเสาที่เหลืออยู่เพียงเสาเดียวในที่นาของพ่อบุญเลี้ยงในวันพรุ่งนี้ ตามที่ได้ตกลงกันไว้”
ในส่วนของ พ.ต.อ.สมชาย พิมพ์ชู ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี ได้กล่าวว่า
“ผมรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมากที่พี่น้องประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนของตนเองต้องมาถูกจับกุม ซึ่งในวันนั้นทาง สภ.กุมภวาไม่ได้เข้าไปยุ่งเลย แต่ก็มีตำรวจจากทางอื่นจับกุมชาวบ้านมาส่งไว้ที่สถานี ซึ่งผมก็จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและให้ความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ตัวผมเองก็มีความเข้าใจชาวบ้านที่อยู่เฉยๆ ก็สายไฟมาผ่านหลังคาบ้านตนเอง ย่อมต้องมีความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
สำหรับ นายบุญเลี้ยง โยธทะกา แกนนำคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.) ได้แสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า
“ผมรู้สึกเห็นใจพี่น้องชาวบ้านและนักศึกษาที่ต้องมาถูกคดี ซึ่งพวกผมไม่ได้ขัดขวาง กฟผ. แต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมา กฟผ. ไม่ได้สร้างความกระจ่างชัดให้กับกลุ่มชาวบ้านเลยในเรื่องของรายละเอียดของโครงการฯ และปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผมก็มีความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเรื่องการสำรวจรังวัดและจ่ายค่าทดแทน กฟผ. ก็ไม่มีความชัดเจน จึงอยากให้มีการคุยกันให้รู้เรื่องด้วย ส่วนทาง กฟผ. จะเข้ามาก่อสร้างเสาในที่นาของผม ก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทุกฝ่ายที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และซักถามข้อคิดเห็นร่วมกันเสร็จแล้ว กฟผ. ได้มีการนัดหมายกับ กลุ่มชาวบ้าน เพื่อที่จะชี้แจงผลการประเมินราคาค่าทดแทนจากการลงพื้นที่สำรวจที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ โดยจะมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย และในส่วนของคดีความตำรวจนัดหมายฟังผลการสรุปสำนวนในวันที่ 6 ก.ค.
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/
นายสมพงศ์ อาษากิจ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน
ตู้ ปณ.14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทร.086 – 2317637 อีเมล์ : ton_mekong@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น