แด่...พี่ผู้ให้คำชี้นำเชิงอุดมการณ์ โดย สุริยันต์ ทองหนูเอียด
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)
สุริยันต์ ทองหนูเอียด กลุ่มเพื่อนประชาชน
"พี่...อะไรคือหัวใจหลักของการเจรจา"
ผมจำไม่ได้แล้วว่า เคยตั้งคำถามเรื่องนี้กับพี่สุวิทย์เมื่อไหร่ รู้แต่ว่า เคยขอร้องให้พี่แกช่วยเขียน "เทคนิคการเจรจา" ให้สักชิ้นหนึ่ง ในช่วงที่ขบวนการภาคประชาชนสายเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงขาลง แต่จนแล้วจนรอด ผมก็แอบเรียนวิชาแกมาในวงเหล้านั้นแหละ
แต่ความทรงจำที่ชัดเจนของพวกเราต่อบุคลิกตัวตนของพี่สุวิทย์ คือ "พี่ชายผู้แสนดี" พี่ผู้พร้อมที่จะเสียสละดูแล เพื่อนพ้องน้องพี่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ รดน้ำผู้อาวุโส งานแต่งงาน งานบวช และที่ไม่ยอมขาดคือ งานศพของมิตรสหายพี่น้องพรรคพวก
แน่นอน พี่สุวิทย์ ย่อมเป็นเจ้ากี้เจ้าการหลัก ในการประสานงาน จัดหา รถรา งบประมาณ เสบียง เพื่อนำหมู่มิตรร่วมงานเพือนฝูงเหล่านั้นเสมอ กระทั่งงานศพของพี่อ๊อด ภิรมย์ที่พิษณุโลก ครั้งล่าสุด
นั่นเป็นงานศพของมิตรสหายคนสุดท้าย ก่อนที่เราทั้งหลายต้องไปเคารพศพแกที่สัตหีบ ชลบุรี
-1-
3 - 4 กรกฎาคม 2538 ปากช่อง โคราช
นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักตัวตนของพี่สุวิทย์ เนื่องในวันครบรอบ 3 ปี แห่งชัยชนะของพี่น้องประชาชนภาคอีสาน อันเนื่องจากการต่อสู้คัดค้าน จนนำไปสู่การยกเลิกโครงการจัดสรรที่ดินที่ทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) อันเกรียงไกรในปี 2534 - 2535
การแลกเปลี่ยนระหว่างนักเคลื่อนไหวมือฝึกหัดเช่นผม กับนักปฏิวัติมืออาชีพ อย่าง สหายเชิด ก็ได้เปิดโลกทัศน์ชีวิตและการเรียนรู้ของผมจากโลกใบเก่า ไปสู่โลกใหม่อีกใบหนึ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และอะไรคือการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ
พี่น้อย( ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี) ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนประชาชนในขณะนั้น เคยพูดในวงที่ประชุมของหมู่พี่น้องอย่างเนืองๆว่า "พี่สุวิทย์ คือคนสำคัญที่บุกเบิกเชื่อมประสานงานระหว่างเมืองกับชนบทเข้าด้วยกัน"
ทั้งนี้เพราะในระหว่างการเดินทัพทางไกลของพี่น้องสมัชชาเกษตรกร รายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ) เพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สินเกษตรกร ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ปัญหาหม่อนไหม โคพลาสติก เป็นต้น ระหว่างปี 2536-2538 จากกุฉินารายณ์ มาสีคิ้วถึงปากช่อง พี่สุวิทย์ก็เป็นตัวตั้งตัวตี ในการประสานงานระดมข้าวปลาอาหาร ขอรับบริจาคงบประมาณ จัดแถลงข่าวร่วมกับ "เครือข่ายสลัมเพื่อประชาธิปไตย" หนุนเสริมสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของพี่น้องภาคอีสาน รวมทั้งประสานกำลังคนลงไปให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็น "มิตรร่วมอุดมการณ์ สหายร่วมรบ" หลายคน
กระทั่ง การเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปลำพูนของพี่น้องเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ที่ได้รับผลกระทบของนโยบายกรมป่าไม้ที่จะอพยพคนออกจากป่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2537 การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านที่ดอยติ ลำพูน พี่สุวิทย์ กับพี่น้องสลัม ก็ขึ้นมาให้กำลังใจอย่างอบอุ่น
ความพยายามเชื่อมชนบทกับเมือง ก็ปรากฏเป็นรูปธรรมเด่นชัด เมื่อเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 6 เครือข่าย อันประกอบด้วยกล่มผู้ได้รับกระทบจากการสร้างเขื่อน, สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน , เครือข่ายสลัม 4 ภาค , กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ , กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ ร่วมกับพันธมิตรนักวิชาการ เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตย องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชนสายก้าวหน้า ได้ประกาศการจัดตั้ง "สมัชชาคนจน" ขึ้น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2538 ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- 2 -
หลายๆครั้ง ทั้งในวงสัมมนา การเคลื่อนไหว กระทั่งวงสุรา สิ่งที่พี่สุวิทย์ เคยเตือนอยู่เสมอสำหรับการเป็นน้องๆนักพัฒนา เอ็นจีโอรุ่นใหม่ ว่าให้ระวัง 3 เรื่อง คือ
1. การติดกับดัก ในตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และผลประโยชน์
2. ปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใส ในการจัดการงบประมาณ การเงิน การบัญชี
3. ปัญหาทางจริยธรรม ปัญหาชู้สาว
พร้อมย้ำว่า การใช้ชีวิตครอบครัวของนักพัฒนาจะต้องเจอทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องจริยธรรมอยู่เสมอ เรื่องเศรษฐกิจนั้นยังพอกู้ยืมกันได้ แต่เรื่องคุณธรรมพลาดแล้วก็พลาดเลย ขอให้ระวังอย่างหนักแน่น
- 3 -
และด้วยความที่พี่สุวิทย์ เคยเป็นครูสอนโรงเรียนช่างกลพระรามหกมาก่อน ยิ่งทำให้เวลาแลกเปลี่ยนพูดคุยมักจะมีแบบแผนคำอธิบาย และตัวอย่างให้พวกเราๆน้องทั้งหลายเข้าใจง่ายๆเสมอ เช่น หลักของลัทธิมาร์กซ ก็เหมือนคำสอนของศาสนาพุทธ
หลักพระพุทธองค์ทรงสอนในโอวาทปาติโมกข์ ให้พุทธบริษัทปฏิบัติไว้ 3 ประการ คือ 1.ทำดี 2.ละชั่ว 3.ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส
ขณะที่หลัก 3 ประการของลัทธิมาร์กซ ในการปฏิวัติสังคม ก็คือ
1. จะต้องมีทฤษฎีชี้นำ ที่เป็นวิทยาศาสตร์
2. ทฤษฎีจะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติ
3. การปฏิบัติตามทฤษฎีต้องมีพรรคเป็นองค์กรนำ ในการจัดตั้งมวลชนเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง
ครั้งหนึ่ง ผมเคยตั้งคำถามที่ค้างคาใจมานาน ระหว่างขับรถมาด้วยกันจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ "พี่ว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่าง เศรษฐศาสตร์การเมืองกับวัฒนธรรมชุมชน" ผมถาม
"เศรษฐศาสตร์การเมือง หลักสำคัญ คือ การวิเคราะห์โครงสร้างแบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมการเอารัดเอาเปรียบ ในแนวดิ่งทั้งโครงสร้างและนโยบายจากรัฐ การกดขี่เอาเปรียบก็จะลดหลั่นไปตามชนชั้น ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง ส่วนแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงชุมชนเป็นจุดๆในแนวราบ หากสร้างชุมชนเข้มแข็งไปหลายๆพื้นที่แล้วเป็นชุมชนตัวอย่างแล้ว สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปเอง" พี่สุวิทย์ตอบ
และยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ผมก็แอบครูพักลักจำมาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์สถานการณ์สังคม การปราศรัยต่อสาธารณะชน และที่สำคัญคือ การใช้ชีวิต ครอบครัว กิจกรรมและสังคม
- 4-
"จงหนักแน่นในกระแสต่ำ ขบวนการประชาชนยุคขาลง จะพิสูจน์คนทำงาน"
นี่เป็นคติอีกข้อหนึ่งที่พี่สุวิทย์ คอยเตือนให้เราตระหนัก และยึดเป็นหลักในการทำงาน โดยเฉพาะในยุครัฐบาลทักษิณ เกียรติภูมิของขบวนการประชาชนได้ถูกนโยบายประชานิยม ดูดกลืนจนอ่อนเปลี้ย
การประชุมเพือค้นคว้ายุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวภาคประชาชน จึงถูกจัดขึ้นหลายๆครั้ง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่อาศรมดอนแดง มหาสารคาม, ห้วยน้ำล้อม เชียงใหม่ , หรือที่ชายทะเล บางเสร่ ชลบุรี ประเด็นที่ถุกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในวงประชุม คือ ข้อจำกัดสำคัญที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนไปไม่ถึง
นั้นคือ การเคลื่อนไหวเชิงนโยบาย เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน , กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน, พ.ร.บ.ชุมชนแออัด , กฎหมายแรงงาน, และนโยบายอื่นๆ กระทั่งหลายครั้งการเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้รับการตราเป็นมติคณะรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหลายคณะ แต่นั่นมันไม่เคยมีหลักประกันอะไรเลย
ตราบใดที่รัฐบาลเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน นโยบายก็เปลียนตาม
"มันอยู่ที่ว่า พวกเราวิเคราะห์สังคมแบบไหน เป็นสังคมแห่งการปะชุนด้วยการปฏิรูปบางสิ่งให้ใช้ได้ก็พอ หรือมองว่าสังคมต้องเปลี่ยนทั้งโรงสร้างไม่ใช่แค่ปฏิรูป แต่ต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลง
และนั่นคือที่มาของความพยายามใหม่ ในการจัดตั้ง "พรรคการเมือง" ของพี่สุวิทย์ หลังจากที่สหายเชิดกลับมาจากป่า เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนทั้งชนบทและในเมือง
สุดท้าย ก็เจอคำตอบ ในคำถามเดิม "What is to be done?"
- บทส่งท้าย -
แม้นว่าระยะหลังความขัดแย้งในแวดวงนักพัฒนา เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชนอิสระ ชนชั้นนายทุนผู้ก้าวหน้าได้ทวีเพิ่มยิ่งขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีรุ่น ไม่มีพี่ ไม่มีเพื่อน หรือประวัติสาสตร์การต่อสู้เป็นพรมแดนทางความคิดให้หยิบฉวยแลกเปลี่ยนอย่างละเอียด เรื่องชนิดนี้ พี่สุวิทย์เคยบอกผมว่า
"จะตัดสินใครสักคน ต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ 1.กรอบคิดทฤษฎีตรงกันหรือไม่ เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อปฏิวัติสังคมหรือไม่ 2.จุดยืนอยู่ฝ่ายไหน รัฐ นายทุน หรือ ภาคประชาชน 3. วิธีการ"
และพี่สุวิทย์จะยินยอมประนีประนอมเฉพาะวิธีกาเท่านั้น ส่วนกรอบคิดกับจุดยืนนั้นต้องชัดเจน
ณ วันนี้ ในทุกๆวงการ การมีเพื่อนแท้ที่มองตาแล้วรู้ใจนั้นช่างหายากแท้แสนเข็ญยิ่ง แต่การหาพี่ดีๆ ไว้เป็นคนจัดตั้งทางความคิด คอยให้คำปรึกษาชี้นำ คอยติติงเสนอแนะ ให้คำปรึกษาปรับทุกข์ทั้งชีวิตและครอบครัว ใครสักคนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ พูดจบสิ้นก้นบึ้ง กลับหายากยิ่งกว่า
สำหรับผมแล้ว การสูญเสียพี่สุวิทย์ นับว่าสูญเสียพี่ชาย ผู้ชี้นำอุดมการณ์แนวคิดครั้งใหญ่หลวง แต่แบบอย่าง ความงดงาม ความเป็นภราดรภาพ การต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสจะอยู่ในใจผมตลอดไป
"การเจรจา คือ การบีบให้มันยอม"
พี่สุวิทย์ ตอบ
ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น