วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหตุผล 12 ประการที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ความจริงจักต้องมีชัย
สมัชชาคนจน
23 สิงหาคม  2554
เหตุผล 12 ประการที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
      ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งในสังคมนั้น เกิดจากการที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องที่มาของโครงการ  มีการให้ข้อมูลด้านผลประโยชน์ของโครงการสูงกว่าความเป็นจริง ในขณะที่ผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ถูกปิดบังมาโดยตลอด รายงานนี้ได้ประมวลข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญทั้งจากการศึกษาความเหมาะสมโครงการ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความเห็นของนักวิชาการและหน่วยงานราชการ ตลอดไปจนถึงการนำเสนอทางเลือกอื่น ๆ ในการจัดการลุ่มแม่น้ำยมแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อให้การตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมีความรอบคอบ อย่างน้อยที่สุดก่อนการดำเนินการใด ๆ ผู้รับผิดชอบควรจะพิจารณาเหตุผลทั้ง12 ประการดังต่อไปนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
1.เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเขื่อนในโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่านและผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยมาก
      เขื่อนแก่งเสือเต้นเดิมเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ภายใต้โครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดย กฟผ.ออกแบบไว้เป็น 2 ระยะคือระยะแรกเขื่อน สูง 72 เมตร และระยะที่สองจะเพิ่มความสูงขึ้นเป็น 92 เมตร ในปี พ.ศ.2528 กฟผ.ได้โอนให้กรมชลประทานรับผิดชอบโดยให้เหตุผลว่าในระยะแรกเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ผลประโยชน์ด้านชลประทานเป็นหลัก
      ปัจจุบันแม้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานก็ตาม แต่เขื่อนแก่งเสือเต้น  ก็ยังคงเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเหมือนเดิม  เขื่อนแก่งเสือเต้นของกรมชลประทานตามที่มีการศึกษาไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมประเมินโดยองค์การอาหารและเกษตรโลก(FAO)และธนาคารโลกว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นเมื่อสร้างแล้วคาดว่าจะได้พลังงานไฟฟ้าปีละ 86.5 ล้านหน่วย จากการติดตั้งกังหันแบบฟรานซิส(Francise Turbine)และเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง(Install Capacity) 48 เมกกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ต้องการกำลังการผลิตติดตั้งปีละ 1,000 เมกกะวัตต์แล้ว เขื่อนแก่งเสือเต้นจะมีกำลังการผลิตติดตั้งเท่ากับ 0.48 % ของกำลังการผลิตติดตั้งที่ประเทศต้องการเท่านั้น
2.เขื่อนแก่งเสือเต้นแก้ภัยแล้งไม่ได้ 
      การออกแบบเขื่อนแก่งเสือเต้นให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้นมีความขัดแย้งด้านวัตถุประสงค์ในตัวเอง เนื่องจากเขื่อนแก่งเสือเต้นจะมีความสูงหัวออกแบบ(Head)ถึง 52 เมตรจากความสูงเขื่อนทั้งหมด 70 เมตร ดังนั้นจึงทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดน้ำตาย(Dead Storage)มากกว่า 2 ใน 3 ของความจุเขื่อน ซึ่งไม่สามารถปล่อยน้ำออกมาได้ ทั้งนี้เพื่อยกระดับน้ำในเขื่อนให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารน้ำในเขื่อนในปีต่อไป
      เขื่อนแก่งเสือเต้นจึงเปรียบเสมือนการสร้างโอ่งขนาดใหญ่ที่มีก๊อกสูงทำให้หน้าแล้งไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการชลประทานได้เพราะต้องเก็บน้ำไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าและไม่ให้มีผลเสียต่อการบริหารน้ำในเขื่อนในปีต่อไป และหน้าฝนเขื่อนก็ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เพราะเขื่อนมีน้ำมากกว่า 2 ใน 3 ของความจุอ่างอยู่แล้ว

3.ป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำยมและกรุงเทพ  ฯ ไม่ได้ 
      เขื่อนแก่งเสือเต้นมักจะถูกระบุจากกรมชลประทาน  และนักการเมืองบางคนอยู่เสมอว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำยม (แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร) และกรุงเทพ ฯ ได้ แต่ข้ออ้างนี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสจากการเกิดอุทกภัยเพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนเท่านั้น
      FAO และธนาคารโลกได้ระบุไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (หัวข้อ 9.4)ว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจะควบคุมและลดระดับน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง โดยประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม(Flood-plain)หรือที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงริมฝั่งแม่น้ำยมได้เพียงแค่พื้นที่ระหว่างสบงาวกับเด่นชัยเท่านั้น สำหรับพื้นที่ล่างลงมาปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากแม่น้ำยมแต่เกิดจากลำน้ำสาขาและจากแม่น้ำน่าน การศึกษาของ FAO และธนาคารโลกยังระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เพียง 3.2 ล้านบาท เท่านั้น

4.พื้นที่ชลประทานไม่เป็นจริง 
      พื้นที่ชลประทาน 385,400 ไร่ ของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นพื้นที่ชลประทานเดิมเกือบทั้งหมด ดัง
รายละเอียดต่อไปนี้ 
      -100,000 ไร่เป็นพื้นที่ชลประทานเดิมของโครงการแม่ยม
      -72,800 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทานเดิม ตามโครงการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 โครงการ
      -ส่วนพื้นที่ชลประทานที่เหลือเป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่อยู่ห่างออกไปกว่า 300 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีคลองส่งน้ำจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วพื้นที่เหล่านี้น้ำยังถูกควบคุมโดยเขื่อนเจ้าพระยาอยู่แล้ว

5.ผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ 
      พื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ระดับเก็บกักปกติ(258 ม.รทก.) จะทำให้เกิดน้ำท่วมป่าไม้บริเวณใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยมจำนวน 53.85 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณที่อุดมไปด้วยไม้สักขึ้นอยู่หนาแน่น มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ดีมาก และมีการขึ้นของไม้สักทองอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปด้านป่าแม่ปุง-แม่เป้า
      -การศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เสนอต่อธนาคารโลก ระบุว่าป่าแม่ยมบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมจาก เขื่อนแก่งเสือเต้นผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นแหล่งไม้สักทองที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงแห่งเดียวในไทย
      -ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน ระบุว่า ป่าแม่ยมเป็นป่าสักที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในประเทศ ไทยและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
      -มีพันธุ์สัตว์ที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิดเช่น  นกลุมพู และนกยูงพันธุ์ไทย  นับได้ว่าเป็นผืนป่าอีกแห่งหนึ่งของประเทศนอกจากป่าห้วยขาแข้งที่มีการพบนกยูง
      -การสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบพรรณพืชในบริเวณที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ 430 ชนิดซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพันธุ์ไม้ทั้งหมดเนื่องจากไม้ล้มลุกออกดอกจนร่วงโรยหรือเหี่ยวเฉาไปแล้วในระหว่างการสำรวจ จำนวนชนิดพรรณพืชที่พบแยกได้ดังนี้คือ ไม้ยืนต้น 111 ชนิด
      -ไม้พุ่มขนาดเล็ก  97 ชนิด เถาวัลย์ 20 ชนิด ไม้เลื้อย  64 ชนิด  พืชจำพวกเฟิร์น 15 ชนิด หญ้าและว่าน26 ชนิด ต้นไผ่ 3 ชนิด กล้วยไม้ 7 ชนิด และที่สำคัญคือสมุนไพร 135 ชนิด
      -ความสูญเสียของป่าแม่ยมถ้าหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น  พบว่า คุณค่าที่สามารถประเมินเป็นเงินได้  (Tangible) กรมป่าไม้พบว่ามีไม้ที่จะถูกตัดออกมีปริมาตรรวม 403,864.67 ลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็นไม้สัก 130,944.31 ลูกบาศก์เมตร และ ไม้กระยาเลย 272,920.36 ลูกบาศก์เมตร มีมูลค่ารวมถึง 10,751.33 ล้านบาท สมมติว่าหากเก็บป่าในส่วนนี้ไว้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยการทำไม้แล้วจะสามารถให้ประโยชน์ไม้ได้เท่ากับมูลค่าปัจจุบันในทุก ๆ 30 ปี และมูลค่าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตไม้สักเป็นไม้ที่หายากมากขึ้น
      -ในแง่คุณค่าที่ไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้(Intangible) รายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า การสูญเสียป่าไม้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเฉพาะถิ่น(Micro Climate) โดยเฉพาะ อุณหภูมิ ความชื้น และรูปแบบการตกของฝน การสูญเสียแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำยม นอกจากนั้นนักชีววิทยายังระบุว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้โดยเฉพาะการสูญเสียโอกาสการใช้ประโยชน์ทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรกว่า 135 ชนิด
      -อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งเสือเต้นยังเป็นการทำลายความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม  เนื่องจากเอกลักษณ์เฉพาะของอุทยานแห่งนี้ตั้งขึ้นมาตามลักษณะของพื้นที่ที่มีแม่น้ำยมไหลผ่านและลักษณะเด่นที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติแม่ยมนั้นเกิดจากแม่น้ำยม
      -ผลกระทบของเขื่อนต่ออุทยานแห่งชาติแม่ยมยังจะเกิดขึ้นมากกว่าที่มีการศึกษาไว้  เนื่องจากการศึกษาของรายงานทุกฉบับกระทำที่ระดับเก็บกักปกติไม่ได้ศึกษาที่ระดับเก็บกักสูงสุดนอกจากนั้นป่าแม่ยมยังจะถูกทำลายเพิ่มเติมจากการสร้างหัวงานเขื่อน บ้านพักคนงาน ถนนเข้าสู่หัวงาน และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งเสือเต้นยังจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ตอนบนเหนือเขื่อนถูกตัดขาดเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดทำให้การควบคุมดูแลตรวจตราการบุกรุกทำลายป่าและลักลอบตัดไม้ไม่สามารถปฏิบัติการได้ ในที่สุดป่าไม้เบญจพรรณที่มีไม้สักทองก็จะค่อย ๆ หมดไป
  -ในแง่นโยบาย การสร้างเขื่อนในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นการขัดแย้งกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ 2535 ที่ต้องการให้มีประเทศไทยมีป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 ของประเทศเพื่อรักษาความสมดุลย์ของระบบนิเวศ ขณะที่ในปัจจุบันมีป่าอนุรักษ์เหลืออยู่เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น
      -การสร้างเขื่อนในอุทยานแม่ยมยังเป็นการขัดแย้งหลักการการจัดการลุ่มน้ำที่ห้ามมีการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพป่าต้นน้ำชั้น  1A
      -แม้ว่ากรมชลประทานระบุว่าจะทำการปลูกป่าเพิ่มเติมมากกว่าที่ถูกทำลายไป  2 เท่า แต่กรมชลประทานยังหาพื้นที่ที่จะปลูกป่าชดเชยไม่ได้ ที่สำคัญการสร้างป่าให้สมบูรณ์เหมือนสภาพป่าแม่ยมจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลจนไม่สามารถคำนวณได้ ความล้มเหลวของการปลูกป่าของกรมป่าไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติจนต้องมีการทบทวนนโยบายนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า ไม่ว่าใคร ก็ตาม(รวมทั้งนักสร้างเขื่อนด้วย)ไม่สามารถสร้างป่าให้เหมือนธรรมชาติขึ้นมาได้

6.ผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำยมตอนล่าง 
      การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นสาเหตุสำคัญต่อการสูญเสียที่ราบลุ่มแม่น้ำยม (Yom River  Flood-plain) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ(Wetland)ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคือมีบริเวณถึง 312,500 ไร่(500 ตารางกิโลเมตรและได้ขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติหรืออนุสัญญาแรมซาร์(The Convention on Wetlands of International Importance Especially as Waterfowl Habitat-the Ramsar Convention) ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับบึงสีไฟ จ.พิจิตร ภายหลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์เนื่องจากน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนจะถูกบังคับให้ไหลไปตามคลองชลประทานแทนแม่น้ำผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ถ้าหากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมถูกทำลายก็คือ 
    -การสูญเสียปุ๋ยธรรมชาติที่เคยพัดพามากับน้ำจะทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีแทนซึ่งจะทำให้ ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาสูงขึ้น
      -การเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งเติมน้ำใต้ดินให้กับที่ราบลุ่มเจ้าพระยาและ  กทม.
      -การทำลายแหล่งประมงธรรมชาติของชาวบ้านที่ดำรงมาตั้งแต่โบราณครั้งกรุงสุโขทัยเมื่อ 700 ปีที่แล้วซึ่งกองสิ่งแวดล้อมกรมประมงเรียกว่าการประมงน้ำหลากหรือการประมงน้ำท่วม ที่เมื่อถึงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำลำคลองเอ่อท่วมท้องนา  ปลาจะว่ายขึ้นไปผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนในท้องทุ่งนาประมาณว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำบึงต่าง ๆ สามารถให้ผลผลิตปลาปีละ 10 กก./ไร่  หรือปีละประมาณ 3,125,000 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของชาวบ้าน
  -ทำลายแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองน้ำขาว ในเขต อ.บางระกำ ทำให้เกิดอุทกภัยมากขึ้น เนื่องจากการควบคุมน้ำทางตอนบนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินมีการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐานง่ายขึ้น ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและหนองน้ำต่าง ๆ เสื่อมสภาพซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียหน้าที่ ของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมในการป้องกันน้ำท่วมที่เป็นที่พักน้ำต้องหมดไป และจะนำไปสู่การเกิดอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาและกรุงเทพ ฯ มากขึ้นเนื่องจากน้ำไหลลงสู่พื้นที่ทางตอนล่างเร็วขึ้น

7.ความไม่ปลอดภัยของเขื่อน 
      -ปัญหาแผ่นดินไหว 
      เขื่อนแก่งเสือเต้นจะถูกสร้างขึ้นในเขตรอยเลื่อนแพร่(Phrae Fualt Zone)ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจัดให้อยู่ในเขตเสี่ยงภัยในการเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง (โซน 2) เขตรอยเลื่อนของเปลือกโลกนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รวบรวมข้อมูลพบว่า ระหว่างปี พ.ศ.2520-2538 เกิดแผ่นดินไหวถึง 71 ครั้ง แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 22-23 ธันวาคม 2523 มีขนาด 4 และ 4.2 ตามมาตราริคเตอร์ตามลำดับ บริเวณศูนย์กลางอยู่ที่เด่นชัย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 ขนาด 4.2 ตามมาตราริคเตอร์ บริเวณศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ปง จ.พะเยา และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 บริเวณศูนย์กลางอยู่ที่สูงเม่น จ.แพร่ห่างจากที่ตั้งเขื่อนประมาณ 50 กิโลเมตร มีขนาด 5.1 ตามมาตราริคเตอร์ ตามด้วยการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะอาฟเตอร์ช็อคอีก 6 ครั้ง รอยเลื่อนที่เกิดการเคลื่อนตัวครั้งนี้เป็นรอยเลื่อนที่มีความยาว 80 กิโลเมตร วางตัวขนานกับแม่น้ำยมตั้งรับกับเขื่อนแก่งเสือเต้นพร้อมทั้งมีรอยเลื่อนของเปลือกโลกแยกออกไปพาดผ่านเขื่อนแก่งเสือเต้นพอดี
      การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี  ซึ่งไม่ค่อยมีการกล่าวถึงก็คือ  มีรอยเลื่อนที่มีพลังห่างจากที่ตั้งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกไป 31 กิโลเมตรทางทิศตะวันตก เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีนัยสำคัญอันอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ตามมาตราริคเตอร์ขึ้นได้
      การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นบนเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลกนั้นนอกจากจะทำให้เขื่อนเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นแล้ว  การกักเก็บน้ำของเขื่อนขนาด 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร(หรือประมาณ 1,175 ล้านตัน)จะทำให้เมื่อน้ำเป็นตัวการลั่นไก(Trigering)นำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวหนักยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ เขื่อน
      -ปัญหาดินถล่ม 
      การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า บริเวณด้านตะวันออกของอ่างเก็บน้ำห่างจากที่ตั้งเขื่อน 5.2 กิโลเมตร จะเกิดการพังทลายขึ้นได้ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงมีขนาดมากกว่า 6 ตามมาตราริคเตอร์  การพังทลายนี้มีปริมาตรดินและหินประมาณเกือบ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรและอาจก่อให้เกิดคลื่นน้ำ ณ บริเวณที่ตั้งเขื่อนสูงถึง 28 เมตรจากระดับเก็บกักปกติหรือสูงจากสันเขื่อน 23 เมตร ซึ่งจะทำให้อ่างเก็บน้ำมีอายุการใช้งานสั้นลง การพังทลายอาจก่อให้เกิดคลื่นน้ำที่อาจทำความเสียหายต่อเขื่อนและโครงสร้างประกอบ ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนทางด้านท้ายน้ำ
8.ความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เนื่องจากราคาของเขื่อนที่สูงขึ้น 
      ราคาค่าก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีแนวโน้มว่าจะสูงมากขึ้นเมื่อมีการก่อสร้างจริง ดังจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ.2538 ราคาค่าก่อสร้างที่ผ่านสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สสช.) 3,593.8 ล้านบาท แต่ที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 เพิ่มเป็น 4,083 ล้านบาท อย่างไรก็ตามราคาของเขื่อนอาจเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านบาทได้ เนื่องจาก
      -การออกแบบให้เขื่อนแก่งเสือเต้นรองรับแผ่นดินไหวจากที่เคยออกแบบไว้ 0.1g เป็น 0.31g (ค่า g คือค่าออกแบบต้านทางแผ่นดินไหว) ตามที่กรมทรัพยากรธรณีแนะนำ ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณเพื่อให้เขื่อนแข็งแรงถึง 3 เท่า
      -การป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินถล่มโดยการลดระดับน้ำใต้ดิน  ตามข้อเสนอของกรมทรัพยากรธรณี
      -การปรับปรุงฐานรากโดยการขุดลอกชั้นดิน  การอัดฉีดหินปูน และการเจาะหลุมระบายแรงดันน้ำบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำ  กรมทรัพยากรธรณี ประเมินว่าค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มขึ้น10%ของค่าใช้จ่ายของงานโยธาการติดตั้งเครื่องมือต่าง  ๆ เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนเช่น  เครื่องมือวัดการเคลื่อนที่ของมวลดิน ตามข้อเสนอของกรมทรัพยากรธรณี
      -ค่าชดเชยทรัพย์สินและการอพยพของชาวบ้านเชียงม่วน 
      -ค่าแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(Mitigation Cost)อื่น ๆ ที่จะตามมาภายหลัง เช่น ค่าใช้จ่ายในการ ลดการกัดเซาะของดิน การเพิ่มหน่วยพิทักษ์ป่า การเฝ้าระวังไฟป่า การปลูกป่าทดแทน ฯลฯ ราคาของเขื่อนที่จะสูงขึ้นนี้จะทำให้ในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่มีความคุ้มที่จะก่อสร้างแต่อย่างใด
      ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อน คือ เขื่อนศรีนครินทร์งบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่ ครม.อนุมัติ 1,800 ล้านบาทเป็น 4,623 ล้านบาท เขื่อนเขาแหลมงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่ ครม.อนุมัติ 7,711 ล้านบาทเป็น 9,100 ล้านบาท เขื่อนบางลางงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่ ครม.อนุมัติ 1,560 ล้านบาท เป็น2,729.2 ล้านบาท เขื่อนปากมูลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่ ครม.อนุมัติ 3,880 ล้านบาทเป็น 6,600 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุของงบประมาณที่เพิ่มมหาศาลของเขื่อนทั้ง 4 นี้เกิดจากปัญหาทางธรณีวิทยาทั้งสิ้น
9.อายุของเขื่อนที่สั้น 
      แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่มีอัตราการพังทะลายของหน้าดินสูงเนื่องจากมีหินที่ถูกกัดเซาะได้ง่าย  ทำให้ เป็นแม่น้ำที่มีการตกตะกอนสูงที่สุดสายหนึ่งของประเทศซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เขื่อนแก่งเสือเต้นมีอายุใช้งานสั้นลง ศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา นุตาลัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย(AIT)ระบุว่า แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่มีการตกตะกอนมากกว่า 540 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้นมีดินเต็มปริมาตรออกแบบเก็บกักตะกอนของเขื่อนภายใน 20 ปี ทำให้เขื่อนมีอายุการใช้งานสั้นลงถึง 30 ปี จากที่คาดว่าเขื่อนจะมีอายุการใช้งาน 50 ปี

10.ผลกระทบต่อชาวบ้าน 
      อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้น จะท่วมพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านกว่า 2,700 ครอบครัว ในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และแอ่งเชียงม่วนในเขต อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กรมชลประทานได้นำเสนอตัวเลขชาวบ้านที่จะถูกอพยพเพียง 620 ครอบครัว ใน 3 หมู่บ้านของ ต.สะเอียบเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ศึกษามาตั้งแต่ปี 2535 และศึกษาที่ระดับเก็บกักปกติ(258 ม.รทก.) ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นเก็บกักน้ำที่ระดับสูงสุด 262.7 ม.รทก.(เขื่อนสูง 263 ม.รทก.หรือ 70 เมตร) ซึ่งเป็นระดับออกแบบเพื่อป้องกันน้ำท่วม
      การปกปิดผลกระทบที่แท้จริงต่อการอพยพชาวบ้านของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นก็เพื่อที่จะลดกระแสคัดค้านของชาวเชียงม่วน  ซึ่งเป็นกลเม็ดของนักสร้างเขื่อนที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในหลายเขื่อน การไม่ยินยอมให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของชาวบ้านนั้นมีพื้นฐานจากการที่ชาวบ้านเรียนรู้ประสบการณ์จากชาวบ้านที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ที่ผ่านมาที่ล้วนแต่ประสบกับความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนเขาแหลม เขื่อนเชี่ยวหลาน เขื่อนปากมูล ฯลฯ การบีบบังคับให้ชาวบ้านอพยพจากถิ่นฐานเดิม การไม่รับฟังความเห็นของชาวบ้าน ตลอดไปจนถึงการไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนที่ขัดแย้งกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
11.ความไม่เป็นธรรมในสังคม
      กรมชลประทานมักอ้างเสมอว่า สร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่แท้จริงแล้วเขื่อนก็คือตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม
      ความไม่เป็นธรรมในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการน้ำและไม่ต้องการน้ำ(ท่วม) แล้วผลักภาระไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การสร้างเขื่อนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมและใช้ภาษีของประชาชนนั้นทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมอีกด้วย
      ประการแรก ความเป็นจริงในสังคมไทยก็คือ  ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของนายทุน  โดยคนไทย 90% (50 ล้านคน หรือร้อยละ 83.33 ถือครองที่ดินรวมกัน 50 ล้านไร่หรือมีที่ดินเฉลี่ยไม่ถึงคนละ 1 ไร่ ขณะที่คนอีก 10% (10ล้านคน) ถือครองที่ดิน 97 ล้านไร่ ด้วยอัตราการถือครองเช่นนี้ที่ดินส่วนใหญ่ใต้เขื่อนจึงไม่ได้อยู่ในมือของชาวนา (และไม่ยกเว้นในกรณีของลุ่มน้ำยม) การสร้างเขื่อนที่อ้างว่าเพื่อหาน้ำให้ชาวนานั้นแท้จริงแล้วประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับนายทุนที่ดินมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมยิ่งสร้างเขื่อนชาวนาก็ยังยากจนอยู่เหมือนเดิม  ก่อนการสร้างเขื่อนสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การปฏิรูปที่ดินท้ายเขื่อนให้กับชาวนาก่อนเพื่อเป็นหลักประกันว่าโครงการที่ใช้ภาษีของประชาชนจะตกกับคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่มีเขื่อนแห่งไหนที่ปฏิรูปที่ดินท้ายเขื่อนก่อนการก่อสร้าง
      ประการที่สอง การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อนำน้ำไปให้พื้นที่เอกชน 385,000 ไร่ แต่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าของรัฐ(หรือส่วนรวม)อย่างน้อยที่สุด 45,000 ไร่นั้น เท่ากับเป็นการสร้างหลักการที่ว่าใครมีที่ดินจำนวนหนึ่งก็จะมีสิทธิในการใช้ที่ดินจากส่วนรวมเพิ่มขึ้นอีก 13% (เพื่อนำไปสร้างอ่างเก็บน้ำ) ซึ่งประชาชนส่วนรวมก็ต้องสูญเสียป่าไปเรื่อย ๆ ส่วนใครที่ไม่มีที่ดินก็ไม่มีสิทธิได้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่รัฐอีก 13%  
12.ทางเลือกอื่นในการจัดการลุ่มแม่น้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 
      ข้อจำกัดที่สำคัญของนักสร้างเขื่อนก็คือ  การพิจารณาแต่เพียงว่ามีหุบเขาที่ไหนที่สร้างเขื่อนได้ก็จะเสนอโครงการสร้างเขื่อนทันที โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมทางนิเวศวิทยา ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความไม่เป็นธรรมหรือความขัดแย้งในสังคม นั่นคือข้อจำกัดอย่างยิ่งของวิศวกร กรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นเป็นตัวอย่างได้ดี
      ความจริงแล้วปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมในเขตลุ่มแม่น้ำยม ประการหนึ่งเกิดจากสภาพของลุ่มน้ำในเขตร้อนที่จะต้องมีฤดูแล้ง-ฤดูฝน  ที่สำคัญแม่น้ำที่มีที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง(Flood-plain) คือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติของแม่น้ำได้สร้างให้กับมนุษย์ แต่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจนสร้างความเสียหายรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากผลพวงมาจากการทำลายธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานผิดที่ การใช้ที่ดินผิดประเภทและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในการเสนอให้สร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหานี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงแล้ว ผลที่ตามมาจากการที่เขื่อนไปทำลายธรรมชาติก็จะยิ่งเกิดปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ได้อย่างเสียอย่างและก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวจึงไม่ใช่การพัฒนา
      ในการจัดการลุ่มแม่น้ำยมแนวความคิดหลักที่ควรจะนำมาพิจารณาคือ การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีวิธีอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกอีกมากมายโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนดังต่อไปนี้
      การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
      ลุ่มแม่น้ำยมมีพื้นที่ป่าไม้น้อยมากเมื่อเทียบกับลุ่มน้ำอื่น  ๆ ของประเทศ เนื่องจากการทำลายป่าที่ต่อเนื่องมากว่า 1 ศตวรรษ นับแต่การเข้ามาของชาติตะวันตกที่เข้ามาสัมปทานทำไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 การให้สัมปทานทำไม้แก่เอกชนของรัฐบาลไทย ต่อเนื่องมาจนถึงการทำไม้เถื่อนในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพของลุ่มน้ำ ดังที่ UNESCO ได้ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้กับน้ำว่า"น้ำที่ปล่อยออกมาจากบริเวณที่รองรับน้ำฝนที่มีป่าไม้จะมีปริมาณไม่เกิน 1-3% ของปริมาณน้ำฝนที่ตก แต่เมื่อป่าถูกทำลายน้ำที่ถูกปล่อยออกมาสู่แม่น้ำจะมีปริมาณถึง 97-98% เลยทีเดียว การฟื้นฟูป่าไม้(โดยการประกาศป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ปลูกป่า ฯลฯ)นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพให้กลับคืนมา
      การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ
      แม่น้ำยมและลำน้ำสาขาต่าง  ๆ ในปัจจุบันเสื่อมโทรมลงเนื่องจากการทับถมของตะกอน(ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แม่น้ำยมมีหินที่กัดเซาะได้ง่าย  การทำลายป่าไม้ และการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้อง) ทำให้แม่น้ำยมไม่สามารถรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บน้ำในฤดูแล้งได้ การขุดลอกตะกอนจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้
      การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม
      ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม  ในปัจจุบันถูกคุกคามอย่างหนักเนื่องจากการเข้าไปตั้งชุมชนและเมืองของมนุษย์จนทำให้ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้และทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยมสามารถทำได้โดย
      -ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง
      -การยกถนนให้สูงขึ้นหรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
      -การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยที่สุดชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด
      -การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น/พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
      -การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม
      -การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม
      -การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
      สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศ  ไม่เกิดความขัดแย้งในสังคม  ใช้งบประมาณไม่มากประชาชนมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับแล้ว  ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร(มากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก)
      ตัวอย่างในการใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำในการป้องกันน้ำท่วมก็คือ  U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์(Charles River Flood-plain) ในมลรัฐแมสซาซูเส็ทท์ในการป้องกันน้ำท่วมหลังจากการศึกษาพบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์พื้นที่ 3,800 แฮคแตร์(23,750 ไร่ หรือเล็กกว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 15 เท่า)ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ จากการที่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ 40% ได้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเสียหายถึงปีละ 3 ล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าหากมีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ความเสียหายจากน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 17 ล้านเหรียญ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้งบประมาณเพียงปีละ 1.9 ล้านเหรียญในการฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยที่ราบลุ่มแห่งนี้สามารถเป็นแหล่งน้ำตื้นใต้ดินตอบสนองน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชน 60 แห่งที่มีประชากรรวม 750,000 คน
      การจัดการทางด้านความต้องการ(Demand Side Management)
   ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง  รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
      การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
      การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก  ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
      การพัฒนาระบบประปา
      การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่  ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง  ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ  ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้งเพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
ทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
      ผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า  โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น  ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ผลการศึกษาของ  องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน การศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
      การศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า  และพรรณพืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น การศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกทั้งการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่
ทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม  ลุ่มน้ำยม
โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
       การจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก
       การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน
       การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก
      ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ ต้องได้รับการฟื้นฟูให้ใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ
      การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ
      ทางเลือกในการจัดการน้ำ  ที่ดำเนินการศึกษา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ ศิลปินประชาชน

เรื่องที่น่าสนใจของกลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน

ความเห็นต่อ กลุ่มศิลปะ ดนตรี กวีประชาชน