วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

รายงานสถานการณ์ ชาวลำปางฮือต้าน! หมกเม็ดประทานบัตรเหมืองถ่านหินลิกไนต์ หวั่นซ้ำรอยแม่เมาะ

ศาลากลางจังหวัดลำปาง/ 20 กันยายน 2554 (รายงานเวลา 15.00 น.)



วันนี้(20 กันยายน 2554) เวลาประมาณ 10 .00 น. ประชาชนจากพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ของบริษัทเขียวเหลือง จำกัด จาก ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง และชาวบ้านจาก ต.แจ้คอน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กว่า 700 คนในนามกลุ่มรักษ์บ้านแหงและเครือข่าย เดินทางด้วยรถยนต์เป็นขบวนยาวไปตามถนนสู่ตัวเมืองลำปางเพื่อเดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อเรียกร้องเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีโครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในจังหวัดลำปาง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในเวลาต่อมาประมาณ 12.00 น.ได้มีชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่เหล็ก ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง และพื้นที่โครงการสำรวจแร่เหล็กและทองคำ อ.วังชิน จ.แพร่ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับแหล่งแร่เหล็ก อ.เถิน จ.ลำปาง เดินทางมาสมทบอีกประมาณ 700 คน ทำให้หน้าศาลากลางจังหวัดลำปางมีประชาชนจากพื้นที่เหมืองแร่มารวมตัวกันอยู่อย่างแน่นขนัด และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาพบเพื่อเจรจาแต่ไม่มีใครลงมาพบทำให้ชาวบ้านพากันฮือขึ้นไปบนศาลากลางจนเต็มเพื่อดักคอยพบผู้ว่าฯ ที่หน้าห้องทำงานจนกระทั้งเวลาประมาณ 12.00 น. นายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมาพบเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกกระบวนการประทานบัตรโครงการเหมืองแร่ในจังหวัดลำปางที่ดำเนินการอยู่ การชุมนุมยืดเยื้อมาจนกระทั้งเวลา 15.00 น.การเจรจายังไม่เป็นผล และกลุ่มผู้ชุมนุมยังยึดศาลากลางต่อรองขอเจรจากับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

นางแววรินทร์ บัวเงิน สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าสืบเนื่องจากในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในเขต ต.บ้านแหง อ.งาว และ ต.แจ้คอน อ.แจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับพื้นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือเหมืองแม่เมาะ เมื่อได้ทราบจากประกาศของอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ที่ปิดประกาศว่า บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2553 รวมพื้นที่ประมาณ 1,300 ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านหลายราย และยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำทางทิศเหนือของชุมชน ทั้งนี้บริษัทอ้างว่าได้ทำประทำประชาคมหมู่บ้านและชาวบ้านเห็นด้วยกับการพัฒนานาเหมืองแร่ลิกไนต์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านเริ่มแตกตื่น อีกทั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ว่ากำลังจะได้ประทานบัตรแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วประชาชนในทั้งสองตำบลนั้นไม่รับทราบข้อมูลใด ๆ เลย จึงได้เริ่มรวมตัวกันและเข้ายื่นหนังสือยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดหลายครั้ง แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจ้ข้อมูลแต่อย่างใด ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบสำเนาการประชาคมฉบับดังกล่าวพบว่าเป็นการทำประชาคมเท็จมีการปลอมแปลงลายมือชื่อของชาวบ้านหลายคน อีกทั้งระบุว่าในรายงานการไต่สวนเขตประทานบัตรที่เป็นเท็จว่าพื้นที่ทำเหมืองไม่มีทางน้ำสาธารณะไหลผ่าน อีกทั้งระบุว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถปิดกั้นย้ายทางสาธารณะประโยชน์ออกจากพื้นที่เหมืองแร่ได้ทั้งที่เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านหลายตำบล ดังนั้นกลางปีที่ผ่านมาชาวบ้านจึงมีการเรียกร้องให้เริ่มต้นกระบวนการทำประคมใหม่ อีกทั้งเริ่มต้นกระบวนการรังหวัดปักหมุด และการไต่สวนคำขอประทานบัตรใหม่ อีกทั้งให้มีการลงโทษทางวินัยข้าราชการที่ทำกระบวนการประทานบัตรเหมืองแร่อันฉ้อฉลนี้

นอกจากนี้นางแววริน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในปีที่ผ่านมาทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัดได้มีการทำบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างจังหวัดกับชาวบ้านว่าจะยุติกระบวนการประทานบัตรอันเป็นเท็จที่ผ่านมาไว้ก่อน แต่เวลาผ่านไปแรมปียังไม่มีการดำเนินการใด ๆ อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาพนักงานของบริษัทเขียวเหลือง จำกัด ได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อดำเนินการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่เพิ่มเติม ชาวบ้านจึงรู้สึกเป็นกังวลจึงได้เชิญตัวพนักงานบริษัทดังกล่าวไปที่ทำการผู้ใหญ่บ้านและขอให้ชี้แจงเหตุผลและขอดูหนังสือแจ้งนำการรังวัดดังกล่าวอย่างเป็นทางการกับชาวบ้าน แต่ปรากฏว่าไม่มีหนังสือใด ๆ ชาวบ้านจึงต่อรองให้ผู้จัดการบริษัทฯ และฝ่ายเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดลงมาชี้แจงว่าการรังวัดโดยเอกชนทำได้หรือไม่ แต่ไม่มีใครลงมาชี้แจงข้อมูลอะไรแม้การเจรจาจะยืดยื้อหลายชั่วโมงจนดึกแต่ไม่ใครมาชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อมาในวันที่ 18กันยายน 2554ที่ผ่านมาชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รับหมายศาลเพื่อเรียกให้ไปไต่สวนมูลฟ้อง เพราะบริษัทได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้านข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และทำร้ายร่างกาย และฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เมื่อวานนี้ (วันที่ 19 กันยายน 2554) ชาวบ้านกว่า 400 คนเดินทางไปชุมนุมและยื่นหนังสือต่อนายอำเภองาวให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่เป็นผลชาวบ้านคอยอยู่ตลอดทั้งวันก็ไม่มีใครมาเจรจาจนที่สุดชาวบ้านก็แยกย้ายกันกลับบ้านและนัดรวมตัวกันอีกครั้งในวันนี้ ทั้งนี้ได้ประสานเชิญชวนชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่เหล็ก ของบริษัทยุพินวัฒนาธุรกิจ จำกัด ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง และพื้นที่แหล่งแร่ทำคำ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาสับสนเรื่องกระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ที่เป็นเท็จเช่นกัน
"เราต้องการเจรจาให้ทางจังหวัดลำปาง และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่หมกเม็ดในเขตจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเรื่องเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ เพราะคนลำปางมีประสบการณ์อันเลวร้าย มีผู้ป่วยจำนวนมากจากโรคระบบทางเดินหายใจ และมีหลายหมู่บ้านต้องย้ายหมู่บ้านเพราะได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เหมืองแม่เมาะ พวกเราไม่อยากมีชะตากรรมอย่างคนรอบเหมืองแม่เมาะ" นางแววรินทร์กล่าว

ด้านนางกุลรัศมิ์ บุญมา สมาชิกกลุ่มคนรักแม่ถอด กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเหมืองแร่ในจังหวัดลำปางไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พื้นที่ทำเหมืองแร่ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านมารวมตัวกันในวันนี้เป็นพื้นที่ใหม่ ที่ยังไม่ทำเหมืองแร่แต่บริษัทเอกชนกำลังยื่นขอประทานบัตร เช่น ที่ ต.แม่ถอด อ.เถิน นั้นเป็นพื้นที่ที่บริษัทยุพินวัฒนาธุรกิจ จำกัด ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เหล็กในพื้นที่ต้นน้ำแม่ถอด ใกล้กับอุทยานแห่งชาติแม่จางและเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีถ้ำหินปูนที่สวยงามหลายแห่ง การทำเหมืองเหล็กในพื้นที่ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่ที่ทำนาข้าวอยู่ริมน้ำแม่ถอดอย่างแน่นอน แต่กระบวนการขอประทานบัตรกลับเป็นกระบวนการที่หมกเม็ด และเป็นเท็จ เช่น มีการทำประชาคมเท็จปลอมรายชื่อชาวบ้าน ขาดการมีส่วนร่วมชาวบ้านแม่ถอดจึงมีกระบวนการติดตามข้อมูลและรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในจังหวัดลำปางจึงได้เดินทางมาร่วมชุมนุมในวันนี้เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกระบวนการที่หลอกลวงในการขอประทานบัตรเหมืองแร่ที่ผ่าน ตัวแทนกลุ่มคนรักแม่ถอดกล่าว
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากศาลากลางจังหวัดลำปางเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทเขียวเหลือง จำกัด ที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ที่ อ.งาว นั้นเป็นบริษัทของนักการเมืองระดับชาติพรรคหนึ่ง ส่วนบริษัทยุพินวัฒนาธุรกิจ จำกัด ที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก ที่ ต.แม่ถอด ก็เป็นของนักการเมืองพรรคใหญ่ในขณะนี้ ทำให้มักจะมีกระบวนการเร่งรัดขอประทานบัตรในทั้งสองกรณีจนเป็นเหตุทำให้ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จจนเกิดความสับสนและเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวในวันนี้ แหล่งข่าวกล่าว

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 042-224382

ตู้ ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน