นักการเมืองภาคประชาชน โดย เสถียร วิริยะพรรณพงศา
(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)
เสถียร วิริยะพรรณพงศา สำนักข่าวเนชั่น
หน้าที่สำคัญของการเป็น "นักข่าว" ที่ดีอย่างหนึ่ง คือ การออกไปพบปะกับผู้คนในหลากหลายวงการ วิชาชีพ เพื่อระดมข้อมูล ความคิด ความเห็นของคนในแวดวงต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์หนึ่งๆ เพื่อเป็นฐานความรู้มาใช้ในการเขียนข่าว หรือวิเคราะห์สถานการณ์ให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
บุคคลเหล่านั้นเราเรียกกันว่า "แหล่งข่าว"
"แหล่งข่าว" มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต "นักข่าว" เรียกว่า ถ้านักข่าวไม่มีแหล่งข่าว ก็ไม่อาจหาข่าวมาเสนอได้เลย นอกจากเต้าข่าวหรือนั่งเทียนเขียนขึ้นมาเอง
ในทางกลับกัน "แหล่งข่าว" ก็ต้องการ "นักข่าว" ไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะแหล่งข่าวเองก็ต้องการพื้นที่จะให้ข้อมูลต่อสาธารณะ สื่อความคิดความอ่านออกไปในวงกว้าง
เมื่อ "แหล่งข่าว " กับ "นักข่าว" เป็นของที่อยู่เคียงคู่กัน มีการทำงานที่เชื่อมโยงกัน ความใกล้ชิดและระยะเวลาก็ค่อยทุบตีความสัมพันธ์แข็งๆ แบบเป็นการเป็นงาน ให้อ่อนโยนลึกซึ้งแบบคนที่ไว้วางใจกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน
จากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลดิบๆ ด้านๆ จากนักข่าวที่ซักถามดุดันอยู่ตลอดเวลาที่เจอหน้ากัน ก็ค่อยๆลดความกระด้างกระเดื่องลงไป
เริ่มมีคำแนะนำ คำตักเตือนด้วยความหวังดีและจริงใจ
สุดท้ายกำแพงความเป็น "แหล่งข่าว" กับ" นักข่าว" ค่อยๆพังทลายลง ความไว้วางใจกันก็เริ่มก่อตัวแน่นหนาขึ้นมาแทนที่
พัฒนาการเหล่านี้ คือ สิ่งที่อธิบายความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นเพดั้งเดิมของผมกับ "สุวิทย์ วัดหนู" ได้เป็นอย่างดี
ริมเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมีรั้วเหล็กเป็นแผงยาวขวางกั้นเพื่อบอกอาณาเขตให้รู้ว่า ภายในเป็นพื้นที่หวงห้ามที่กันไว้เฉพาะแกนนำและวิทยากรที่จะขึ้นเวทีเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพื่อจัดระเบียบ และส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันมือที่สามที่อาจจะก่อความวุ่นวาย
ผมกับพี่ "สุวิทย์" ซึ่งตอนนั้นแทบไม่เหลือความเป็นแหล่งข่าวหรือนักข่าว มีแต่ความเป็นพี่เป็นน้อง ยืนเกาะรั้วคุยกันทุกๆเย็นจนค่ำมืดดึกดื่น เวลาที่พี่สุวิทย์ ไม่มีคิวต้องดำเนินรายการบนเวที
นอกจากจะแลกเปลียนความเห็น มุมมองต่อสถานการณ์การสู้รบของพันธมิตรฯ ก็ยังมีเรื่องสัพเพเหระจิปาถะ ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ
บางทีผมก็สัมภาษณ์พี่สุวิทย์ บางทีพี่สุวิทย์ก็สัมภาษณ์ผม
หลายครั้งที่พี่สุวิทย์ กลายเป็นที่ปรึกษากิติมศักดิ์ของผมไปโดยปริยาย
มีครั้งหนึ่ง ข่าวที่ผมเขียนกลายเป็นชนวนให้ม็อบยกโขยงกันไปล้อมสำนักงานที่บางนา มีการขู่ทำร้ายเพื่อนร่วมงานของผมทังๆที่เป็นคนท้อง คนเจ็บ แถมหนังสือพิมพ์สั่งปิดตัวเองอีก 5 วัน ผมแทบไม่เหลือกำลังใจในการทำข่าวอีกต่อไป
ผมนั่งซึม สมองตื้อพิงรั้วเหล็กอยู่ข้างม็อบ มีพี่สุวิทย์นี่แหละ ที่นั่งปลอบอยู่ไม่ห่าง
"อย่าไปคิดมากคุณไม่ผิดหรอก การเมืองมันก็เป็นอย่างนี้แหละ"
ส่วนในใจผมเหรอ
"เออ แปลกแฮะ เห็นปราศรัยโหดๆ แรงๆอยู่บนเวทีเมื่อตะกี้นี้เอง ไม่คิดว่าจะมีคำพูดปลอบใจดีๆอย่างนี้เหมือนกัน"
แม้หลายครั้งมากๆ ที่เห็นอาการเหนื่อยล้าแสดงออกมาจนผมสังเกตเห็น ความทรุดโทรมของร่างกายผู้ทำหน้าที่ควบคุมขบวนประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนมา แทรกพื้นที่ที่เคยแข็งแกร่งมากๆเข้า
แต่ยืนยันได้ว่าแววตาของพี่สุวิทย์ ไม่เคยบ่งบอกแม้แต่น้อย ถึงความท้อแท้หรือสิ้นหวัง แต่กลับกันประกายในดวงตาทั้งสองยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าจะสามารถเอาชัยได้ในศึกสงครามนี้
บางครั้งทำให้ผมกลัว กลัวมากจนต้องเตือนเบาๆ
"หาเวลาพักผ่อนบ้างนะพี่"
แต่ไม่มีคำตอบใดๆกลับมา มีเพียงเสียงหัวเราะดังๆ ที่เสมือนกลบเกลื่อนให้คนที่เตือนรู้สึกสบายใจ คล้ายเป็นคำชี้แจงว่า "ไม่ต้องห่วง ผมยังแข็งแรงอยู่นะ"
จำได้ว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ได้คุยกับพี่สุวิทย์น้อยมาก เพราะตอนนั้นมันชุลมุนวุ่นวายทีเดียว อำนาจต่ออำนาจเหวี่ยงกันแรงๆ จนไม่รู้ใครเป็นใคร
แต่พอฝุ่นหายตลบ เราถึงได้เห็นใครต่อใคร ที่เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่สู้รบกับพันธมิตรประชาชนฯ ต่างก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในระบบ เป็นนักการเมืองชั่วคราว รับบทตัวประกอบให้กับคณะทหาร
จากเคยสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ ก็ต้องผูกไทด์ใส่สูท จากการปราศรัยให้มวลชนคนธรรมดาสามัญฟัง ก็เปลี่ยนเป็นพูดให้ท่านประธานที่เคารพฟัง
แต่พี่สุวิทย์ ยังยืนอยู่ในจุดเดิม
เป็น "สามัญชนคนธรรมดา" คนเดิม ที่ยังมองว่า ต่อสู้ของประชาชนยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
เป็น "สุวิทย์ วัดหนู" ผู้ปักหลัก หวงแหนในตำแหน่ง "นักการเมืองภาคประชาชน" อย่างไม่เสื่อมคลาย
และยืนหยัดพิสูจน์ให้เห็นว่าอุดมการณ์นั้นกินได้
เป็นพี่สุวิทย์ที่ไม่เคยเอนไหวไปกับแรงโน้มถ่วงทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น
มีแค่แรงฉุดเดียวเท่านั้นที่จะชี้นำให้พี่สุวิทยืไปไหนต่อไหน กระทั่งเหวลึกหรือ ทะเลกว้าง ทั่วทุกสารทิศ
นั่นคือ "การเมืองภาคประชาชน"
สุดท้ายนี้ เชื่อว่าจิตวิญญาณของ "สุวิทย์ วัดหนู" จะสถิตย์อยู่ในทุกหนทุกแห่งที่มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของ "ประชาชนธรรมดาสามัญ" ตลอดไป
ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น