วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ไม่มีใคร มาขอหารืออีกแล้ว โดย คำนูณ สิทธิสมาน

(ว่าด้วยความทรงจำและการระลึกถึง)
คำนูณ สิทธิสมาน

            "พี่น้องคร้าบ...ผมมีข่าวดีมาบอก..."
            "พี่น้องคร้าบ...ผมจะขอหารือกับพี่น้องสักเรื่องหนึ่งนะ"
            "พี่น้องคร้าบ.. อย่าแตกแถวนะครับ..ข้างหน้าน่ะหยุดก่อนรอให้ผู้ใหญ่ไปเจรจาก่อน..อย่าเพิ่งเดิน..."
            "ขณะนี้..มียอดผู้บริจาคเงินเข้าแล้ว..."
            ฯลฯ

            "คุณคำนูนพอมีเวลาไหม..ผมมีเรื่องจะขอหารือหน่อย.."
|

            ผมเคาะคีย์บอร์ดไปพร้อมๆกับเสียงเหล่านี้ยังคงแจ่มชัดอยู่ในสมองและความทรงจำ โดยเฉพาะตรงคำว่า "ขอหารือ" พร้อมๆกับน้ำตาซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อนึกถึงหน้าตาและ "ฟัน"  ของโฆษกเอกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ละม้ายคล้ายดาราฮอลลีวู้ด นามโรเบิร์ต มิทชั่น คนนี้
            เสียดายที่ไม่มีโอกาสรู้จักพี่สุวิทย์ วัดหนู เป็นการส่วนตัวก่อนหน้านี้


            เสียดายที่ในช่วงการชุมนุมปักหลักพักค้าง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2549 ผมก็ไม่ได้ร่วมขบวนไป "กู้ชาติ" กันต่อ หลังปิดเวทีปราศรับรอบดึกราวๆ ตีสองตีสาม
            และเสียดายที่เมื่อหลังเลิกชุมนุม ก็ไม่ได้มีโอกาสไป "กู้ชาติ" กับพี่เขาและเพื่อนร่วมวงอย่างคุณสำราญ รอดเพชร คุณสุริยะใส กตะศิลา คุณอมร อมรรัตนานนท์ และ ฯลฯ ตามที่ได้ตกปากรับคำกันไว้โดยปริยาย
            "คุณคำนูนนี่..ได้ข่าวว่าเมื่อก่อนก็มือหนึ่งเหมือนกันไม่ใช่หรือ"
            "ครับพี่ 10ปีมานี้เพลาลงไปมาก จะเรียกว่า "แขวนแก้ว" ก็พอได้ แต่สักวันหนึ่งต้องขอรื้อฟื้นกับพี่สักครั้ง"
            "เชิญเลย ยินดี..."


            ถ้าผมยังไม่แขวนแก้ว ช่วงปักหลักพักค้าง คงได้ร่วม "กู้ชาติ" หลังปิดเวทีกับก๊วนนี้กันถูกคอแน่ เพราะแม้อดีตผมจะเป็น "ซ้าย-ลัทธิแก้" ที่ไม่เคยเข้าป่า ขณะที่พี่เขาเป็น "ซ้าย-ลัทธิเหมา" ที่เข้าป่าอยู่นานที่สุด ออกมาหลังใครๆเพื่อน แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะมีจุดร่วมที่เห็นได้ทันทีอย่างหนึ่งคือ ต่างเป็นซ้ายที่ไม่ปฏิเสธเมรัย
            พี่สุวิทย์ วัดหนู ร่วมขบวนกับพี่พิภพ ธงไชย พี่พิทยา ว่องกุล กชวรรณ ชัยบุตร และสุริยะใส กตะศิลา มาพบปะสนทนากับผมที่บ้านพระอาทิตย์ช่วงก่อนหน้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 สัก 7 วัน สาระสำคัญ คือมา "ขอหารือ" ว่า จะให้ช่วยเหลือร่วมมืออะไรบ้างกับการเรียกชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศขอ "นำเดี่ยว" ก่อนหน้านี้พี่พิทยา ว่องกุล ก้ได้โทรศัพท์มาสอบถามและให้กำลังใจเป็นระยะๆ พร้อมทั้งบอกว่า พวกพี่ๆกำลังหารือกันอยู่ว่าจะหนุนช่วยกันอย่างไร
            ผมเข้าใจความแตกต่างประการสำคัญที่พวกพี่ๆ ไม่สบายใจเกี่ยวกับ "ทิศทาง" ของพวกเราถวายฎีกา !

            ซึ่งก็ได้อธิบายไปว่า เป็นฎีการ้องทุกข์ในประเด็นความเดือดร้อนของแผ่นดินที่ผ่านการปรับแก้มาหลายรอบ ครอบคลุมถึงทุกปัญหา และไม่ได้เป็นการขอพระราชทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอพระราชทานรัฐบาลพระราชทาน ได้ส่งสำเนาให้ทุกคนอ่าน โดยบอกว่าถ้าเห็นด้วยก็ขอให้ช่วยร่วมลงนามด้วย และเพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ทุกฝ่าย ผมขอให้การชุมนุมวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2549 ยังคงเป็นเรื่องของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะเมืองไทยรายสัปดาห์ของเราไปก่อน ไม่ใช่เพราะอยากจะนำคนเดียวอะไรหรอก แต่อยากจะปฏิบัติภารกิจถวายฎีกาให้เสร็จสิ้น เพราะฎีกานี้มีที่มาจากการนำประชาชนถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548

            พี่สุวิทย์ วัดหนู และทุกคนที่มาได้ร่วมลงนามท้ายฎีกา
            เรานัดหมายกันคร่าวๆว่า หลังการชุมนุมวันนั้นจะนัดพบหารืออย่างเป็นทางการ เพื่อะก่อรูปการนำใหม่ เพราะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ให้สัตย์ต่อหน้าประชาชนแล้วว่า จะขอนำเดี่ยวเป็น "ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย" ถ้าเป็นไปได้อาจจะนัดพบกันหลังเวทีคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 เลยก็ได้ หลังกลับจากถวายฎีกา โดยผมจะเป็นคนติดต่อประสานงานไปยังสุริยะใส กตะศิลา
           
            ที่สุด "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ก็เปิดตัวในการชุมนุมครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ลานพรบรมรูปทรงม้า
            โดยพี่สุวิทย์ วัดหนู ก็กลายเป็นหนึ่งใน "คู่หู" โฆษกคู่มือวางอันดับ 1  ของขบวนเคียงข้างคุณสำราญ รอดเพชร มาตั้งแต่วันนั้น
            แม้พี่สุวิทย์ วัดหนู จะไม่ได้เป็น 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ก้ไม่ใช่เพราะพี่เขาไม่ใช่ผู้นำ หรือไม่ใช่คนสำคัญเพียงพอ แต่เป็นเพราะการออกแบบองค์ประกอบของคณะนำที่มุ่งหวังให้เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆต่างหาก ตลอดช่วงการชุมนุมแกนนำทุกคน โดยเฉพาะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะสอบถามความเห็นพี่สุวิทย์ วัดหนูมากเป็นพิเศษ และเชิญเข้าร่วมประชุมด้วยบ่อยครั้ง จนผมอยากจะเรียกว่า พี่เขาเป็นแกนนำคนที่ 6 ที่มีบทบาทชี้ขาดพอสมควร

           พี่สุวิทย์ วัดหนู เป็นคนที่น่าเคารพตรงที่เคารพความเห็นของที่ประชุม และปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
            พี่สุวิทย์ วัดหนู เป็นคนน่าเคารพตรงที่แสดงความคิดเห็นของตนอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
            พี่สุวิทย์ วัดหนูเป็นคนที่น่าเคารพตรงที่เมื่อจบก็คือจบไม่มีการพูดลับหลัง


            ในฐานะที่ผมเป็น "ผู้ประสานงาน" คู่กับสุริยะใส กตะศิลา ระยะหนึ่งจึงออกจะสนิทกับพี่เขาในระดับหนึ่ง ตรงที่พี่เขามักจะมาสะท้อนความคิดเห็นจากมุมมองภายนอกให้ผมได้รับรู้ เพื่อถ่ายทอดไปยังคณะนำทั้งห้า พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวครั้งอดีตให้ฟังอยู่บ้าง
            "คำนูณ...ผมไม่กลัวติดคุกหรอก แก่ขนาดนี้แล้ว เอายังไงก็เอากัน แต่ขอให้อยู่กันให้ครบนะ..."
            นี่เป็นประโยคที่ผมได้ยินมากกว่า 1 ครั้ง
            "ผมวิเคราะห์นะ ..ผมว่าทักษิณไม่ออกหรอก.."
            นี่ก็เช่นกันที่พี่สุวิทย์ วัดหนูยืนยันมาโดยตลอด

            จำได้ว่า ผมบอกพี่เขาไปว่า ผมเห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรในรูปแบบไหน ผมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแพ้แน่ เพราะถ้าแกไม่บริหารประเทศผิดพลาดจริง ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางมโหฬารจริง และอะไรต่อมิอะไรที่ถูกยกขึ้นมาโจมตีจริง คงไม่ทำให้ชบวนของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลมีผู้คนกลุ่มต่างๆเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมด้วยมากมาย รวมทั้งพวกพี่ๆเขาทั้งๆที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะผ้จัดรายการ โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้เป็นที่พิสมัยของพันธมิตรเหล่านี้สักเท่าไร
            "ผมเป็นคนยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องเข้าร่วมกับคุณสนธิ จะปล่อยให้เขาสู้คนเดียวได้ยังไง"


            พี่สุวิทย์ วัดหนูก็เลยเล่าว่าในขบวนของเอ็นจีโอเอง ก็ถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดตั้งแต่ปลายปี 2548 แล้วว่าควรเข้าร่วมด้วยหรือไม่ วงหารือครั้งสำคัญคือ ที่บ้านคุณเดช พุ่มคชา

            *********

            พี่สุวิทย์ วัดหนูไปสู่สุคติแล้ว
            พี่สุวิทย์ วัดหนูปลดเปลื้องพันธนาการทางโกลย์ไปแล้ว

            *********

            พี่สุวิทย์ วัดหนูไม่มีเรื่องใดๆทางโกลย์มา "ขอหารือ" กับผมและพี่น้องประชาชนอีกแล้ว
                           
       

                       
           




ที่มา สุวิทย์ วัดหนู นักรบประชา เคียงข้างคนจน
คณะจัดทำหนังสืออนุสรณ์แห่งชีวิต สุวิทย์ วัดหนู
วันที่ 20 ธันวาคม 2495 - วันที่ 11 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน